จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อาจจะไม่ใช่ปีที่โดดเด่นแต่ 2016 ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์มากมาย และมีข่าวอื้อฉาวมากพอๆ กับข่าวที่ถูกนำเสนอออกมาในแง่ดี ส่วนจะมีอะไรบ้าง เราขอสรุปประเด็นข่าวที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปีนี้ออกมาให้รับทราบกัน
|
1.ถึงคราวญี่ปุ่นอื้อฉาว หลังจากคดีทุจริตการปล่อยมลพิษ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Dieselgate ที่เกิดขึ้นกับ โฟล์คสวาเกน ยังไม่ทันจางหายไป ก็เกิดความอื้อฉาวในเรื่องของการโกงเกี่ยวกับตัวเลขอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาอีกระลอก และคราวนี้ย้ายฝั่งมาที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อทั้งมิตซูบิชิ และซูซูกิ ต่างออกมายอมรับว่าตัวเองโกงในเรื่องของการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่ขายอยู่ในญี่ปุ่น รถยนต์ที่ตกเป็นข่าวมี 4 รุ่น คือ eK Wagon และ eK Space ของ มิตซูบิชิ ส่วนอีก 2 รุ่นที่เหลือ Dayz และ Dayz Roox เป็นการรับผลิตให้ นิสสัน โดยความมาแดงเอาตอนที่เจ้าหน้าที่ นิสสัน เป็นฝ่ายแจ้งว่าตัวเลขประสิทธิภาพการทดสอบในด้านความประหยัดน้ำมันไม่ตรงตามตัวเลขที่แจ้ง พร้อมขอให้ มิตซูบิชิ ตรวจการทดสอบแรงต้านทานการหมุนอีกครั้ง และผลการสอบสวนภายในพวกเขาพบการกระทำที่ไม่เหมาะสมของผู้เกี่ยวข้อง โดยสื่อต่างประเทศสรุปว่าเป็นการปรับความดันลมยางเพื่อให้รถมีตัวเลขประหยัดน้ำมันดีกว่าความเป็นจริง ขณะที่ทาง ซูซูกิ นั้น มีการระบุว่าได้ใช้การทดสอบทั้งความประหยัดน้ำมัน และระดับมลพิษผิดวิธีมาตั้งแต่ปี 2010 และมีรถยนต์มากกว่า 2.1 ล้านคันที่ขายอยู่ในตลาดญี่ปุ่น และตลาดโลกได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยในระหว่างการทดสอบ ทาง ซูซูกิได้นำข้อมูลที่ได้จากยาง เบรก และระบบส่งกำลัง ก่อนที่จะนำมาคำนวนโดยอ้างอิงจากผลการทดสอบแรงต้านของอากาศที่เกิดขึ้นในอุโมงค์ลม ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดจากข้อกำหนดของทางภาครัฐ
|
2. Takata ยังพ่นพิษต่อเนื่อง บริษัทผู้ผลิตถุงลมนิรภัยอย่าง "Takata" ยังทำให้บรรดาลูกค้าที่เป็นบริษัทรถยนต์ต้องปวดหัวกันต่อ จนกลายเป็นการเรียกคืนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยทางบริษัทตกลงสัญญากับเจ้าหน้าที่ควบคุมกฎความปลอดภัยของสำนักงานความปลอดภัยทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Highway Traffic Safety Administration - NHTSA) เรียกรถยนต์อีก 35-40 ล้านคัน กลับมาแก้ไขถุงลมนิรภัยที่พวกเขาเป็นผู้ผลิต การเรียกคืนรถยนต์เพื่อมาแก้ไขปัญหาการทำงานของถุงลมนิรภัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บอีกราว 100 คนในประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2013 ถึงตอนนี้มีรถยนต์ถูกเรียกเข้ามาแก้ไขแล้ว 24 ล้านคัน โดยการประกาศรอบล่าสุดนี้จะแบ่งการเรียกคืนรถยนต์เป็น 5 ระยะที่มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2019
|
3.นิสสัน ซื้อหุ้น มิตซูบิชิ ในที่สุด นิสสัน ก็ปิดดีลและทำให้ข่าวลือกลายเป็นความจริงหลังจากจบงานปารีส มอเตอร์โชว์ 2016 พวกเขาประกาศซื้อหุ้นจำนวน 34% ของ มิตซูบิชิ ซึ่งสื่อต่างประเทศรายงานว่าในการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้มีมูลค่า 2,300 ล้านดอลล่าร์ (ราว 8.05 หมื่นล้านบาท) และผลคือทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ด้วยยอดผลิตรวม 10 ล้านคัน ในช่วงปีงบประมาณ 2016 การควบรวมครั้งนี้ คาร์ลอส กอส์น อดีตบอสใหญ่ของ เรโนลต์-นิสสัน Alliance มองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจะช่วยทำให้การทำงานในทุกด้านง่ายขึ้น โดยเฉพาะทางนิสสันและมิตซูบิชิมีความใกล้ชิดในการทำงานมานานกว่า 17 ปีแล้ว และมีการแชร์รถยนต์หลายรุ่นในการทำตลาดญี่ปุ่น
|
4.สุดท้ายก็ไปไม่รอด ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 โตโยต้า มีความกังวลอย่างมากในเรื่องของการขาดตอนของลูกค้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของพวก Gen Y ที่กำลังเติบโตและกลายมาเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของทุกผลิตภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือที่มาของการก่อตั้งแบรนด์ที่ 3 อย่าง Scion ขึ้นมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อในการส่งผ่านลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นมาสู่แบรนด์ในระดับต่อมาอย่าง โตโยต้า และ เลกซัส แต่สุดท้าย Scion ก็ไปไม่รอด โตโยต้า จึงประกาศยกเลิกการทำตลาดของแบรนด์นี้ไปแล้ว เพราะยอดขายที่ร่วงระนาว และการที่ Scion ไม่ใช่ของใหม่จริง เพราะเป็นการนำรถยนต์ JDM (Japanese Domestic Market ) หรือ รถที่จำหน่ายในญี่ปุ่นเท่านั้นมาทำใหม่แล้วขาย (เดินตามรอยเดียวกับ เลกซัส ) ซึ่งนั่นทำให้ Gen Y ที่ไม่ประทับใจในความ “แก่” ของตัวรถจากโตโยต้า ทำให้ Scion เป็นรองแบรนด์อย่าง เกียร์ และ ฮุนได
|
5.ช่วงล่างสนั่นโลก เรื่องราวของการทำ “Moose Test” (จำลองหักหลบกวาง Moose ที่โผล่ออกมาบนถนนในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย) ที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Teknikens Värld นิตยสารรถยนต์ในประเทศสวีเดนที่ทำให้ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว กลายเป็นข่าวดังทั่วโลก เพราะตัวรถสอบตกการทดสอบ แถมยังเกือบคว่ำอีกด้วย ในขณะที่บรรดาคู่แข่งผ่านฉลุย นอกจากนั้นเรื่องคงไม่ดังมากขึ้น หากสิ่งนี้เหมือนกับ Déjà vu เพราะตอนที่ “วีโก” เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2010 และทดสอบแบบนี้ก็เกิดสภาพเดียวกันจนหลายคนต้องตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานช่วงล่างของแบรนด์ดังจากญี่ปุ่น |
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส