จากประชาชาติธุรกิจ
สื่อต่างประเทศรายงานว่า K. Shanmugam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและความมั่นคงภายในประเทศสิงคโปร์มีแผนที่จะออกกฏหมายเพื่อจัดการปัญหาข่าวปลอมในปีหน้า
“ภายในปีหน้าเราจะปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งสื่อ นักกฏหมาย และบริษัทอินเทอร์เน็ต เพื่อวางโครงร่างทิศทางที่กฏหมายควรจะเป็น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีกฏหมายนั้นในปีหน้า”รมว.สิงคโปร์กล่าว
ทั้งนี้ เขายังแสดงความกังวลในเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารที่ผิดจนก่อให้เกิดการกดขี่ทางเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งมีผลต่อสังคมสิงคโปร์ที่หลากหลายด้วยเชื้อชาติและศาสนา
สำหรับการดำเนินการสกัดกั้นข่าวปลอมนั้น Shanmugam กล่าวว่า จะโฟกัสไปยังการทำงานของแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีในการช่วยกรองให้คนรู้ว่าข่าวไหนคือข่าวปลอม และเป็นการควบคู่กับการใช้กฎหมาย ซึ่งหากมีการนำมาใช้จะช่วยให้ผู้คนสามารถรับมือกับข่าวปลอมที่สร้างความกังวลใจได้
“กฏหมายนี้จะมีผลกับข่าวปลอม ที่มีผลร้ายกับสังคม แต่ไม่ใช่กับข่าวที่เข้าใจผิด”
สิงคโปร์เผชิญกับเหตุการณ์การแชร์ข่าวปลอมในปี 2015 เมื่อนักเรียนสิงคโปร์คนหนึ่งโพสต์ประกาศการเสียชีวิตของ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจริงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ส่งผลให้สื่อต่างประเทศเช่น CNN และ CCTV นำไปเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน
อีกหนึ่งกรณีเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2015 ข่าวลือบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับฝุ่นควันจากไฟป่าที่อินโดนีเซียจะมีผลถึงสิงคโปร์ รวมทั้งมีสารเคมีที่จะปนเปื้อนมากับฝน โดยมีการส่งต่อข่าวลือนี้ไปยังบริการแชท WhatsApp จนเกิดความแตกตื่นในสังคม
รมว.ยุติธรรมและความมั่นคงภายในสิงคโปร์ กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นจากรัฐบาลชี้ให้เห็นว่าคนสิงคโปร์กว่า 91 % สนับสนุนให้มีกฏหมายตรวจตราและคัดกรองข่าวปลอมนี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งทีมงานไปยังประเทศต่างๆ อาทิ เยอรมัน อังกฤษ เพื่อศึกษาวิธีรับมือและจัดการกับข่าวปลอม
ทั้งนี้ยังย้ำว่า “บริษัทด้านเทคโนโลยีต้องมีความรับผิดชอบ” หลังจากที่สังเกตข้อมูลปีก่อนว่าบริษัทเหล่านั้นมีปฏิกริยาที่ดีต่อสหภาพยุโรป ในการลบคำพูดสร้างความเกลียดชัด (Hate speech) ภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีสิงคโปร์ ยังยกกรณีตัวอย่างภัยร้ายจากข่าวปลอมที่ว่า มีใครคนหนึ่งนำคลิปวิดีโอการเฉลิมฉลองชัยชนะกีฬาคริกเก็ตในปากีสถานมาเผยแพร่หลังจากปารีสถูกโจมตีเมื่อปี 2015 และเปลี่ยนชื่อคลิปจนทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการเฉลิมฉลองการก่อการร้ายของมุสลิมแทน
“500,000 วิวภายใน 2 ชั่วโมง มันมีผลร้ายแรงที่ตามมาคือ อิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) ทำให้ผู้คนโกรธเกลียดคนมุสลิม”เขากล่าว
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต