จากประชาชาติธุรกิจ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศเม็กซิโกได้แจ้งให้ไทยรับทราบว่าได้ยกเลิกประกาศห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศไทยแล้ว โดยเป็นประเทศเดียวที่ได้ระงับการนำเข้าไปตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากไทยมีปัญหาการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน (อีเอ็มเอส) อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากรมประมงได้แก้ไขพร้อมทั้งปรับปรุงการเลี้ยงด้วยระบบชีวภาพ ทำให้ในปัจจุบันการสามารถควบคุมการเลี้ยงกุ้งปลอดจากโรคอีเอ็มเอสมากขึ้น ดังนั้นในเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา จึงเชิญเจ้าหน้าที่จากเม็กซิโกมาตรวจประเมินระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของกรมประมง รวมทั้งโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งผลการพิจารณาทางเม็กซิโกพอใจและเชื่อมั่นในการดำเนินการของไทย จึงอนุญาตให้ไทยส่งออกกุ้งได้
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ เม็กซิโกมีเงื่อนไขให้ไทยปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัย การส่งออกกุ้งแช่แข็ง และกุ้งแช่เย็น หรือกุ้งปรุงสุก ลูกปลานิล และสินค้าอาหาร จะต้องส่งตัวอย่างใบรับรองสุขอนามัยของสินค้าต่างๆ ภายใน 15 วัน ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการไปแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกกุ้งได้เพิ่มขึ้นอีกทั้งยังเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กับสินค้ากุ้งด้วย
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เมื่อทางเม็กซิโกส่งหนังสือตอบรับกลับมายังกรมประมง ผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งได้ทันที คาดว่าล็อตแรกจะสามารถส่งออกได้ประมาณเดือนมกราคม 2560 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้เม็กซิโกจะนำเข้ากุ้งจากไทยไม่มาก ประมาณปีละ 100 ล้านตัน มูลค่า 69 ล้านบาท แต่การยกเลิกประกาศครั้งนี้จะส่งผลต่อภาพพจน์การผลิตกุ้งของไทยในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการยอมรับระบบการควบคุมการเลี้ยงที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ส่งผลให้ในปีนี้ไทยมีผลผลิตกุ้งสูงถึง 3 แสนตัน เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา 20%
“อัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตกุ้งดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คือไม่รวดเร็วเกินไป ทำให้ไม่เป็นปัญหาด้านการตลาด ซึ่งกรมประมงไม่มุ่งหวังให้การผลิตกุ้งของไทยมากถึง 5 แสนตัน ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนเกิดการระบาดอีเอ็มเอส เพราะกุ้งที่มากเกินไปจะทำให้ราคาตกต่ำได้ อีกทั้งไทยเสียตลาดไปมากในช่วงที่ไม่มีกุ้งจำหน่าย” นางอุมาพร กล่าว
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่ผลิตกุ้งได้เช่นเดียวกับไทย การระงับการนำเข้ากุ้งช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้น เพราะมีความกังวลว่าจะส่งผลให้กุ้งที่ผลิตได้ในประเทศได้รับความเสียหายไปด้วย ในขณะที่การเปิดตลาดครั้งนี้ ไทยไม่ได้หวังจะส่งออกกุ้งได้มากขึ้น แต่จะส่งผลให้ภาพพจน์กุ้งของไทยดีขึ้น และทั่วโลกเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตกุ้งของไทย ที่อยู่ปัจจุบันในช่วงทวงคืนตลาด
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส