จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ในขณะที่บรรดานักพัฒนาจากซิลิคอนวัลเลย์ฉลองชัยยินดีกับความสำเร็จของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ว่าสามารถนำมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับมนุษย์ได้นั้น อีกด้านหนึ่งของประชากรในประเทศเดียวกันอาจไม่ได้กำลังยินดีด้วยเลยก็เป็นได้ เมื่อมีการวิจัยเผยว่า ชาวอเมริกันกว่า 70% กังวลถึงสิ่งที่จะตามมาจากโลกในยุคแมชชีนครองเมือง และเข้ายึดงานต่าง ๆ ที่เคยทำแทนมนุษย์
ผู้ที่ทำการสำรวจอย่างแอรอน สมิธ (Aaron Smith) จาก Pew Research ได้สอบถามความเห็นจากชาวอเมริกันกว่า 4,000 คน โดยระบุว่าชาวอเมริกันทั่วไปนั้นต่างกังวลกับการมาถึงของระบบอัตโนมัติที่เข้ามาตัดสินใจแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขาไม่ได้ตื่นเต้นเกี่ยวกับการมาถึงของหุ่นยนต์เหมือนที่บริษัทเทคโนโลยีรู้สึกด้วย
โดยทาง Pew Research ได้ประเมินทัศนคติของชาวอเมริกันต่อเทคโนโลยีอัจฉริยะใน 4 สถานการณ์ ได้แก่ การพัฒนารถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ (Driverless Car), การนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่การจ้างงานมนุษย์, การใช้หุ่นยนต์ดูแล (Robot Carer) และสุดท้ายการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินและคัดเลือกคนเข้าทำงานโดยไม่ต้องมีมนุษย์ตรวจสอบอีกที
ผลคือ 72 เปอร์เซ็นต์ของการสำรวจพบว่าชาวอเมริกันกังวลเกี่ยวกับอนาคตหากรู้ว่าหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์สามารถทำงานที่เคยเป็นงานของมนุษย์ได้ 76 เปอร์เซ็นต์เกรงว่า การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาจะทำให้ช่องว่างในสังคมระหว่างคนจนและคนรวยกว้างมากขึ้น และมีถึง 75 เปอร์เซ็นต์มองว่า เศรษฐกิจหลังจากมีระบบอัตโนมัติเข้ามานั้นจะไม่สามารถสร้างงานใหม่ ๆ หรืองานที่มีรายได้ดี ๆ สำหรับคนที่ถูกเลิกจ้างเพราะมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ได้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการใช้ระบอบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการตัดสินใจและประเมินว่าจะว่าจ้างบุคลากรดีหรือไม่นั้น แม้จะมีความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วในธุรกิจบางประเภท เช่น การประเมินยอดสินเชื่อที่จะให้กู้, การอนุญาตให้พ้นโทษได้ก่อนกำหนด ซึ่งฝ่ายผู้สนับสนุนมองว่า ปัญญาประดิษฐ์นั้นช่วยให้การตัดสินใจโปร่งใสและขจัดปัญหาเรื่องความลำเอียงได้ด้วย
ส่วนกรณีของการคัดเลือกบุคลากรโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ความเห็นแย้งจากผู้ตอบแบบสอบถามก็เป็นเรื่องน่าคิด เพราะมุมที่แย้งคือคอมพิวเตอร์ไม่สามารถวัดความฉลาดทางอารมณ์ได้ รวมถึงลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ ที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถประเมินได้ ในขณะที่หากเป็นมนุษย์ด้วยกันเองจะอาจประเมินได้อย่างถูกต้องมากกว่า
สำหรับความกังวลเหล่านี้อาจไม่สามารถชี้ได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด แต่สิ่งที่เร่งด่วนกว่าอาจเป็นการหาที่ยืนให้กับมนุษย์ให้ได้รับสิทธิในการยืนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของมนุษย์ที่พัฒนาเทคโนโลยี หรือและมนุษย์ที่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีก็ตาม
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต