จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันตกลงมติขยับราคากก.ละ 2 บาท 3 รอบ เป็น 60 บาท/กก. กอบกู้ราคาหน้าฟาร์ม เร่งกรมปศุสัตว์ขึ้นทะเบียนฟาร์ม จำกัดแม่พันธุ์ ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม คุม EIA ฟาร์มด้วย
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันราคาหมูมีชีวิตในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ถูกกดดันจากพ่อค้าและโบรกเกอร์ กดราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลงมาจนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรได้ อีกทั้งมีปัญหาเรื่องโรค ปัญหาการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกาที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ในอนาคตกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันตกและทั่วประเทศจะอยู่อย่างลำบาก สัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมจึงได้เรียกประชุมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคตะวันตก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตราคาจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มให้มีความเป็นธรรมกับผู้เลี้ยงมากขึ้น
ราคาสุกรมีชีวิตภาคตะวันตกที่เกษตรกรขายหน้าฟาร์มสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ กก.ละ 54 บาท ต่ำที่สุดของประเทศ ที่ประชุมมีมติให้ขยับราคาขึ้นครั้งละ 2 บาท/กก. รวม 3 ครั้ง รวม 6 บาท เริ่มตั้งแต่วันพระที่ 20 มิ.ย. 2561-วันพระที่ 5 ก.ค. 2561 รวมขึ้น 6 บาทเป็น กก.ละ 60 บาท สอดคล้องกับการที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่มี น.สพ.จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขราคาสุกรตกต่ำเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ที่มีมติขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้รับซื้อสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ กก.ละ 60-63 บาท และราคาเนื้อสุกรชำแหละที่ กก.ละ 120 บาทบวกลบ 2 บาท
ทางพ่อค้าคนกลางหรือล้งที่รวบรวมสุกรจากฟาร์มเลี้ยงหลายแห่งโบรกเกอร์ มักจะกล่าวโทษโรงเชือดกดราคา ขณะที่โรงเชือดก็อ้างห้างโมเดิร์นเทรดกดราคา ดังนั้นนอกจากกรมปศุสัตว์จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่แล้ว กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรก็ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามแนวทางนี้ด้วย
สถานการณ์เช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในระยะยาวขอให้กรมปศุสัตว์เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรทั่วประเทศ เพื่อคุมปริมาณการผลิตแม่พันธุ์ไม่ควรมีปริมาณมากกว่า 1-1.1 ล้านแม่ ซึ่งจะได้ปริมาณหมูขุนไม่เกินปีละ 20 ล้านตัวภายในปีนี้ เท่ากับมีการบริโภคเนื้อหมูประมาณ 20-22 กก./คน/ปี รวมทั้งการนำกฎหมายด้านปศุสัตว์มาพิจารณาประกอบว่าฟาร์มที่สร้างใหม่ต้องมีพื้นที่บำบัดน้ำเสียรองรับปริมาณการเลี้ยงเท่าใด การเข้มงวดโดยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง นอกจากจะถูกปรับ 5,000 บาท ต้องมีการจำคุก 6 เดือน-1 ปีด้วย หากปรับเพียงอย่างเดียว ผู้เลี้ยงที่ฝ่าฝืนใช้ยังกล้าเสี่ยงที่จะใช้อยู่ เพราะยังมีกำไรเหลือพอสมควร นอกจากนี้ ควรจะนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้บังคับ ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่สร้างใหม่ ต้องผ่านการทำ EIA ให้ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองก่อน
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต