จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
แนวโน้มของทุกชาติทั่วโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือกำลังก้าวสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” (Ageing Society) โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ. 2568 ทั่วโลกจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ถึง 1,200 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2593 จะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรโลกทั้งหมด และที่น่าตกใจ ในปี พ.ศ.2590 จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ 60 ปีจะมีมากกว่าจำนวนประชากรเด็ก ในขณะที่เมืองไทยนั้น จากข้อมูลงานวิจัยเพื่อศึกษาหนทางลดผลกระทบของปัญหาที่จะเกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย “ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แนวโน้มประชากรไทย สัดส่วน “วัยเด็ก” อายุ 0-14 ปี ได้ลดลงเรื่อยๆ จากปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 19.8%, ปี พ.ศ. 2563 จะลดเหลือประมาณ 16.8%, ปี พ.ศ. 2573 ลดเหลือประมาณ 14.8% และปี พ.ศ.2583 ลดเหลือประมาณ 12.8%
|
|
“ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
|
|
เช่นเดียวกับประชากร “วัยทำงาน” อายุ 15-59 ปี จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยจากปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 67%, ปี พ.ศ. 2563 ลดเหลือประมาณ 64.1%, ปี พ.ศ. 2573ลดเหลือประมาณ 58.6% และ และปี พ.ศ. 2583 ลดเหลือประมาณ 55.1% สาเหตุการลดลงอย่างมากของวัยเด็กและวัยทำงานมาจากสภาพครัวเรือนไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ครอบครัวขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด ไม่กล้าจะมีลูกมาก และไม่แต่งงาน สวนทางจำนวนประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อไปคนไทยจะมีอายุยืนขึ้น โดยจากปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 13.2%, ปี พ.ศ. 2563 เพิ่มเป็นประมาณ 19.1%, ปี พ.ศ. 2573 เพิ่มเป็นประมาณ 26.6% และปี พ.ศ. 2583 เพิ่มเป็นประมาณ 32.1% หรือจากประมาณ 8 ล้านคนในปัจจุบันเพิ่มเป็นเกิน 20 ล้านคน และที่น่าห่วงคือส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพย่ำแย่ด้วย
|
จากข้อมูลดังกล่าวชี้ชัดให้ตระหนักว่า ในอีกไม่เกิน 20 ปีต่อจากนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสูงสุด” ที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งหมดมากกว่า 20% “ในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยและสิงคโปร์เป็นเพียงสองประเทศที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสูงสุดในเวลาอีกไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และยิ่งน่าห่วงกว่านั้น เพราะประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมน้อยกว่าสิงคโปร์มาก เพราะประชากรไทยมีการออมเงินจำนวนไม่มากนัก รวมทั้งสวัสดิการจากภาครัฐมีจำกัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” ศ.ดร.เกื้อกล่าว @@@ แนะธุรกิจเปลี่ยนทัศนคติ มอง “สังคมผู้สูงอายุให้เป็นโอกาส”
|
ศ.ดร.เกื้อระบุด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ แล้วต้องมองสถานการณ์ของสังคมผู้สูงวัยให้ถูกต้องเสียก่อน โดยทัศนคติของคนทั่วไปทุกวันนี้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ผู้สูงอายุ” จะตีความว่าเป็น “บุคคลที่เป็นภาระต่อสังคม” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันอัตราส่วนคนวัยทำงาน 6 คนจะดูแลผู้สูงอายุแค่ 1 คน ยิ่งกว่านั้น ผู้สูงอายุบางครอบครัวยังเป็นผู้อุปถัมภ์ดูแลค่าใช้จ่ายให้คนวัยทำงานด้วยซ้ำ สถานการณ์เวลานี้ผู้สูงอายุจึงยังไม่ใช่ภาระของสังคม แต่ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า อัตราส่วนคนวัยทำงานจะเหลือแค่ 1.7 คนที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ถึงเวลานั้นหากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ คนที่อยู่ในวัยทำงานเวลานี้ก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่เป็นภาระต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และมีความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตสูงมาก ทั้งนี้ ศ.ดร.เกื้อเผยด้วยว่า เพื่อจะก้าวข้ามผลกระทบสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ยุค Ageing 4.0 กล่าวคือ Ageing ยุค 1.0 เป็นยุคที่เน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัย, Ageing ยุค 2.0 เป็นยุคที่เน้นการแก้ปัญหาจากสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุคนี้, Ageing ยุค 3.0 เป็นยุคที่เน้นมาตรการป้องกันผลกระทบของปัญหาสังคมสูงวัย และ Ageing 4.0 ยุคของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพลิกจากวิกฤตของสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาส โดยการเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นยุค Ageing 4.0 นั้นจะช่วยให้การวางยุทธศาสตร์ในทุกมิติเปลี่ยนไปชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจ ในการผลิตสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม จากเคยคิดแค่ว่าตลาดผู้สูงอายุปัจจุบันมีประมาณ 8 ล้านคน เปลี่ยนมุมคิดเป็นว่า ในอนาคตไม่นานทุกคนที่ตอนนี้อยู่ในวัยแรงงานต้องเป็นคนสูงวัย ซึ่งจะไม่มีคนวัยทำงานมาดูแลแล้ว และสวัสดิการภาครัฐก็มีจำกัด ดังนั้น การวางแผนธุรกิจคงไม่ได้คิดแค่จะขายแก่คนที่สูงอายุแล้ว แต่ขยายตลาดขายคนวัยทำงานที่เตรียมพร้อมจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย “ถ้าเราเปรียบเทียบบริษัทของตัวเองกับบริษัทคู่แข่ง ขายสินค้าชนิดเดียวกัน โดยบริษัทเราคิดได้แค่เป็น Ageing 1.0 หรือ 2.0 ในขณะที่บริษัทคู่แข่งของเราคิดวางแผนเป็น Ageing 4.0 เราไม่มีทางสู้เขาได้เลย ยกตัวอย่าง มีคอนโดฯ 2 แห่ง แห่งแรกขายเป็นห้องพักทั่วไป กับอีกแห่งเป็นห้องพักที่ออกแบบไว้สำหรับเหมาะกับผู้เข้าพักอาศัยทุกเพศทุกวัย ผู้ซื้อก็ต้องเลือกแบบหลัง เพื่อวางแผนให้ตัวเองมีที่พักเหมาะในอนาคต” “หรืออีกกรณีของบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งทำ “สมาร์ท คอนแทกต์ เลนส์” (smart contact lens) ซึ่งเป็นคอนแทกต์เลนส์ที่เก็บข้อมูลสุขภาพดวงตาของผู้สวมใส่ได้ เพราะเขาเห็นพฤติกรรมของคนวัยทำงานทุกวันนี้ต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนวันละหลายชั่วโมง มีโอกาสเป็นโรคทางสายตาสูง เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยป้องกันคนในวัยทำงานให้มีสุขภาพสายตาดีก่อนจะสูงวัย เป็นต้น นี่เป็นแนวคิดแสดงให้เห็นว่า หากปรับทัศนคติสังคมผู้สูงอายุมาคิดในแง่บวก โดยสร้างนวัตกรรมจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ได้อีกมากมาย ซึ่งการปรับดังกล่าว ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทใหญ่ หรือเป็นเอสเอ็มอีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญที่ใครจะคิดก่อน และปรับตัวได้ก่อน ก็จะแสวงหาโอกาสได้ก่อน” ศ.ดร.เกื้อกล่าว นอกจากนั้น แนวคิด Ageing 4.0 ยังก่อให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่วัยเก๋าได้ด้วย เนื่องจากแนวโน้มที่อนาคตผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ต้องมีเงินออมมากเพียงพอ ลำพังการหารายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียวและใช้วิธีเก็บในธนาคารอาจไม่เพียงพอที่จะเหลือเงินไว้ใช้ ดังนั้น ผู้สูงอายุวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไปอาจจะก้าวมาเป็นผู้ประกอบการใหม่เพื่อจะหารายได้ที่มากขึ้น โดยข้อได้เปรียบของผู้สูงอายุที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง คือมีเงินทุนค่อนข้างมาก รวมถึงมีเครือข่าย เพื่อนฝูงมาก ตลอดจนมีประสบการณ์ และความรอบคอบ ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบ ช่วยให้ทำธุรกิจสำเร็จและอยู่รอดได้มากกว่าธุรกิจที่ทำโดยคนหนุ่มสาวด้วยซ้ำ ฉะนั้น สิ่งสำคัญของการแสวงหาโอกาสจาก “สังคมผู้สูงวัย” จึงไม่ใช่ว่าคนทำจะมีอายุเท่าไร หรืออยู่ในวัยใด หากแต่อยู่ที่วิธีคิด ความสามารถ และการปรับตัว ที่จะหาโอกาสจากแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่างหาก
|
|
เพ็ญศรี แก้วสมบัติ |
|
|
@@@ ‘ป้าเพ็ญศรี’ นวัตกรรมขนมจีนอบแห้ง startup ในวัยเกษียณ “เพ็ญศรี แก้วสมบัติ” วัย 70 ปี เป็นอีกตัวอย่างของผู้สูงอายุที่เริ่มต้นธุรกิจในวัยเลยเกษียณไปแล้ว สร้างนวัตกรรมเพิ่มค่าให้แก่ “ข้าว” ที่ราคากำลังตกต่ำ นำมาแปรรูปเป็น “ขนมจีนอบแห้ง” ตรา ‘ป้าเพ็ญศรี’ ช่วยเพิ่มมูลค่าขายได้ราคาสูง และตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี ป้าเพ็ญศรีเล่าว่า เนื่องจากบ้านเกิดที่ ต.ชมเจริญ อ.ปากชม จ.เลย ชาวบ้านมีอาชีพหลักทำนา รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ประมาณ พ.ศ. 2539 ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำชักชวนแม่บ้านในท้องถิ่นนำข้าวมาแปรรูปเป็น “ข้าวแต๋น” เพื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงนอกฤดูกาลทำนา ทว่าสินค้าไม่ได้รับความสนใจมากนักเพราะสินค้าขาดความโดดเด่น ต่อเดือนจึงมียอดขายแค่ประมาณ 3,000-4,000 บาทเท่านั้น จนได้แนวคิดจากการสังเกตเห็นว่าเส้นขนมจีนมีปัญหาเสียง่าย เพราะเป็นเส้นหมัก และไม่สะดวกจะพกไปกินเวลาเดินทางไกลๆ เลยคิดนำเส้นขนมจีนทำเป็นอบแห้ง ป้าเพ็ญศรี ที่เวลานั้นวัย 61 ปี อาศัยลองผิดลองถูกคิดเองทำเอง จนได้สูตรขนมจีนอบแห้ง โดยทำมาจากแป้งข้าวเจ้า 80-85% ผสมกับแป้งมัน 5% และน้ำเปล่า 10% นำมาคลุกรวมจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นใส่เครื่องบีบให้ออกมาเป็นเส้นๆ หลังจากนั้นพักไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วนำไปตากแดดอีก 3-4 ชั่วโมง แล้วเข้าเครื่องอบที่อุณหภูมิ 40 องศา อีกประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มความสวยงามน่ากิน นำพืชสมุนไพรต่างๆ ได้แก่ ดอกอัญชัน ใบเตย แครอท ฟักทอง และแก้วมังกร มาต้มสกัดเป็นน้ำแล้วผสมลงไปด้วย ช่วยให้เส้นออกมามีสีสวยงาม นอกจากนั้น ยังมีสีจากธรรมชาติ เช่น ข้าวลืมผัว และข้าวกล้อง รวมแล้วเส้นขนมจีนอบแห้งมีถึง 7 สีด้วยกัน เธอเล่าต่อว่า วางตลาดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสออกงานแสดงสินค้าชุมชนต่างๆ ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จัก หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่พบเห็นต่างชื่นชมถึงการเป็นสินค้าแปลกใหม่ และใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเข้ามาช่วยพัฒนา ด้วยการสนับสนุนทั้งด้านเครื่องจักร และมาตรฐานการผลิต ช่วยให้ผลิตเส้นขนมจีนอบแห้งที่สะอาด ปลอดภัย และเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปีโดยไม่ได้ใส่สารกันเสียใดๆ เลย นอกจากนั้น ได้เครื่องหมายโอทอป 4 ดาวการันตีคุณภาพอีกด้วย ทุกวันนี้ขนมจีนอบแห้ง ตรา ‘ป้าเพ็ญศรี’ กลายเป็นสินค้าส่งออกไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยกลุ่มผู้ซื้อส่วนใหญ่คือร้านอาหารไทยในต่างแดน และคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ส่วนในประเทศจะขายผ่านร้านของฝากใน จ.เลย และออกงานแสดงสินค้าโอทอปต่างๆ เฉลี่ยยอดขายเดือนละประมาณ 1.5 แสนบาท หรือปีละเกือบ 2 ล้านบาท ถึงจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ระดับชุมชน แต่เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ และพยายามสูง เรื่องวัยจึงไม่ใช่ข้อจำกัด ความสำเร็จเกิดขึ้นได้เสมอ ป้าเพ็ญศรีพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
|
|
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคลของศศินทร์ |
|
|
@@@ แรงงานสูงวัย ไม่ไร้ค่า
อีกประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ “ปัญหาเรื่องแรงงาน” โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคลของศศินทร์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบธุรกิจไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรวัยทำงาน (อายุ 15-65 ปี) มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความต้องการแรงงานของตลาดโลกโดยทั่วไปในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 22% นอกจากนั้น ในส่วนแรงงานที่มีศักยภาพสูงๆ อาจจะหนีไปอยู่กับนายจ้างต่างชาติที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงเทรนด์คนรุ่นใหม่นิยมไปเป็น startup เพราะมีอิสระมากกว่าเป็นลูกจ้าง เหล่านี้ประกอบกันทำให้แนวโน้มผู้ประกอบการธุรกิจไทยในอนาคตจะประสบปัญหา ขาดแคลนแรงงานทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณในทุกระดับ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบริการ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย อีกทั้งผลิตภาพธุรกิจจะลดลง ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจลดลง ในขณะที่ต้นทุนการจัดจ้างพนักงานสูงขึ้น แต่คุณภาพกลับไม่ดีเท่าที่ควรทั้งในแง่ผลงานและสุขภาพ รศ.ดร.ศิริยุพาระบุต่อว่า จากความน่ากังวลดังกล่าว ทางศศินทร์ได้ทำการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยสร้างแรงจูงใจและความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานต่างวัยในประเทศไทย” เพื่อหาคำตอบในการวางกลยุทธ์องค์กรในการจัดทัพรับแรงงานสูงอายุ โดยพบว่าแรงงานสูงวัย (อายุสูงเกิน 45 ปี) ต้องการงานที่มีเนื้อหา ได้รับการยกย่องให้เกียรติจากองค์กรและการดูแลจากนายจ้างทั้งเรื่องงานและส่วนตัว ส่วนแรงงานหนุ่มสาวจะสนใจเรื่องรายได้เป็นอันดับแรก และเรื่องความภักดีต่อองค์กรนั้น แรงงานหนุ่มสาวจะให้ความสำคัญแค่ 12% เท่านั้น แตกต่างจะแรงงานสูงวัยที่จะมีความภักดีต่อองค์กรถึง 73% จากงานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า องค์กรหรือผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงการบริหารแรงงานในสังกัดให้เหมาะสมแก่วัยต่างๆ ของแรงงาน โดยอันดับแรกต้องให้ความสำคัญว่าแรงงานที่มีอายุมากแล้วไม่ได้ไร้ค่า หากแต่ต้องวางตำแหน่งงานและหน้าที่ให้เหมาะสม โดยเป็นงานที่มีคุณค่า มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาเอื้อให้แรงงานสูงวัยเลือกเวลาทำงานได้ มีรายได้เหมาะสม และได้รับเกียรติจากองค์กร ส่วนในระยะยาวต้องวางแผนรักษาและเสริมศักยภาพให้แรงงานหนุ่มสาวในเวลานี้ เพื่อที่อนาคตจะก้าวเป็นแรงงานสูงวัยที่ภักดีต่อองค์กร และยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้ต่อเนื่องแม้ว่าจะสูงวัยแล้วก็ตาม
|
|
จตุพร อินทรโสภา และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี |
|
|
@@@ หมี่กรอบ‘พรหมสร’ รวมพลังหญิงสูงวัยสร้างอาชีพ หมี่กรอบ แบรนด์ “พรหมสร” จ.กาญจนบุรี ได้แสดงให้เห็นว่า แรงงานสูงวัย แถมการศึกษาต่ำ สามารถทำงานได้ดีเช่นกันหากได้รับการจัดวางตำแหน่งหน้าที่ให้เหมาะสม จตุพร อินทรโสภา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เล่าว่า เริ่มรวมกลุ่มสร้างอาชีพเมื่อ พ.ศ. 2541 เพราะอยากจะหาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยแรงงานผลิต ล้วนเป็นแม่บ้านสูงอายุในท้องถิ่น ที่เดิมจะไม่มีอาชีพอย่างจริงจัง ซึ่งการดึงมาทำงาน จะช่วยสร้างสังคมชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น เพราะแต่ละครอบครัวจะมีรายได้เพิ่ม และผู้สูงอายุยังได้ทำกิจกรรมยามว่าง เนื่องจากแรงงานผลิตต่างเป็นแม่บ้านสูงวัยเลยเกษียณไปแล้ว แถมการศึกษาไม่เกินประถม 4 เมื่อต้องมาผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสูงนั้น จตุพรจะใช้วิธีค่อยๆ บอกทีละขั้นตอน และให้ทำบ่อยๆ จนเกิดการจดจำและชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ต้องเลือกแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับร่างกาย ซึ่งผู้สูงอายุอาจจะเรียนรู้ยาก และทำงานได้ช้ากว่าหนุ่มสาว แต่สิ่งที่ได้ทดแทนคือ ความตั้งอกตั้งใจ พิถีพิถัน และความมีวินัยที่สูงกว่ามาก “ผู้สูงอายุที่มาทำงานทุกคนมีความตั้งใจสูงมาก ซึ่งความผิดพลาดในระยะแรกต้องมีบ้างเป็นธรรมดา แต่ดิฉันจะอาศัยการอธิบายอย่างช้าๆ และให้แต่ละท่านลงมือปฏิบัติจริง ทำบ่อยๆ จนเกิดการเรียนรู้และจดจำด้วยตัวเอง ซึ่งการใช้แรงงานผู้สูงอายุช่วยให้ท่านมีความสุข ไม่เครียด ไม่เหงา และรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ได้ทำงานอยู่ในชุมชนบ้านเกิด ใกล้ชิดครอบครัว ซึ่งนอกจากประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางสังคมด้วย” ประธานวิสาหกิจฯ กล่าว
@@@ เผยพฤติกรรมกลุ่มผู้สูงอายุ จากที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า โครงการ K SME ธนาคารกสิกรไทย ได้เผยบทความการวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างมีชั้นเชิง ได้แก่ 1. มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุไม่ต้องดูแลใคร จึงทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น ข้อนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเจาะตลาดได้สำเร็จ 2. ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เพราะเทคโนโลยีทำให้สามารถติดต่อกันได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันง่ายขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุจึงมีความต้องการแบรนด์ใหม่ๆ แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่ดูน่าเชื่อถือ จะช่วยให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น 3. ชอบความรวดเร็วและเน้นความสะดวกสบาย กลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่ หัวใจยังวัยรุ่น จึงชอบความสะดวกรวดเร็วและการบริการที่ดี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะดึงดูดให้กลุ่มผู้สูงอายุเลือกซื้อได้มากกว่าสินค้าที่ใช้งานยากหรือบริการที่ต้องใช้เวลานาน 4. ใส่ใจดูแลสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่มีทั้งความรู้และกำลังทรัพย์ จึงให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น สินค้าสุขภาพที่มีโอกาสเปิดตลาด ได้แก่ อาหารแปรรูป โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ที่รองรับสรีระและมีความปลอดภัยในการใช้งาน สินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางออร์แกนิกที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพร เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี เครื่องมือที่ใช้ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งบ้านที่มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน ทั้งนี้ K SME ระบุด้วยว่า ธุรกิจระดับเอสเอ็มอีมีโอกาสเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุไม่น้อยไปกว่าแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวรับโอกาสได้ไวกว่า เพียงแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจโดยการจับแค่ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้และแบรนด์ใหญ่ก็ทำเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรทำคือ ต้องทำในสิ่งที่มากกว่าความต้องการพื้นฐาน ซึ่งตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องหาสิ่งนั้นให้เจอ โดยอาศัยการฟังเสียงผู้บริโภคให้มากขึ้น
|
|
ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช |
|
|
@@@ ฉายกลยุทธ์การตลาดรับเปลี่ยนสู่ Ageing Society ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ เรื่อง “DEMOGRAPHIC DISRUPTION” get your company ready for the future ซึ่งเป็นหนังสือที่ชี้ปัญหาการหยุดชะงักของประชากรวัยแรงงาน และการเตรียมพร้อมของภาคธุรกิจในอนาคตว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะประเทศไทยต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแน่นอน คนทำธุรกิจต้องตระหนักว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ภาพที่จะเห็นอีก 20-30 ปีข้างหน้าคือ ประชากรผู้สูงอายุทั้งโลก เกินกว่า 2,000 ล้านคน หรือเมื่อมีคนเดินมา 3 คน จะต้องมี 1 ใน 3 คนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปแล้ว ฉะนั้น เอสเอ็มอีในปัจจุบันต้องมองให้เห็นภาพนี้เสียก่อน แล้วปรับความคิดว่านี่เป็นโอกาสของธุรกิจที่จะหาช่องว่างของธุรกิจให้เจอ “ผมมองว่านี่เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีมากกว่าความเสี่ยง เพราะเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าองค์กรใหญ่ ถ้าสามารถจะคิดผลิตสินค้าหรือบริการที่จะตอบเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น บริการสุขภาพต่างๆ แทนที่จะให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ อาจจะมีบริการดีลิเวอรีถึงที่บ้านสำหรับผู้สูงวัย” ดร.ชัยพงษ์กล่าว ทั้งนี้ สำหรับเอสเอ็มอีในการวางกลยุทธ์การตลาดเพื่อจับเทรนด์ผู้สูงอายุ แนะนำว่าควรจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาจากธุรกิจของตัวเองว่าสามารถจะปรับเข้าเทรนด์ Ageing Society ได้อย่างไร จากนั้นเริ่มกระบวนการคิดที่จะสร้างสินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมเพื่อรองรับลูกค้าที่จะสูงอายุเป็นช่วงวัย เช่น สำหรับผู้จะสูงอายุแล้ว สำหรับผู้จะสูงอายุในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หรือสำหรับผู้จะสูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เป็นต้น เหล่านี้จะช่วยให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงและชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงหากเป็นเอสเอ็มอีหน้าใหม่หรือรายเล็กๆ รวมถึงเป็นผู้สูงอายุที่จะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ อาจจะทำธุรกิจที่มีต้นทุนถาวร (fixed cost) ไม่สูงมาก เพราะจะได้ผลตอบแทนกลับคืนเร็วกว่า และมีความเสี่ยงต่ำกว่าด้วย @@@@@@@@@@@@@@@@ จากข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ระบุข้อเท็จจริงที่หนีไม่พ้น คือ อย่างไรเสียประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่สภาวะ “สังคมผู้สูงอายุ” แน่นอน ดังนั้น คำตอบของคำถามว่า “สังคมผู้สูงอายุจะเป็นโอกาสหรืออันตรายสำหรับเอสเอ็มอีไทยนั้น?” จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะ “เตรียมตัวได้ดี และได้พร้อมมากน้อยแค่ไหน” หากสามารถพัฒนาศักยภาพให้พร้อม และแสวงหาช่องทางต่อยอดจากสภาพสังคมที่จะเกิดขึ้นได้ เรื่องของ “อายุ” ก็คงเป็นเพียงเรื่องของตัวเลขเท่านั้น
|
|
|
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส