สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลาว ลุยสร้าง เขื่อนปากแบง เวียดนาม-กัมพูชา รับกรรม

จากประชาชาติธุรกิจ

การเดินหน้ารักษาสถานะการเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" ของ สปป.ลาวนั่นว่ายากแล้ว แต่การเดินหน้าพัฒนาประเทศให้ควบคู่กับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีนั้นอาจลำบากยิ่งกว่า เพราะการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าของ สปป.ลาวไม่เพียงแต่สร้างความไม่พอใจต่อประชาชน ยังสร้างข้อกังขาให้กับนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและประเทศร่วมชะตากรรมที่ใช้สายน้ำโขงเดียวกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้รัฐบาล สปป.ลาวได้แจ้งต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) องค์กรบริหารจัดการแม่น้ำร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และไทย ว่ามีโครงการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีกแห่งหนึ่งบนลำน้ำโขง คือ "เขื่อนปากแบง" ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนยักษ์แห่งที่ 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน

กรณีการสร้าง "เขื่อนไชยะบุรี" และ "เขื่อนดอนสะโฮง" ของรัฐบาล สปป.ลาว เคยมีเสียงคัดค้านเช่นเดียวกันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในแม่น้ำ ซึ่งท้ายที่สุดเสียงคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และประเทศอื่น ๆ ก็ไม่มีผลใด ๆ




พลังความไม่พอใจของประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขง และกลุ่มนักเคลื่อนไหวเริ่มมีแรงกระเพื่อมอีกครั้ง หลังจากหนังสือพิมพ์ "เวียงจันทน์ไทมส์" รายงานว่า นักลงทุนเกาหลีใต้แสดงความสนใจเข้าลงทุนด้าน "พลังงาน" ใน สปป.ลาว หลังเห็นว่าผลการลงทุนในภาคธุรกิจนี้ให้ผลตอบแทนดี โดย นายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป.ลาวกล่าวว่า รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมย้ำว่ากลยุทธ์ของภาคพลังงาน คือการพัฒนาศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยจะต้องมีความยั่งยืนทั้งด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคม

การส่งสัญญาณของเอกชนจากเกาหลีใต้ที่แสดงความหวังว่า การก่อสร้างเขื่อนที่ 3 บริเวณลำน้ำโขงของรัฐบาล สปป.ลาวจะเป็นจริงเร็วขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า นักธุรกิจจากแดนโสมขาวอาจโดดเข้าร่วมการพัฒนาโครงการดังกล่าว แม้ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน

โดยวีโอเอภาษาลาวรายงานว่า รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จะเริ่มเตรียมงานสำหรับโครงการเขื่อนปากแบง ขนาดกำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ ในแขวงอุดมไชย พร้อมมีแผนว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2560

การส่งออกไฟฟ้าจากเขื่อนเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง โครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรดแมปการสร้างเขื่อนอีก 9 แห่ง บนแม่น้ำโขง เพื่อมุ่งส่งออกกระแสไฟฟ้าให้ได้มากขึ้น แม้ประเทศคู่ค้าหลักของ สปป.ลาวมีเพียงประเทศไทยเท่านั้น

ขณะที่ นางเมารีน แฮร์ริส ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำสากล ระบุว่า เขื่อนเหล่านี้จะทำลายการประมงและพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ปากแม่น้ำ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านชีวิตในภูมิภาค อันเป็นผลกระทบที่รุนแรงที่สุดต่อประเทศปลายน้ำ ได้แก่ กัมพูชาและเวียดนาม ที่ในเวลานี้พื้นที่เหล่านั้นได้รับแรงกดดันจากเขื่อนหลายสิบแห่งที่สร้างขึ้นบนสาขาของแม่น้ำโขงอยู่แล้ว

"การสร้างเขื่อนนอกจากจะเป็นอันตรายต่อการทำประมงอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารด้วย"

ขณะที่ เหวียน ถิ ฮง วัน ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม ระบุว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของลาวและอีก 6 เขื่อนที่สร้างขึ้นในประเทศจีน ซึ่งห่างออกไป 4,300 กิโลเมตร จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงถึงที่สุด โดยเฉพาะ สปป.ลาวที่อาจสร้างเขื่อนมากเกินไป และจบลงด้วยการมีพลังงานไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะแผนของรัฐบาล สปป.ลาวไม่ได้พิจารณาการพัฒนาพลังงานระยะยาวในภูมิภาค

"รัฐบาลควรร่างแผนแม่บทสำหรับความมั่นคงทางพลังงานสำหรับประเทศและภูมิภาคการลงทุนเขื่อนไฟฟ้าโดยไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบทางสังคมต่อประเทศอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำ ถือเป็นแผนการที่เห็นแก่ตัว ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้"

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดรายงาน "แม่น้ำโขงในเชิงเศรษฐกิจ" ระบุว่า การทำประมงในแม่น้ำโขงมีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบในอนุภาคลุ่มน้ำโขงล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนั้นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลด้านลบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างความเสียหายในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงเช่นการผลิตข้าวของเวียดนามจะลดลงอย่างมาก เพราะเขื่อนที่ สปป.ลาววางแผนสร้างจะดักจับตะกอน สารอาหารที่ไหลลงมายังปลายน้ำจะลดลง ทั้งยังทำให้จำนวนปลาลดลงจากการถูกขัดขวางในการอพยพย้ายถิ่นเพื่อขยายพันธุ์ด้วย ทั้งยังประเมินว่า การทำประมงและการเกษตรจะมีความสูญเสียมากกว่า 760 ล้านดอลลาร์ต่อปีในเวียดนาม และ 450 ล้านดอลลาร์ในกัมพูชา

น่าคิดว่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน ลำน้ำโขงที่เคยเป็นหนึ่งในระบบแม่น้ำเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันโครงการพัฒนาที่ครอบคลุมพื้นที่ ไม่เพียงแต่การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่ยังมีโครงการทำเหมืองทรายในร่องน้ำ และการชลประทาน ที่ล้วนมุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้คุณภาพของแม่น้ำโขงลดลง พื้นที่โดยรอบประสบภาวะภัยแล้งเลวร้ายที่สุดในประวัติการณ์ รวมถึงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งเช่นกัน

ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างตำหนิถึงบทบาทของ "คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง" (MRC) ว่าไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นความร่วมมือจาก 4 ประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่เคยเกิด "เอกภาพ" ในข้อตกลงร่วมกันโดยแท้ ความกังวลเหล่านี้อาจทวีไปสู่ระดับความร่วมมือของทั้งภูมิภาค ดังนั้นสิ่งที่จะทำได้ในเวลานี้คือ "การถ่วงเวลา" ในการให้คำปรึกษาและศึกษาโครงการสร้างเขื่อนปากแบง พร้อมโน้มน้าวให้ผู้ออกนโยบายพิจารณาถึงผลกระทบระยะยาวมากขึ้น


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ลาว ลุยสร้าง เขื่อนปากแบง เวียดนาม-กัมพูชา รับกรรม

view