จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากพลิกดู "เขตพฤกษา" หรือ ผืนภูมิศาสตร์ป่าไม้ในไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และบางส่วนของมาเลเซีย กับจีนตอนใต้ จะพบเห็นย่านภูมิประเทศของแต่ละรัฐที่มีลักษณะคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันในเชิงนิเวศ จนดูเหมือนว่า
หากใครสามารถขยายตลาดท่องเที่ยว หรือสนามอนุรักษ์ป่าไม้ให้เกิดการร้อยรัดรวมตัวกันจากพื้นที่หนึ่งในเขตประเทศตน ไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ผู้นั้นย่อมมีความได้เปรียบในการเจาะ "ตลาดนิเวศวิทยาอาเซียน"
เขตภูมิศาสตร์ป่าไม้อุษาคเนย์พื้นทวีป อาจแบ่งออกเป็นหลายเขต ตัวอย่าง เช่นเขตป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง ที่เต็มไปด้วยกลุ่มสังคมพืชใบเขียว ซึ่งขึ้นอยู่ในเขตชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำ อาทิ เขตปากน้ำเอยาวดีและยะไข่ ในเมียนมา เขตปากน้ำเจ้าพระยาในไทย และเขตปากน้ำโขงในเวียดนาม นอกจากนั้น ยังมีป่าชายเลนตามชายฝั่งตะนาวศรีของเมียนมา จังหวัดชายทะเลภาคใต้และภาคตะวันออกของไทย รวมถึงเขตชายฝั่งกัมพูชาและเวียดนาม
เขตป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด ที่มักปรากฏในบริเวณที่มีน้ำจืดท่วมมาก ๆ โดยมีทั้งป่าพรุน้ำกร่อยและป่าพรุน้ำจืด เช่น ป่าพรุเขตทุ่งราบแม่น้ำเจ้าพระยาในไทย และแม่น้ำแดงในเวียดนาม ตลอดจนป่าพรุแถบทะเลสาบเขมรในกัมพูชา
เขตป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้น ซึ่งเป็นป่ารกทึบเขียวชอุ่มตลอดปี และไม่มีการผลัดใบของต้นไม้หรือมีบ้างเพียงเล็กน้อย เช่น เขตภูเขากะเหรี่ยง-กะยา และเขตภูเขาตะนาวศรีตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา เขตป่าดิบชื้นแถบเขาบรรทัดในไทย เขาอันนัมในเวียดนาม-ลาว และตามตะเข็บเวียดนาม-จีน
เขตป่าผลัดใบและป่าดิบแล้ง อาทิ ป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ป่าโคก หรือ ป่าเต็งรัง ซึ่งพบมากในภาคอีสาน ภาคกลางและภาคเหนือบางส่วนของไทย รวมถึงในกัมพูชา ลาวตอนใต้และในเขตร้อนแห้งของเมียนมา
นอกจากนั้น ยังมีเขตพรรณไม้อื่น ๆ ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็กครอบคลุมย่านเอเชียอาคเนย์ตอนบน อาทิ ผืนป่าอบอุ่นในอินโดจีนตอนเหนือ อย่างในรัฐฉานของเมียนมา ภาคเหนือของลาวและเวียดนามรวมถึงภาคใต้ของจีน หรือเขตหิมะตกในภาคเหนือของรัฐคะฉิ่น ในเมียนมา และป่าดิบชื้นผสมป่าพรุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
จากการจัดประเภทป่าไม้เอเชียอาคเนย์ตอนบน พบเห็นความคล้ายคลึงกันและความเชื่อมโยงเชิงนิเวศ ที่ตัดข้ามพรมแดนรัฐชาติ จนเปิดช่องให้เกิดแนวโน้มบูรณาการเขตพรรณไม้เพื่อสร้าง "ASEAN CONNECTIVITY" ที่กระชับเหนียวแน่นขึ้น
เช่น การขยายกิจกรรมล่องเรืออนุรักษ์ป่าชายเลน โดยจัดกลุ่มให้เขตปากน้ำเจ้าพระยา ปากน้ำเอยาวดี-ยะไข่ ปากน้ำโขง รวมถึงเขตชายฝั่งในไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และบางส่วนของมาเลเซียภาคเหนือ อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน
เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาตลาดท่องเที่ยวเชิงนิเวศอาเซียน หรือความพยายามที่จะเชื่อมโยงเขตภูมิศาสตร์กับแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรม เช่น ภูมิศาสตร์ที่ราบสลับกับป่าพรุน้ำจืด อันสัมพันธ์กับวิวัฒนาการประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมในลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มทะเลสาบเขมร
หรือแม้กระทั่งการขยายกลุ่มตลาดส่งออกสินค้าเกษตรจากป่าดิบแล้งในเขตที่ราบสูงโคราช และบางส่วนของที่ราบสูงโบโลเวนในลาวตอนใต้
ตลอดจนการขยายหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ป่าไม้อาเซียน โดยจัดโครงการลงสนามเพื่อสร้างความชำนาญให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเขตภูมิศาสตร์ ที่คล้ายคลึงใกล้ชิดกัน
กล่าวโดยสรุป การตรวจสอบ "พฤกษาอาเซียน" ตามย่านภูมิศาสตร์ธรรมชาติต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ความเหมือนและเรียงร้อยหาความเชื่อมโยงปะติดปะต่อกัน น่าจะเป็นอีกหนึ่ง "ยุทธศาสตร์หลัก" ที่ช่วยสร้าง "ASEAN CONNECTIVITY" ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนขึ้นในอนาคตอันใกล้
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต