จากประชาชาติธุรกิจ
ศาสตราจารย์ แคโรลีน สปราย แห่งมหาวิทยาลัยลาโทรป ในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นอกจากจะให้คำอธิบายที่เป็นการไขปริศนาที่หลายคนข้องใจมานานว่า เพราะเหตุใดมนุษย์ราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ถึงได้ "ถนัดขวา" เหมือนกันหมดเท่านั้น ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า "ความถนัดขวา" นั้นมีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของมนุษย์มากอย่างยิ่งเพราะเหตุใด
ศาสตราจารย์สปรายระบุว่า การถนัดขวาของมนุษย์เป็นหนึ่งในอุปนิสัยที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ในออร์เดอร์ไพรเมต (ส่วนใหญ่คือลิง และลิงใหญ่ มนุษย์ก็ถือเป็นสัตว์อยู่ในอันดับนี้ด้วย) ด้วยกัน เพราะไพรเมตส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโดยรวมแล้วมีความถนัดด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษแต่อย่างใด
องค์ความรู้ในปัจจุบันทำให้เรารู้กันดีว่าสมองของมนุษย์เรานั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ซีก คือสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา อย่างไรก็ตาม สมองทั้งสองซีกมีความถนัดหรือความชำนาญพิเศษในการควบคุมทักษะที่แตกต่างกันออกไป เช่น สมองซีกซ้ายควบคุมทักษะเชิงภาษาและการเคลื่อนไหวของรยางค์ต่างๆ แต่สมองซีกขวารับผิดชอบมากกว่าในทักษะของการมองเห็น การกำหนดตำแหน่ง
แต่องค์ความรู้ของคนเราก็ยังมีอยู่น้อยมากในเรื่องของการจำกัดกิจกรรมโดยสมองซีกใดซีกหนึ่ง หรือ "เบรน แลเทอเรไลเซชั่น" ซึ่งทำให้กระบวนการทางปัญญา (ค็อกนิทีฟ โปรเซส) บางอย่างถูกควบคุมโดยสมองซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นคุณลักษณะเด่นของมนุษย์ และเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวพันกับการพัฒนาความสามารถเชิงปัญญา (ค็อกนิทีฟ เอบิลิตี) ของคนเรา
นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า การถนัดขวาของคนเราอาจมีส่วนในการพัฒนา "เบรน แลเทอเรไลเซชั่น" ดังกล่าวนี้ขึ้นมา เนื่องจากมีหลักฐานบ่งชี้บางประการจากยุคโบราณ
ผลการวิจัยจากการขุดค้นเมื่อเร็วๆ นี้ พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการถนัดขวาของคนเราว่าเป็นมาตั้งแต่บรรพกาล ย้อนหลังไปตั้งแต่ยุคหิน หรือเมื่อราว 3.3 ล้านปีมาแล้วเนื่องจากมีการขุดค้นพบเครื่องมือหินที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศเคนยา ในทวีปแอฟริกา
การทำเครื่องมือหินในยุคนั้นเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญในระดับสูง นักวิชาการในปัจจุบันรู้เรื่องนี้จากการทดลองทำเครื่องมือหินแบบเดียวกันโดยอาศัยกระบวนการทำแบบเดียวกัน และพบว่าเป็นกระบวนการที่ควบคุมโดยสมองซีกซ้าย ซึ่งรับผิดชอบในการคิดวางแผนและดำเนินการตามแผนที่คิดไว้
นักวิทยาศาสตร์พบด้วยว่ามนุษย์ในยุคนั้นถนัดขวาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับไพรเมตอื่นๆ เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะสมองซีกซ้ายและขวาของคนเรานั้นควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายในซีกที่ตรงกันข้าม คือสมองซีกซ้ายควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา แต่สมองซีกขวาควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย
เมื่อกระบวนการทำเครื่องมือหิน (ที่เป็น ค็อกนิทีฟ เอบิลิตี อย่างหนึ่ง) ควบคุมโดยสมองซีกซ้ายก็ใช้ร่างกายซีกขวาดำเนินการ จนกลายเป็นทั้ง "ความถนัดขวา" และเป็น "เบรน แลเทอเรไลเซชั่น" พัฒนาขึ้นมาควบคู่กัน
เราไม่สามารถหาโครงกระดูกมนุษย์ยุคบรรพกาลได้ครบถ้วนและมากพอที่จะเปรียบเทียบชุดกระดูกมือซ้ายและขวาได้ แต่เราก็ได้หลักฐานแวดล้อมจากฟันของมนุษย์ในยุคนั้นที่แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ถนัดขวา โดยอาศัยริ้วรอยที่เกิดกับฟันหน้าที่เป็นรอยซึ่งมีลักษณะเอียงไปทางขวา สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์โบราณรายนั้นใช้ฟันกัดวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดไว้โดยใช้มือซ้ายถือ แล้วใช้เครื่องมือหินที่ถือด้วยมือขวาตัด ฟันหรือเฉือนวัสดุดังกล่าว ทำให้เครื่องมือหินกระแทกหรือสีเข้ากับฟันหน้าทิ้งริ้วรอยเอาไว้นั่นเอง
นักวิจัยยืนยันเรื่องนี้ด้วยการทดลองตามสมมุติฐานดังกล่าว โดยให้ผู้ทดลองสวมครอบฟันเพื่อเก็บริ้วรอย ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาในทำนองคล้ายคลึงกัน
ศาสตราจารย์สปราย เปิดเผยด้วยว่าจากการศึกษากระดูกกรามบนของ "โฮโม ฮาบิลิส" บรรพชนของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในแทนซาเนีย ในทวีปแอฟริกาเมื่อ 1.8 ล้านปีก่อน โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงควบคู่กับกล้องถ่ายภาพดิจิทัลเพื่อถ่ายภาพริ้วรอยบริเวณฟันหน้า 4 ซี่ พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า ริ้วรอยที่เกิดขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นรอยเอียงขวา ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากกิจกรรมที่เป็นกระบวนการทางปัญญาทั้งสิ้น
หลักฐานดังกล่าวนอกจากแสดงให้เห็นว่าการถนัดขวานั้นมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของมนุษย์แล้ว ยังแสดงให้เห็นด้วยว่ากระบวนการจัดระเบียบการทำงานในสมองของคนเราก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ 1.8 ล้านปีก่อนเป็นอย่างน้อย และทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะอย่างเช่นการทำเครื่องมือหินขึ้นมาได้
รวมทั้งเป็นจุดเริ่มไปสู่การพัฒนาทักษะอื่นๆ อย่างเช่นภาษาพูดและภาษาเขียนขึ้นตามมาอีกด้วย
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส