จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เผยตัวตน “วรรณประภา ตุงคะสมิต” หรือ ‘บัว สมิต’ นักตัดกระดาษมือวางอันดับต้นๆ เจ้าของภาพประกอบในหลากชิ้นงาน ทั้งในสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือ ผลงานของตนเอง เจ้าของรางวัล Cannes Lions ปีล่าสุด ที่เป็นเครื่องการันตีสำหรับชิ้นงานของเธอได้เต็มอย่างภาคภูมิ
|
จากความสนใจในงานศิลปะแบบดังกล่าว นำพาให้เธอได้เข้าสู่ศาสตร์แห่งการตัดกระดาษ ผ่านการฝึกปรือฝีมือพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาว่างจากการทำงานประจำ และจากการลงลึกในรายละเอียดนี่เอง ก็ทำให้เธอกล้าๆ พอที่จะเผยโฉมผลงานของตัวเองผ่านทางโลกสังคมออนไลน์ ให้ผู้คนได้ชื่นชมผลงานและทำความรู้จักกับศาสตร์ของ ‘การตัดกระดาษ’ มากขึ้น จนกลายเป็นที่ยอมรับได้ในที่สุด
|
• ความสนใจแรกสุดของคุณกับงานตัดกระดาษมันเริ่มจากตรงไหน เราเริ่มมาจากงานคอลลาจ (ศิลปะแบบตัดแปะ) คือต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้เรียนศิลปะมา แต่มันเป็นความชอบ คือเราจะชอบงานอะไรพวกนี้มาตั้งนานแล้ว แต่ว่ายังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จากนั้นพอเราเรียนจบมาก็ทำงาน แต่ว่าช่วงว่างๆ ก็เริ่มหาอะไรทำ ก็ไปเจอพวกงานแบบนี้ เราก็ตัดแปะๆ เรื่อยมา จนผ่านระยะเวลามาซักระยะหนึ่ง ก็เริ่มไปสนใจงานเปเปอร์ คัท (งานตัดกระดาษแบบฉลุลาย) ซึ่งตอนที่เรารู้สึกเริ่มสนใจ เพราะว่าเวลาว่างก็จะค้นหางานสวยๆ แบบภาพประกอบ เราก็ไปเจองานชิ้นหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นฝรั่งหรือจีน เราก็เลยรู้สึกว่างานเขาสวยดี และก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำดู เพราะว่า มันใช้อุปกรณ์ไม่มาก มีแค่มีดคัตเตอร์และกระดาษก็ทำงานได้แล้ว ทีนี้ก็เลยเริ่มตัดกระดาษตั้งแต่นั้น เรารู้สึกว่าเราทำแล้ว ก็เลยทำมาเรื่อยๆ • ทำไมคุณถึงหลงใหลในการตัดกระดาษ น่าจะเป็นความสนุกนะ คือเรารู้สึกว่า เราได้เห็นงานของศิลปิน ที่เขาทำออกมาแล้วมันสวยมาก จนเรารู้สึกว่า มันกระทบใจเรา เหมือนกับมันไปสร้างจุดประกายอะไรบางอย่าง ทั้งๆ ที่เราไม่มีพื้นฐานอะไร แต่เราก็ดันคิดว่าเราทำได้ เราไม่ได้มองว่ามันยากไง เมื่อเทียบกับงานอื่นที่เรารู้สึกว่ามันยาก แต่อันนี้เรารู้สึกว่าเราพอจะทำได้ เราเลยรู้สึกว่าทำมัน แต่ไม่ใช่ว่าทำออกมาครั้งแรก แล้วมันจะดีนะ มันก็เหมือนกับเราบวกลบคูณหารตอนเด็กๆ ก็ค่อยๆ บวกได้ ลบได้ ต่อมาก็เริ่มคูณและหารได้ คือมันก็สั่งสมมาเรื่อยๆ คือฝึกๆ มาเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็มาจากความสนุกและความชอบล้วนๆ เลย เหมือนกับคนอื่นที่ชอบว่า ถ้าเขาชอบวาดสีน้ำ เขาอาจจะชอบสีน้ำ ชอบพู่กัน เวลาวาดลงไป มันจะให้ความรู้สึก นุ่ม ลื่น แต่ของเราจะเป็นแบบ พอได้ตัดหรือกรีด มันก็ทำให้เรารู้สึกดี ดูโรคจิตหน่อยๆ (หัวเราะเบาๆ)
|
• คุณเริ่มลงมือการตัดกระดาษอย่างจริงจังมาตั้งแต่เมื่อไหร่ น่าจะช่วงที่ทำงานมาประมาณสองปี สมัยเรียน เพราะว่าเราไม่ได้คิดว่าจะมาทำอะไรอย่างงี้ คือเราชอบงานศิลปะก็จริง แต่ว่า แค่วาดรูปเล่น ไม่ได้มาเจองานที่มีเทคนิคอะไรแบบนี้ เพราะว่าสมัยก่อนความสนใจก็ไม่ใช่แบบตอนนี้ คือเราเรียนสื่อสารมวลชน (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ซึ่งมันก็ไม่ได้มาทางศิลปะอะไรมาก แต่เผอิญว่าเราชอบทางพวก นิตยสาร ฝึกงานและเริ่มทำงานก็เริ่มทำด้านนี้ ทำพวกคอนเทนต์อะไรต่างๆ ซึ่งพอเราทำงานด้านนี้ เราก็จะได้เห็นในการทำ ภาพประกอบด้วย เพราะเราชอบดูด้วยไง มันก็เหมือนกับว่า ได้ซึมซับอะไรพวกนี้มา พอมันเป็นภาพประกอบมา มันไม่ใช่แค่วาดหรือกราฟฟิกเฉยๆ มันมีอย่างอื่นด้วย ซึ่งสมัยก่อน มันไม่ค่อยมีอะไรอย่างงี้ เรายังไม่เจอมัน แล้วอีกอย่าง เราไม่ได้แสวงหาด้วย เพราะรอบๆ ตัวเรา ก็ไม่ใช่ประเภททำงานศิลปะ สมัยเรียนก็จะเป็นแบบแวดวงช่างภาพ นักเขียน ทำหนัง จะเป็นแบบแค่เฉียดๆ แต่ไม่ได้เจอแบบปังๆ แถมอินเตอร์เน็ทตอนนั้น มันมีแต่ก็ไม่ได้แบบว่าขยันค้นหาได้ขนาดนั้น และสมัยนั้นก็ยังไม่มีแบบสตูดิโอแบบในตอนนี้ ช่วงนั้น มันก็จะเป็นงานแบบกราฟฟิกไปเลย ช่วงที่เรากำลังเห่อ อิลลาสเตเตอร์ หรือ โฟโต้ช็อป เราก็จะหัดทางด้านนี้มาหนักๆ ถือว่าอย่างดีก็เป็นพวกภาพเคลื่อนไหว เป็นหนังอะไรไป เราจะเป็นภาพเคลื่อนไหว ซะมากกว่า แต่พอช่วงฝึกงานเริ่มทำงาน ก็ได้เริ่มรู้จักคนอื่นๆ ในแวดวง เพราะว่า ทำงานนิตยสาร ก็ได้เจอคนเยอะไง มันหลากหลาย แทบทุกอาชีพ แล้วทีนี้คนที่อยู่รอบตัวเรา มันก็จะมีความคล้ายในแง่ที่ว่า ทุกคนจะชอบงานสายแบบนี้เหมือนกัน • คล้ายกับว่าเป็นกึ่งยุคแสวงหาส่วนหนึ่ง แล้วเข้าสมัยตัวเองด้วยมั้ย ก็ประมาณนั้น ถ้าเป็นยุคในสมัยเรียนนะ ก็เป็นยุคแบบอินดี้เฟื่องฟู ยุคหนังสือทำมือ ยุคงานแฟต เฟสติวัล ก็เป็นยุคที่สนุก เพราะว่า เหมือนเป็นยุคเริ่มที่มีตัวตน สามารถสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองได้ สามารถทำหนังสือทำมือของตัวเองก็ได้ เราจะรู้สึกว่าเราไม่กระแสหลัก เราจะมาทางสายอินดี้ประมาณนี้ ก็คือ คือจุดนั้นเหมือนว่ามันอยู่ในตัวมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ทีนี้พอมันได้เริ่มเจอคนนั้นคนนี้ เราได้เห็นงานคนอื่นมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ศิลปินในไทย เราก็ไปหาพวกฝรั่ง เราก็ดู ชอบไปเรื่อย จนเราได้เจอ ได้เห็นสิ่งนี้ แล้วเราได้เห็นงานเปเปอร์ คัต ที่เราเคยรู้จัก เราเคยเห็นแต่งานตัดกระดาษจีน เรารู้สึกว่ามันมีความจีนมาก คือมันชินจนเราไม่รู้สึกว่า มันสวยอะไร แต่ว่าพอเราไปเจองานฝรั่งบ้าง งานญี่ปุ่นบ้าง มันเหมือนรู้สึกว่า มันหลุดออกไปจากกรอบที่เราเคยเห็น ว่ามันจะต้องเป็นกระดาษแดงเท่านั้น คือศิลปินที่เจอคือมันหลากหลายมาก มันไม่ใช่แค่ตัดกระดาษแบนๆ ด้วยซ้ำ มีทั้งความเป็นประติมากรรมเยอะจนเรารู้สึกแบบนั้น
|
• ที่นี้พอเริ่มสนใจอย่างจริงจังแล้ว แน่นอนว่าก็ต้องมีอิทธิพลบ้าง ไม่ทราบว่าพอจะมีบ้างมั้ยครับ ถ้าศิลปินที่เราชอบ ก็มีหลายคน เช่น คุณ Rob Ryan ศิลปินตัดกระดาษชาวอังกฤษ ก็คือ งานเขาไม่ได้ใช้เทคนิคที่ตัดละเอียดอะไรนะ แต่เขาเล่าเรื่องเก่ง งานเขาจะเป็นสายเส้นเขาเอง เขาจะตัดภาพ แล้วมีข้อความนิดนึง แล้วเล่าเรื่องอะไรของเขา คือคนนี้เราชอบในความเข้าถึงของคนได้ดี คือไม่ได้ทำแบบวิลิศมาหรา แต่สามารถอยู่ได้ทุกที่ เช่นตัดเปเปอร์ คัต ซักลายหนึ่ง แล้วเอาลายที่เขาตัดมาทำเป็นผ้าพันคอ ไปปริ้นรูปลายบนจาน คือสามารถต่อยอดอะไรของเขาไปได้ เราเลยชอบคนนี้ แล้วก็ Bovey Lee ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน เขาจะมาในสายที่งานละเอียด ด้วยรากของเขาที่เป็นเชื้อสายจีน เขาก็จะใช้เทคนิคจีน แล้วมารวมกับงานคอลลาจ เป็นภาพแบบสมัยใหม่หน่อย และตัดด้วยกระดาษขาวล้วนๆ เราก็รู้สึกว่าตัดด้วยกระดาษขาวมันสวย แถมเทคนิคของเขาก็เนี้ยบมาก ตัดแบบน้ำตกเป็นเส้น งานสวย แล้วมีเทคนิคที่ดี อีกคนคือ Elsa Mora คนนี้จะใช้เทคนิคหลายๆ อย่าง ในงานของตัวเอง คืองานของเขาก็จะไม่ได้แบนราบ มันจะมีความนูน มีการตัดเชื่อมกัน ซึ่งคนนี้ก็เล่าเรื่องเก่งเหมือนกัน แต่การเล่าเรื่องของเขาจะไม่เรื่อง Rob Ryan ซึ่งจะเล่าผ่านทางข้อความ เขาจะมาแนวนิทาน เล่าเรื่อง แต่ Elsa จะเล่าด้วยอารมณ์ของงาน ซึ่งก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่งานของเขาจะมีความลึก แต่รายละเอียดของเขาดี ก็รู้สึกว่าเธอก็ให้อะไรเราหลายๆอย่างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ เทคนิคของงานที่เขาใช้ คือเข้าไปดูงานของเขาทีไร เราจะรู้สึกแบบ รู้สึกดีทุกครั้ง รู้สึกได้อะไรทุกครั้ง อิ่มเอม รู้สึกว่าเขาได้ทำอะไรใหม่ๆ ทุกครั้งเลย • พอคุณเริ่มเข้าถึงในการตัดกระดาษ ถือว่า ความรู้สึกตอนนั้น ถือว่าเป็นการคลั่งไคล้ประมาณนั้นมั้ย ก็ประมาณหนึ่งนะ เหมือนกับความรู้สึกว่า เราอยากอยู่กับมันไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่เบื่อ เพราะว่าโดยปกติ เราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่กับอะไรนานๆ เท่าไหร่ คือชอบไปนี่ไปในระยะหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไปชอบอย่างอื่น แต่พอมาทำอันนี้ มันทำให้เราได้อยู่กับมันได้มากขึ้น อยู่มาเรื่อยๆ อยู่มาจนถึงตอนนี้ยังไม่เลิกเลย แล้วประกอบว่า เราได้เห็นอะไรที่มันขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ใช่แค่ เปเปอร์ คัท แบนๆ ธรรมดา เราก็เห็นว่างานก็ไปได้ไกลจริงๆ อย่างที่บอกว่า เป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องตัดบนกระดาษก็ได้ ตัดบนใบไม้ก็ได้
ช่วงที่เริ่มใหม่ๆ นี่คือ ทำทุกวันเลย คือมันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่แบบเรามี บล็อกส่วนตัว แล้วเรารู้สึกว่า เราอยากจะให้มันมีความเคลื่อนไหวทุกวัน มีงานอวดชาวบ้านทุกวัน (หัวเราะ) เพราะว่าช่วงนั้นเราไปเจอเว็บฝรั่งเว็บหนึ่ง ชื่อ Illustrationfriday.com ซึ่งเว็บนี้ก็เหมือนว่าจะมีหัวข้อมาให้ทุกวันศุกร์ อะไรก็ได้ แล้วให้คนที่แบบทำงานศิลปะทั้งสมัครเล่นหรืออาชีพ ทำงาน แล้วลิงค์งานของตัวเองไปที่เว็บนี้ แล้วก็จะมีคนได้ดูเยอะมาก ทั่วโลก เขาก็ไม่ได้จำกัดว่าเราจะต้องวาดรูปเท่านั้น มันเป็นอะไรก็ได้ แต่เราจะเป็นสายกรุ๊ปว่า สีน้ำ แต่ทุกคนก็จะเห็นในหัวข้อเดียวกัน คือตอนนี้ก็สนุก เพราะเหมือนเราแบบ มีธีมทุกอาทิตย์ เราก็จะสนุกว่าอาทิตย์นี้เราจะทำธีมนก ก็ทำนกไป ธีมต่อไป เป็นความเศร้า ก็ทำไป เหมือนว่ามีคนมาเห็นมาดู ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝรั่ง เราก็รู้สึกดีที่สิ่งที่เราทำก็มีคนชอบ แล้วมีคนเห็น แล้วเราก็รู้สึกว่ากว้างขึ้นด้วย เพราะว่าได้ไปดูงานที่หลากหลายด้วย จากนอกเหนือที่เราทำ แล้วก็จะได้ไปเห็นคนที่ทำงานแบบเราว่าคนนี้แบบงานดี คือมันลิงค์ไปเรื่อยเลย ช่วงนั้นขยันมากทำทุกวัน เพราะว่ามันก็เป็นงานอดิเรกนะ
|
• หลักในการทำงานของคุณเป็นยังไงครับ ก็คิดก่อนว่าอยากที่จะทำอะไร เหมือนคนวาดรูป ว่าอยากที่จะทำอะไร เหมือนเรากำหนดธีม ให้ตัวเองนั่นแหละ เหมือนกับที่ทำในเว็บ พอเรากำหนดว่าอยากทำอะไรปุ๊บ เราอาจจะร่างภาพลงไป เสร็จแล้วเราก็ตัดตามนั้น คือจริงๆ ขั้นตอนก็แค่นี้แหละ แต่เราแค่วาดรูปไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้นไง คือหลังๆ ก็ใช้วิธี กึ่งวาด กึ่งถ่ายรูปแล้วเอามาไดคัทกระดาษ แล้วก็เอามาคอลลาจใน Photoshop มันก็เหมือนกับเอาสิ่งที่เราคอลลาจมา ซึ่งเป็นวิธีการมารวมกัน • อยากให้เล่าช่วงที่ไปทำงานจนทำให้รางวัลหน่อยครับ ว่าเป็นยังไงบ้าง ด้วยความที่เราทำงานเก็บเอาไว้แล้วมันก็ค่อนข้างเยอะและมันก็มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีลูกค้า มาจ้างทำนู่นนี่บ้าง แล้วมันมีอยู่ปีหนึ่ง ก่อนครั้งล่าสุด มันจะมีงานของ Ogilvi นี่แหละ ทำชื่อ Cut to Build คือเป็นงานกระดาษ ลูกค้าคือ cutter alpha เขาก็จะทำแบบชิ้นงานประกวดเป็นงานกระดาษนี่แหละ ปกติจะมีศิลปิน 1 คนทำงานหนึ่งชิ้น แล้วสเกลงานนี้ค่อนข้างเยอะแล้วใหญ่ คือศิลปินใหญ่เขาจะทำเป็นฉากอลังการมาก แต่บังเอิญว่าเขาไม่ถนัดในการทำงานรายละเอียดเล็กๆ หรือ อาจจะไม่ทันแล้ว คือมีเวลาทำไม่มากนัก เหมือนกับทางรีเจนซี่เขาติดต่อมา เผอิญช่วงนั้น มีเพื่อนที่ทำอยู่ในนั้นพอดี เขากำลังที่จะมาหาคนตรงนี้ เขาก็เหมือนแนะนำเราไปกับครีเอทีฟ มาคุยกันว่างานแบบนี้ทำได้มั้ย ซึ่งเราก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ เพราะว่าใหม่มาก และงานประกวดใหญ่โต ตอนนั้นก็คือ โอเค ลองดูแล้วกัน ก็เลยทำ ซึ่งงานนั้นก็เป็นงานแรกที่เราทำร่วมกับเอเจนซี่แล้วไปประกวด หลังจากนั้นก็มีงานของเอเจนซี่มาบ้าง แต่ว่าไม่ได้ตรงกับทักษะเรา เราก็แบบไม่ได้ทำตรงนั้น จนกระทั่งปีนี้ บังเอิญว่าตัวที่เขาคิดมา มันตรงกับทักษะเราพอดี แล้วมันตรงกับงานที่เรากำลังทำอยู่ด้วย ในแง่ของลักษณะงานที่เป็นชิ้นๆ งานฉลุ งานลาย งานรายละเอียด ซึ่งเราทำอยู่ แล้วมันตรงพอดี เราก็รับทำเลย
|
• โจทย์ที่ว่าเป็นยังไงครับ โจทย์ก็คือเขาอยากจะแสดงศักยภาพของกระดาษกันน้ำ ว่ามันสามารถกันน้ำได้ดีนะ เขาก็เลยคิดว่าเหมือนตัดกระดาษเป็นพวกคลื่นน้ำ แล้วก็ใส่ในตู้ปลา เติมน้ำลงไป แล้วก็มีปลาจริงๆ อยู่ในนั้น อันนี้คือเขาคิดมา เราก็ไปช่วยกันคิด และคุยกันว่า จะเป็นยังไง ดีไซน์จะเป็นแบบไหนดี เหมือนระดมความคิดประมาณนึง เราก็รับทำวางดีไซน์แต่ละตู้ว่าเป็นแบบนี้ๆ แล้วก็ลองส่งให้พี่เขาดูว่าโอเคมั้ย ถ้าเขาตกลง เราก็ตัดเลย ประมาณนั้น ระหว่างนั้นมันก็คือ แก้ปัญหากันไป เพราะว่า เราก็รู้ว่ากระดาษมันไม่ควรอยู่ใกล้น้ำ มันควรจะแห้ง แต่โจทย์ที่ว่าคือมันต้องแช่น้ำ เราก็เลยต้องไปหากระดาษของลูกค้านี่แหละ ว่ารุ่นไหนที่มันจะกันน้ำได้ ซึ่งไม่พอ มันจะต้องไม่หนากว่าที่เราจะตัดด้วย เพราะว่าเวลาแค่เดือนเดียวมันสั้นมาก แล้วตัด 5 ตู้ เพราะฉะนั้นมันไม่ควรที่จะตัดยาก เพราะเอาจริงๆ มันใช้เวลามาก คือปกติที่เราทำในแต่ละชิ้นจริงๆ มันใช้เวลา 3 เดือน แล้วก็คือตัดคนเดียว แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แก้ปัญหาตลอดเวลา ว่าใช้กระดาษอะไร ตัดยังไง เอาไป จัดวางข้างในยังไง ต้องใช้กาวหรือตัวยึดอะไร คือมันไม่ใช่แค่การตัดเฉยๆ แบบที่เราทำทุกวันแล้ว มันคือทุกอย่างคือเรื่องใหม่ แก้ปัญหา แล้วอีกอย่างคือ เวลาเดือนเดียว เราไม่มีสำรองเลย ทำแล้วทำเลย และแช่น้ำครั้งเดียวเลย คือถ้าหลุดก็จบเลย ซึ่งในระหว่างนั้น เราก็ทดสอบกับน้ำในระดับหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ได้ฟู เพราะว่าเราตัดได้แค่ชิ้นเดียว แล้วก็ไปลุ้นหน้างาน
|
• พอผลปรากฏว่าได้รางวัลมา ความรู้สึกเป็นยังไงครับ ดีใจ จริงๆ รู้สึกดีตั้งแต่ทำเสร็จแล้ว เพราะว่ามันเหนื่อย แล้วเราอยากทำให้มันเสร็จ คือมันไม่ใช่งานเราคนเดียว มันเป็นงานกลุ่ม แล้วมันเป็นงานที่ใหญ่ และมีความคาดหวังเยอะ พอทำแล้วอยากจะทำให้ดีและเสร็จ พอเสร็จแล้วทุกอย่างก็โล่ง หลังจากนั้นจะเป็นอะไรก็โอเคแล้ว พอได้รางวัลรู้สึกแฮปปี้นะ เหมือนได้โบนัส แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแจ๋วอะไร คือมันเป็นงานกลุ่มที่เราไปมีส่วนร่วม แล้วคนที่เป็นครีเอทีฟ คือเราขอบคุณที่คิดงานนี้ออกมา และขอบคุณที่ไว้ใจให้เราทำ ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม ขอบคุณทุกคนที่ทำงานมาด้วยกัน แล้วเรารู้สึกว่าพอได้รางวัลมา มันอารมณ์เหมือนเด็กแข่งกีฬาสีแล้วชนะ แบบวิ่งผลัด ทำอะไรด้วยกันแล้วมันชนะ เราแฮปปี้จัง แล้วก็คือหน้างานมันเป็นฝีมือเราจริงๆ คือคนจะรู้สึกแค่ว่าเราทำ แต่เราจะไม่สามารถมีภาพที่ดีขนาดนี้ได้ ถ้าไม่มีคนที่เขาช่วยเรา เราก็ถูลู่ถูกังไป เป็นงานที่เรารู้สึกขอบคุณมากค่ะ • จากการที่ได้รางวัลมา ถือว่าตัวเองเป็นนักตัดกระดาษอย่างเป็นทางการมั้ยครับ (นิ่งคิด) เอาจริงๆ ตอนนี้ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นแบบเต็มตัว หรือว่าอะไรขนาดนั้น เพราะเรายังรู้สึกว่า มันยังมีอะไรหลายๆ อย่างที่ยังทำไม่ได้ และก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่เรายังขาดอยู่ คือรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นเด็กฝึกงานตลอด เพราะเราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วอีกอย่างเราก็จะเริ่มเห็นงานคนอื่นๆ ที่ทำงานคล้ายๆ กัน ที่สวยหรือมีเทคนิคที่ดีกว่า เรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่หยุดอยู่กับที่ มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ต้องเรียนรู้กับมันไปเรื่อยๆ ตอนนี้อาจจะทำเป็นอาชีพ แต่ไม่ใช่แบบฉันคือประมาณนั้น เป็นนักเรียน เป็นเด็กฝึกงานมากกว่า
|
• เป้าหมายต่อไปของคุณครับ ก็ตัดกระดาษไปเรื่อยๆ นั่นแหละ (หัวเราะเบาๆ) คือไม่ได้มีเป้าหมายใหญ่หรอกนะ เพราะเราเป็นคนที่ไม่ได้คิดอะไรแบบไกลมาก คือชอบแค่ว่าวันนี้ตัดอะไร แล้วก็ตัดได้ดีและไม่ปวดหลังมากก็โอเคแล้ว (หัวเราะเบาๆ) คือหลังจากนั้นถ้ามันจะมีอะไรเข้ามา ก็ขอให้มีสิ่งที่มีโอกาสดีเข้ามา แล้วเราพร้อมที่จะทำ ดีกว่ามีโอกาสแล้วเราไม่พร้อม ด้วยทักษะหรือสุขภาพที่ไม่พร้อม โอกาสที่มาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าตัวเราไม่พร้อม แล้วโอกาสมันมา แล้วเราทำ มันก็ทำไม่ได้ดี แล้วมันก็บั่นทอนเรา สู้ว่าเราประคองตัวเองไปให้ได้ในระดับหนึ่ง คือไม่สุดโต่งมากเกินไป คือเราทำงานของเราไปเรื่อยๆ ส่งไปให้คนอื่นเขาดูบ้าง ชวนให้คนอื่นมาเห็นเราบ้าง คือทำในโลกออนไลน์อะไรก็ว่าไป ก็ทำพอร์ทของเราไปทุกวันๆ มันก็ยังมีคนที่เข้ามาดู อย่างน้อยๆ แค่เขารู้สึกว่า เขาดูงานเราแล้วสบายใจ ก็โอเคแล้วนะ ไม่ต้องไปแบบเป็นแรงบันดาลใจหรอก แต่ถ้าได้มันก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ขอแค่เห็นแล้ว สบายใจ ไม่ใช่ดูแล้วเหนื่อยใจ แค่นั้นก็พอแล้ว
|
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช ภาพ : วรวิทย์ พาณิชนันท์ |
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส