จากประชาชาติธุรกิจ
การรวมกลุ่มและขายข้าวโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งตรงจากมือชาวนาถึงผู้บริโภคตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2559 นั้นเป็นผลพวงมาจากการปลุกประแสในโลกออนไลน์ "ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ" ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตั้งเต็นท์ให้ชาวนานำข้าวสารมาขาย เป็นการเปลี่ยนแนวคิดเดิม ๆ จากการนำข้าวเปลือกไปขายให้โรงสี เปลี่ยนเป็นสีข้าวขายเอง ส่งตรงจากมือชาวนาถึงผู้บริโภค ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตัวในวงกว้างไปในทุกวงการ
ตลอดระยะเวลากว่า 50 วัน ที่ชาวนาลุกขึ้นมาสีข้าวและขายเองให้กับผู้บริโภคโดยตรง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ชาวนาได้เรียนรู้การทำตลาด บรรดาผู้บริโภค และคนกรุงก็ได้มีโอกาสรับประทานข้าวที่สดใหม่ ไม่รมยา และ "ข้าว" ก็ได้กลายเป็นของขวัญของฝากยอดฮิตในช่วงเทศกาลปีใหม่
แต่ปรากฏการณ์นี้จะยั่งยืนแค่ไหน และทำให้เกิดช่องทางการจำหน่ายที่ถาวรได้อย่างไรสำหรับชาวนาไทย
"เดชรัต สุขกำเนิด" หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 50 วันดังกล่าวว่า ราคาข้าวเริ่มขยับขึ้น หากย้อนกลับไปวันที่ 24 ต.ค. 59 ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 15% อยู่ที่ 9 บาท/กก. ขณะที่ราคาหน้าโรงสี 19-20 บาท/กก. ส่วนราคาส่งออก 25 บาท/กก. แต่ราคาข้าวหอมมะลิที่จำหน่ายภายในประเทศสูงถึง 38-40 บาท/กก.
หากชาวนาขายเองที่ราคา 35 บาท/กก. เมื่อหักค่าขนส่ง 5 บาท และค่าใช้จ่ายในการสีข้าวอีกส่วนหนึ่ง ชาวนาน่าจะได้ราคาข้าวเปลือกที่ 15 บาท/กก. หรือ 15,000 บาท/ตัน
ขณะที่วงจรราคาข้าวโดยปกติทุกปีจะเริ่มตกต่ำตั้งแต่เดือน ก.ย. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ขายข้าวรอบที่แล้ว ส่วนเดือน ต.ค. ข้าวรอบใหม่จะเริ่มออกมา ราคาก็จะเริ่มลดลง จนกระทั่งต่ำสุดเดือน ธ.ค. และเมื่อเข้าสู่เดือน ม.ค. ราคาข้าวก็จะกลับขึ้นมาอีกครั้ง
แม้ว่าราคาข้าวจะตกแค่ 3 เดือน แต่เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาส่วนใหญ่ขายข้าวพอดี ขณะที่ปีนี้ นอกจากราคาจะตกตามกลไกตลาดแล้ว ไทยยังส่งออกข้าวได้น้อย รวมถึงสต๊อกข้าวในตลาดโลกมีค่อนข้างเยอะ จึงทำให้ราคาข้าวตกลงมาก
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ราคาข้าวสารหอมมะลิในลักษณะ "ขายส่ง" แทบจะคงที่ เช่นเดียวกับ "ข้าวสารขาว" โดยในช่วงสัปดาห์แรกที่ชาวนาออกมาขายข้าว (24-30 ต.ค.59) ราคาข้าวสารลดลงเพียง 1% แต่ราคาข้าวเปลือกลดลงเกือบ 9% ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกลไกตลาด แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา เมื่อชาวนารู้สึกว่าข้าวจะราคาตก ก็จะรีบขายข้าวทันที ในส่วนของพ่อค้านั้น เมื่อรู้ว่ากระแสราคาจะตก ก็เตรียมกดราคาซื้อทันทีเช่นกัน และสาเหตุนี้คือสิ่งที่เราพยายามหยุด
อาจารย์เดชรัตกล่าวอีกว่า ม.เกษตรศาสตร์ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวนาขายข้าว 3 รอบ และได้มีการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งพบว่าผู้บริโภคค่อนข้างมั่นใจที่จะซื้อข้าวของชาวนา แต่จะคำนึงถึงคุณภาพข้าวอย่างมาก รวมถึงจะมีการไต่ถามรายละเอียดและเรื่องราวของชาวนาด้วย
สำหรับชาวนาก็ได้เรียนรู้ว่า ผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลายแบบ และเกิดการปรับตัว เช่น รอบแรก ชาวนานำเฉพาะข้าวขาวมา แต่ตอนนี้มีข้าวชนิดอื่นด้วยเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น ข้าวกล้อง ไรซ์เบอร์รี่ หอมมะลิแดง เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มขนาดแพ็กเกจ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งขนาด 1, 3, 5 กิโลกรัม และจัดชุดของขวัญปีใหม่
นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังได้เรียนรู้อีกว่า ข้าวที่ชาวนาสีมาขายจะมีความแตกต่างจากข้าวถุงตามห้างสรรพสินค้า แม้ว่าข้าวชาวนาจะมีเมล็ดจะไม่สม่ำเสมอ แต่ในด้านของความหอม นุ่ม อร่อย และสดใหม่มีมากกว่า เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี รมยา หรือการอบลดความชื้น ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้กินแล้วก็จะรู้สึกถึงความแตกต่าง และมีการกลับมาซื้อซ้ำอีก รวมถึงการสั่งซื้อในปริมาณที่มากขึ้นด้วย บางรายมีการสั่งซื้อเป็นประจำแต่ก็ยังคงมีอุปสรรคปัญหาในเรื่องการกระจายสินค้า
อีกทั้งวันที่ 1 พ.ย. 59 รัฐบาลได้ออกมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2559 ถึง 2560 ซึ่งส่งผลให้ชาวนามี 2 ทางเลือก คือ เก็บข้าวไว้ขายเอง หรือจำนำยุ้งฉางกับรัฐบาล
แม้วันที่ 14 พ.ย. 59 ราคาข้าวเปลือกตกถึงจุดต่ำสุด 7,955 บาท/ตัน หลังจากนั้นราว 2 สัปดาห์ ก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ราคาดีดตัวขึ้นมาเป็น 8,300 8,700 และ 8,800 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจากการที่มีการเชิญชวนให้ชาวนาออกมาขายข้าวเอง และนโยบายของรัฐบาล ทำให้ราคาสูงขึ้นได้ และแปลกไปจากกลไกเดิมที่ราคาข้าวจะต่ำสุด ในเดือน ธ.ค. และกลับมาดีอีกครั้งในเดือน ม.ค. แต่ครั้งนี้ความพยายามของชาวนาและเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้ราคาเริ่มดีขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นมา
ขณะเดียวกัน ตอนที่เริ่มโครงการนั้น ราคา "ข้าวถุง" อยู่ที่ 40 บาท/กก. แต่ขณะนี้ลดลงเหลือ 28-30 บาท/กก. และยังมียักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกได้นำข้าวของชาวนาออกขายด้วยในราคา 25 บาท/กก. หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อาจจะเป็นข้อดี แต่ความเป็นจริงนั้นราคาข้าวสารบรรจุกระสอบใน กทม. ขายอยู่ที่ 23 บาท/กก. เท่ากับว่าเมื่อขายปลีกแทบจะไม่ได้กำไร แต่ยักษ์ใหญ่ยังคงต้องรักษาฐานตลาด หลังจากที่ฐานตลาดของชาวนาเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันการตลาดของชาวนามี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การขายตามจุดต่าง ๆ 2.การขายตามพื้นที่ที่บ้าน 3.การขายผ่านออนไลน์ และ 4.การขายเป็นลอตใหญ่ โดยทุกรูปแบบนั้นจะทำให้เกิดช่องทางการตลาดที่ถาวรได้ แม้ภาครัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ จะไม่ได้ช่วยเหลือเช่นวันนี้ แต่ทุกคนจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ราคาข้าวก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ ถ้าการทำนาปรังยังไม่ลดลง ปริมาณข้าวยังเกินอยู่ และยังมีข้าวในสต๊อกของรัฐบาลอีก ฉะนั้นถ้าทำนาปรังอีกก็จะทับถมกัน จึงอยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งการให้ชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นข้าวโพด อาจจะไม่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของชาวนา
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส