สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรอ.ผงะ 16 โรงงานลอบทิ้งขยะ อุตฯเร่งออกกฎหมายคุมเข้มรถขนส่งติด GPS

จากประชาชาติธุรกิจ

กรอ.ลุยจับ 16 โรงงานลอบทิ้งกากขยะ โอดแบกรับต้นทุน ดึงเอกชนช่วยกำจัด พร้อมเร่งออกกฎหมายคุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรม-โรงกำจัดกากเข้าระบบ ต้องเลือกใช้บริการรถขนส่งที่มีการติดตั้ง GPS ที่ กรอ.อนุญาตเท่านั้น

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 2559 พบมีปริมาณขยะทุกประเภทอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านตัน เป็นกากอันตราย 10% หรือ 3.8 ล้านตัน แต่ที่เข้าระบบกำจัดถูกต้องเพียง 28 ล้านตัน ดังนั้นการเร่งกำจัดกากขยะเหล่านี้ยังคงเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม

นายสุธน อยู่เกตุ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการตรวจจับโรงงานที่กระทำความผิดลักลอบทิ้งกากขยะนอกพื้นที่ โดยไม่เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกต้องตามระบบพบว่าในปี 2559 มีจำนวนถึง 12 ราย และในจำนวนดังกล่าว 3 ราย แจ้งความร้องทุกข์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ส่วนอีก 9 ราย ส่งเรื่องให้อุตสาหกรรมจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อรอผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ เนื่องจากยังไม่พบผู้กระทำผิด ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจจับและจากการร้องเรียนต่อเนื่อง กรอ. ได้รับการประสานจากหน่วยงานภายนอก ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมจังหวัด และได้รับการร้องเรียนโดยตรง

ขณะที่ปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) ตรวจพบจำนวนโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากขยะ 4 ราย ในจำนวนดังกล่าว 1 ราย ได้ดำเนินคดีและทำการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 แล้ว ส่วนอีก 3 รายอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบของอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรงงาน โทษปรับสูงสุด 200,000 บาท จำคุกสูงสุด 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ได้กำหนดบทลงโทษด้วยการเปรียบเทียบปรับตั้งแต่หลักพันบาทถึงหลักหมื่นบาทต่อครั้ง ตามแต่ความผิดที่ได้กระทำ

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อพบกากขยะที่ทิ้งไว้ทาง กรอ.จะขนส่งไปยังโรงกำจัดกากเพื่อแยกประเภทที่เป็นกากอันตราย และไม่อันตรายออกก่อน จากนั้นจะถูกกำจัดให้ถูกต้องตามระบบ ภาครัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแต่ละปีสูงถึงหลายล้านบาท เพราะหาผู้กระทำผิดได้ยาก แต่ปริมาณขยะจำเป็นต้องถูกกำจัดไปก่อน ดังนั้น กรอ. จึงต้องขอความร่วมมือจากโรงกำจัดกากเอกชนรับกำจัดไปก่อน หรือบางรายช่วยรัฐกำจัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และถือเป็นการตอบแทนสังคม (CSR)

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า โครงการจัดสร้างระบบฐานข้อมูลและการติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีการติดตามการขนส่งที่มีระบบรายงานตำแหน่ง (GPS) และกำกับดูแลผู้ขนส่งและยานพาหนะประมวลผลเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง ปัจจุบันรถขนส่งของเสียอันตรายซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ขนส่งวัตถุอันตรายจาก กรอ. มีจำนวนกว่า 3,000 คัน และทุกคันได้มีการติดตั้ง GPS ในระบบการติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมด้วย GPS ของ กรอ. จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงกำจัดกากเข้าระบบ เพื่อแจ้งข้อมูลการขนส่งกากอุตสาหกรรมทุกครั้ง โดยเริ่มการติดตามโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดขยะและหยุดการติดตามเมื่อถึงโรงกำจัดกากปลายทาง

ทั้งนี้ ในการส่งข้อมูลเป็นหน้าที่ของ Service Provider ที่เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS แก่รถขนส่ง โดยก่อนที่โรงงานอุตสาหกรรม และโรงกำจัดกากจะสามารถแจ้งการขนส่งในระบบ Service Provider จะต้องพร้อมที่จะส่งสัญญาณ GPS ของรถขนส่งมาที่ระบบการติดตามของ กรอ. โดย กรอ.จะขึ้นทะเบียนรถที่ติดตั้ง GPS และพร้อมส่งสัญญาณในระบบการติดตามฯ เพื่อที่จะรองรับการแจ้งการขนส่งในระบบการติดตามฯ

ขั้นตอนดังกล่าว กรอ.จะออกเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดหน้าที่ของโรงงานอุตสาหกรรมและโรงกำจัดกากให้ใช้ระบบการติดตามฯ และเลือกใช้บริการรถขนส่งที่มีการติดตั้ง GPS ที่ยินยอมส่งข้อมูลให้ระบบของ กรอ.เท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กรอ.ผงะ 16 โรงงานลอบทิ้งขยะ อุตฯเร่งออกกฎหมายคุมเข้มรถขนส่งติด GPS

view