สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุดเสี่ยง “ตากข้าวบนถนน” วิถีชาวบ้าน หรือ เห็นแก่ตัว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ดรามาเพราะ “ข้าว”! โซเชียลฯ ซัดกันเละ เหตุ “ชาวนาตากข้าวบนถนน” คนขับต้องหักพวงมาลัยหลบกันอลวน ทำรถชน มีคนเจ็บ อีกฟากสวนกลับ “ปีละครั้ง หยวนๆ กันหน่อย” ด้านกูรูความปลอดภัยบนท้องถนนชี้ ขับมาช้าก็เสี่ยงอยู่ดีเพราะไม่มีระยะเบรก ส่วนทนายย้ำ ตากข้าวผิดที่ มีโทษปรับหลายหมื่น!!!

“ถนนข้าวเปลือก” เสี่ยงลื่น-หักหลบ-ประสานงา

ปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร หลายพื้นที่ตามต่างจังหวัดในช่วงนี้ มักจะเห็นชาวนานำข้าวออกมาตากเพื่อไล่ความชื้น ที่ต้องอาศัยความร้อนจากแสงแดดและพื้นที่ราบเพื่อแผ่ข้าวให้แห้ง โดยแต่ละครอบครัวจะทำลานกว้างไว้สำหรับตากข้าวในพื้นที่ของตนเอง หรือไม่ก็ตากตามลานกว้างในชุมชนที่มีการจัดสรรพื้นที่ไว้ให้ เช่น ลานกว้างของวัดและโรงเรียน เป็นวิถีชีวิตที่เห็นจนเป็นภาพชินตา 

แต่สำหรับชาวนาบางคน เมื่อไม่มีพื้นที่หรือมีผลผลิตในปริมาณที่เยอะจนล้น ก็มักจะนำข้าวออกมาตากบนถนน ทั้งเส้นทางในหมู่บ้านและถนนสายหลัก บางครั้งก็กินพื้นที่ถนนไปกว่าครึ่ง จนถนนทั้งสายต้องกลายเป็น “ถนนข้าวเปลือก” ทำให้ผู้ที่ต้องใช้เส้นทางในการสัญจรผ่านไป - มา ต้องคอยหลบหลีกกันให้วุ่น เพราะเกรงว่าจะทำให้ข้าวเสียหาย หรืออาจเกิดอุบัติเหตุลื่นไถล จากการเหยียบข้าวสารที่ลื่นไม่ต่างจากเหยียบทราย


ล่าสุด วิถีชาวบ้านดังกล่าว ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นติดกันถึง 2 ครั้ง เพราะมีชายหนุ่มคนหนึ่งใน จ.ยโสธร ขี่รถจักรยานยนต์กลับจากการไปดูหมอลำช่วงเช้ามืด โดยเส้นทางที่เขาขี่ผ่านเป็นถนน 2 เลน แต่ทว่า มีคนนำข้าวไปตากไว้เต็ม 1 เลนแล้ว ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ชายคนขี่รถจักรยานยนต์มีอาการคล้ายคนเมา ได้ขี่รถชนยายที่กำลังตากข้าว ทำให้ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกตามร่างกาย ต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้พาคนเจ็บนำส่งโรงพยาบาลแล้ว 

ส่วนอีกเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ แม้ครั้งนี้จะไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็คงจะหนักเอาการ เพราะเฟซบุ๊ก เบนซ์ไฟไซเรน ปลีกส่ง ได้โพสต์ภาพรถยนต์คันหนึ่งที่มีสภาพยับเยินไปทั้งคัน ที่รถเสียหายขนาดนี้ คาดว่ามีสาเหตุมาจากการหักหลบข้าวของชาวบ้านที่นำมาตากไว้ครึ่งถนนจนลงข้างทาง เขาจึงทวงถามถึงความรับผิดชอบ ว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เจ้าของข้าวหรือเจ้าของรถที่ผิด

“เหตุเกิดต่างพื้นที่ แต่อยากรู้ว่าหากเกิดเหตุแบบนี้ใครถูกใครผิด ใครรับผิดชอบหรือประมาทร่วม เท่านั้นครับ หรือสุดท้าย ข้าวไม่มีเจ้าของตกเป็นของแผ่นดิน เจ้าของรถซ่อมเคลมเองเหมือนชนวัวชนควาย”


หลังจากที่อุบัติเหตุทั้งสองเหตุการณ์ ถูกส่งต่อกันไปบนสังคมออนไลน์แล้ว ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด และทำให้ความคิดเห็นที่มีต่อเหตุการณ์นี้ ถึงกับแตกออกเป็น 2 ฝั่งทันที โดยส่วนใหญ่จะออกมาตำหนิคนที่นำข้าวมาตาก ว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนที่ต้องใช้ถนนคนอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งที่อยู่ข้างชาวนาก็ให้เหตุผลว่า ควรเห็นใจชาวนาที่ปลูกข้าวให้กิน น่าจะอะลุ่มอล่วยบ้าง เพราะการตากข้าวมีเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

“พื้นที่เขาไม่แห้งค่ะแล้วก็มันไม่เรียบด้วยค่ะเขาตากถนนมันแห้งไวแล้วเขาก็ได้เอาไปขายไวค่ะจนลืมคิดไปว่าไม่ควรทำเพราะถ้าช้าปากท้องเขาก็หิวค่ะ”

“ผมเห็นใจชาวนาครับ ถนนหลวงก็จริง แต่สิ่งที่ชาวนานำไปวางนั้น คือ "ข้าว" นะครับ ข้าวที่ปลูกให้เรากิน ไม่มีรถขับ เราอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีข้าว เราอยู่ไม่ได้”


เพื่อความชัดเจนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทีมข่าว MGR Live ได้สอบถามไปยัง นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ช่วยวิเคราะห์ถึงอันตรายและความเสี่ยงของการขับขี่รถบนถนนที่มีข้าวตากอยู่

“ความเสี่ยงสำคัญ อย่างแรกเลยเขาจะตากในเส้นทางที่เป็นถนนโล่ง คือทางหลวงชนบทหรือไม่ก็ทางหลวงท้องถิ่น จะมีปริมาณรถไม่มาก การตากข้าวส่วนใหญ่จะไม่พบการแจ้งเตือนหรือมีป้ายบอก คนขับจะมาเห็นเมื่อจะถึงจุดตากข้าวแล้ว ถนนลักษณะนี้จะมีการใช้ความเร็วที่ 60 - 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์ดู เอาแค่วิ่งที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง 1 วินาที รถเคลื่อนตัวไปแล้ว 16.6 เมตร ถ้าเห็นว่าข้างหน้ามีของวางอยู่บนถนน จะแตะเบรกต้องใช้เวลาประมาณ 2 วินาที ซึ่งเท่ากับรถเคลื่อนตัวไปแล้วเกือบ 30 เมตร กว่าเขาจะเบรกแล้วหยุดได้ ก็ใช้ระยะหยุดไม่ต่ำกว่า 37 - 40 เมตร จึงมีโอกาสที่จะหยุดไม่ทัน 

ถ้ารถสัมผัสกับข้าว การขับรถแล้วล้อไม่ได้เหยียบพื้นถนน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะลื่นไถลเพราะแรงเสียดทานลดลง พอขับมาแล้วเห็นจะเบรกก็ไม่ทัน จะหักหลบก็อีกความเสี่ยงจะลื่นไถล ส่วนอีกปัจจัยที่จะสัมพันธ์กันได้คือ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว มันเป็นช่วงเข้าสู่หน้าหนาว เช้าๆ ที่ออกมาตากข้าวจะมีหมอก ก็ยิ่งลดทัศนวิสัยในการมองเห็น และอีกประการ ถ้ามีรถสวนมา ถนนที่ตากข้าวส่วนใหญ่เป็นถนน 2 เลน พอเหลือช่องทางเดียว คนก็เลือกที่จะไม่เหยียบข้าว ตรงนี้ก็เสี่ยงที่จะไปประสานงา”

นอกจากนี้ กูรูความปลอดภัยบนท้องถนน ได้ฝากคำแนะนำไปยังทั้งผู้ขับขี่และคนนำข้าวมาตากด้วย แม้ถนนจะโล่งแต่ผู้ใช้รถก็ต้องลดความเร็ว ส่วนชาวนาก็ควรเลี่ยงการนำข้าวมาตากบนถนนสายหลัก และต้องนำปัญหานี้ไปหาทางออกกันในชุมชน


“ในมุมคนขับผมคิดว่าถ้าต้องวิ่งถนนในทางชุมชน และยิ่งวิ่งในฤดูนี้ อย่างแรกต้องลดความเร็วลง ต่อให้ถนนโล่งก็อย่าวิ่งจนเพลิน มันมีโอกาสเสี่ยงมาก ถ้าเบรกไม่ทันแล้วไม่มีรถสวนมา โดยสัญชาติญาณก็หักหลบไปวิ่งอีกเลน แต่ถ้ามีรถสวนมา ก็ต้องเหยียบข้าว อันนี้เป็นเรื่องทักษะ การควบคุมพวงมาลัยรถ

ในมุมผม การเบรกกะทันหันมันก็มีโอกาสเสี่ยงที่รถจะพลิกด้วย หลายคนอาจจะมองว่าเราไปทำทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย อันนี้ต้องเอาชีวิตไว้ก่อน บางกรณีเขาวางผ้าใบไว้ใต้ข้าวด้วย อันนี้ก็จะยิ่งอันตรายเพราะมันมีโอกาสทำให้ลื่น ยิ่งเศษผ้าใบมันม้วนไปติดในใต้ท้องรถ มันดึงให้รถพลิกคว่ำได้เลย แต่ข้อแนะนำของผมอยากให้หักหลบเพราะผ้าใบมันมีโอกาสพลิกได้เยอะ ทั้งข้าวเปลือก ทั้งผ้าใบยาง

ส่วนมุมของชาวนา ก็เข้าใจนะว่าเขาไม่มีที่ตาก แต่มันไม่ใช่แค่ชาวนา มันเป็นโจทย์ของชุมชนว่าทำยังไงจะเพิ่มพื้นที่ตากข้าวที่ไม่ต้องไปอยู่บนถนน หรือถ้าจำเป็นต้องตากก็ควรเลี่ยงถนนที่รถใช้ความเร็ว ไปตามในถนนชุมชน ที่นานๆ จะมีรถผ่าน เป็นถนนที่วิ่งช้าๆ ครับ”

เคลียร์ชัด ‘ตากข้าวบนถนน’ มีความผิด!

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรก โดยแต่ละปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็มักจะมีกรณีของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนบ้าง รถคว่ำบ้าง ที่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการตากข้าวบนถนนเสมอๆ

ก่อนที่ความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ จะดุเดือดไปมากกว่านี้ ทางด้านของ ทนายรัชพล ศิริสาคร เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สายตรงกฎหมาย” ก็ได้ออกมาให้คำตอบเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่มาก ว่าตกลงแล้ว การที่ชาวนานำข้าวมาตากบนถนน จนทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ต้องเดือดร้อนนั้น มีความผิดหรือไม่ โดยทนายคนดังได้ชี้แจง ตามบรรทัดต่อจากนี้


“พ.ร.บ. ทางหลวง 2535 มาตรา 39 มาตรา 72 มีหลักว่า ห้ามนำสิ่งใดมาวางขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การตากข้าวบนถนน เข้าข่ายเป็นการกีดขวางการจราจร และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นการนำสิ่งของมาวางบนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายแก่บุคคล

นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ห้ามวางของบนถนนอีก ซึ่งมีโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน เช่น พ.ร.บ. จราจรทางบก 2522 มาตรา 114 ที่มีหลักว่า ห้ามวางสิ่งใด หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการกีดขวางทางจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาต ซึ่งตามมาตรา 148 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 มาตรา 19 มาตรา 57 มีหลักว่า ห้ามวางวัตถุใดๆ บนถนน หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ผู้ใดกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

วิถีชาวบ้าน ควรปรับเปลี่ยนใหม่ เพราะต้องเห็นใจคนใช้ถนนด้วย”


เช่นเดียวกันกับ ปกรณ์ ศรีปานวงศ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุรินทร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไว้ถึงประเด็นเดียวกันนี้ว่า กรมทางหลวงมีพระราชบัญญัติการควบคุมทางหลวงปี 2535 ระบุว่า มิให้มีการดำเนินการติดตั้ง แขวน วาง หรือกองวัสดุ อันจะส่งผลต่อการกีดขวางหรือทำให้เกิดอันตรายต่อการจราจรกับยานพาหนะที่จะสัญจรบนถนน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

หากพบเห็นการตากข้าวเปลือกบนถนนของชาวนา จะเข้าไปตักเตือนให้ขนย้ายภายใน 2-3 วัน หากยังไม่ขนย้าย จะทำหนังสือแจ้งว่ามีการกระทำผิด หากยังไม่แก้ไขอีก แขวงทางหลวงจะดำเนินการขนย้ายเอง และเรียกค่าเสียหายกับเกษตรกรต่อไป

กล่าวโดยสรุปก็คือ ใครก็ตามที่ยังนำข้าวมาตากไว้บนถนน หากถูกจับดำเนินคดี ก็จะมีความผิดทั้งจำทั้งปรับหลักหมื่น!

สำหรับทางออกของปัญหานี้ ก็คงต้องย้อนกลับแก้กันที่ต้นเหตุ คือ “การปฏิบัติตามกฎหมาย” ฝั่งชาวนาไม่นำข้าวมาตากบนถนน ส่วนฝั่งผู้ที่ขับขี่ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะมีข้าวอยู่บนถนนหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ควรใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วยเช่นกัน ...


เห็นแก่ตัว! ชาวนาตากข้าวปิดถนน หญิงโอดได้รับความเดือดร้อน

เผยแพร่:    ปรับปรุง:    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หลังราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต จนต้องนำไปตากในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะบนถนนสายรอง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ได้รับผลกระทบในการสัญจรไปมา

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Jenjira Srangchat” โพสต์รูปภาพของข้าวเปลือกที่ถูกนำมาตากอยู่เต็มเลนของถนนสายรองแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมโพสต์ข้อความตำหนิพฤติกรรมเช่นนี้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ต้องการใช้ถนนสัญจรไปมา เนื่องจากโรงสีต่างๆ ปรับราคารับซื้อข้าวเปลือก มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สูงสุดถึงตันละ 17,000 บาท อีกทั้งประสบปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ข้าวยืนต้นตายเสียหายเป็นจำนวนมากทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ในสภาวะผลผลิตต่ำแต่ราคาสูงตามกลไกตลาด

ขณะเดียวกัน ยังมีชาวนาได้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิที่เริ่มเหลืองนำไปวางตากในลานตากชุมชนจนพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงมีการขยายไปตากกันตามถนนเชื่อมสายรอง เชื่อมระหว่างหมู่บ้านไปครึ่งถนน จนต้องมีการตั้งป้ายเตือนป้องกันรถยนต์วิ่งทับทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

“ว่าด้วยเรื่องตากข้าว หลายคนอาจจะผ่านเส้นนี้ และใช้ถนนเส้นนี้ เวลาจะเข้าเมือง หรือไปเดินตลาดคลองถม ในวันศุกร์ และมาเจอแบบนี้ก็คงจะหงุดหงิดในความไม่มีมารยาท และเห็นแก่ตัวของคนบางคน แต่อาจไม่กล้าพูดอะไร เห็นตั้งแต่วันศุกร์แล้ว กับการปิดถนนตากข้าว ฝั่งที่เห็นคือใช้แบริเออร์พลาสติกมาบังปิด และฝั่งที่ลงจากถนนใหญ่ใช้กิ่งไม้ไผ่หรืออะไรนี่แหละบังไว้ทั้งเลน เพื่อไม่ให้คนลงได้ เส้นนี้เขาจะใช้วิธีนี้ เพื่อตากข้าวประจำ (เส้นท้ายบ้านหมู่ 1) ถามว่ามันเป็นการเห็นแก่ตัว และเสียมารยาทไหม ตอบเลยว่ามาก ทั้งๆ ที่ลานกิจกรรมของหมู่ 1 ก็ว่าง คุณไม่ไปตาก แต่คุณเลือกที่จะปิดถนนตาก ไม่เข้าใจเหมือนกัน บอกเลยว่า หมู่ 3 ไม่มีนะแบบนี้ ต่อให้บ้านอยู่ในซอยแค่ไหน เขาก็สู้ขนออกมาตากที่ลาน ที่เขาตากกัน เห็นแล้วเพลียจิต หงึดหลาย ทำไปได้”

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ออกสู่โลกโซเชียลฯ แล้วกว่า 1,600 ครั้ง พร้อมตำหนิการกระทำดังกล่าวที่ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : สุดเสี่ยง “ตากข้าวบนถนน” วิถีชาวบ้าน หรือ เห็นแก่ตัว

view