จากประชาชาติธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
มจธ.ห่วงสารพิษตกค้าง ในดินและน้ำ จากการย้อมผ้า ล่าสุดจัดทำเครื่องบำบัดหมุนเวียนน้ำทิ้งจากการย้อมผ้า พร้อมให้บริการจุดย้อมผ้าถวายเป็นพระราชกุศล พร้อมแนะนำประชาชนหากใช้สีย้อมจากธรรมชาติจะดีที่สุด
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ในช่วงเวลาแห่งการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ มีหน่วยงานจิตอาสาต่างๆ รับย้อมผ้าสีดำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีเสื้อผ้าสีดำสวมใส่ตลอดระยะเวลานี้ และมีราคาที่ประหยัด ประกอบกับได้รับการติดต่อประสานงานจากสำนักงานระบายน้ำของกทม.และสมาคมสร้างสรรค์ไทยหรือ “ตาวิเศษ” ให้ช่วยคิดวิธีการที่จะจัดการบำบัดน้ำเสียจากการย้อมผ้าโดยไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม่น้ำลำคลอง ซึ่งล่าสุดมีอาจารย์ และนักศึกษาที่มีจิตอาสาได้ร่วมกัน พัฒนาถังบำบัดน้ำเสียที่ปนเปื้อนสีย้อมผ้า และเตรียมที่จะนำไปใช้จริงในจุดให้บริการย้อมผ้าต่างๆ
“การวิจัย พัฒนาเครื่องนี้ใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากก่อนหน้านี้เราเคยทำถังบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการพิมพ์มาแล้ว ครั้งนี้พอเราได้รับการประสานงานมาจึงรีบทำอย่างเร่งด่วน โดยนำหลักการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการพิมพ์มาพัฒนาต่อยอด ความแตกต่างของการบำบัดน้ำเสียทั้งสองประเภทนี้ คือ การย้อมผ้าจะใช้เกลือสารตัวทำละลายสี และสารกันสีตกเพื่อให้สีติดทนอยู่กับผ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมโรงพิมพ์ใช้ทินเนอร์ในการทำละลายสี ดังนั้นถังบำบัดที่พัฒนาขึ้น จึงเน้นการลดความเป็นพิษของสารอันตรายที่อาจปนเปื้อนในสีย้อม และกำจัดสารปนเปื้อนอื่นๆ เช่น สารอินทรีย์ ผงซักฟอก ตะกอนแขวนลอย และสี ออกจากน้ำก่อนทิ้งลงสู่แม่น้ำลำคลอง หรือพื้นดิน รวมทั้งหาแนวทางในการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ประโยชน์”
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ ระบุว่า สีย้อมผ้าในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด และจากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีสีย้อมผ้าที่อาจปะปนด้วยโลหะหนักอย่างโครเมียม ซึ่งมีความเป็นพิษและเป็นสารก่อมะเร็ง หากปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถย่อยสลายได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ หากทิ้งลงในดินก็จะสะสมอยู่ในดิน และห่วงโซ่อาหาร เป็นพิษต่อสัตว์ และมนุษย์ ดังนั้นผู้ที่ต้องการย้อมผ้าจะต้องอ่านรายละเอียดที่ติดไว้ที่ผลิตภัณฑ์สีนำมาใช้ย้อมผ้า และเลือกชนิดที่ที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือทางที่ปลอดภัยที่สุดคือใช้สีย้อมผ้าจากธรรมชาติอย่าง ผลมะเกลือ เป็นต้น หรือหากต้องการให้สีติดคงทนใช้ดีเกลือฝรั่งแทนสารเคมีได้เช่นกัน หรือหากอยู่ในเขตที่มีการจัดการบำบัดน้ำให้ทิ้งลงท่อระบายน้ำดีกว่าทิ้งลงพื้นดิน เพราะอย่างน้อยก็ผ่านกระบวนการบำบัดก่อนทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือธรรมชาติ
สำหรับเครื่องบำบัดน้ำทิ้งจากการย้อมผ้านี้เป็นเครื่องขนาดเล็กพกพาไปได้ทุกที่ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ครั้งละประมาณ 100 ลิตรต่อชั่วโมงหรือประมาณ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตัวเครื่องประกอบด้วยถังบำบัดด้วยกระบวนการสร้างตะกอนด้วยไฟฟ้าเคมี หรือกระบวนการโคแอกกูเลชั่น (Electrocoagulation) หลังจากนั้นน้ำจะเข้าสู่กระบวนการกรอง ในถังที่ 2 เพื่อที่จะกำจัดสี ซึ่งผลที่ได้สามารถบำบัดสีได้หมดจนใสเหมือนน้ำประปา ไม่มีโครเมี่ยมปะปนมากับน้ำทิ้งอีกทั้งผ่านถ่านกัมมันต์ร่วมกับโอโซน ยังสามารถนำน้ำกลับเข้าสู่กระบวนการย้อมสีผ้าได้อีกด้วย
“เจตนารมณ์ครั้งนี้ก็เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฐานะประชาชนของแผ่นดินไทยการย้อมผ้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดี ช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ต้องไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ ในขณะเดียวกัน มจธ.เองก็เป็นหน่วยงานเล็กๆ ในสังคมที่มีองค์ความรู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยตรงก็อยากจะที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพราะในเมื่อเราจะทำดีถวายตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ตามแนวทางของพระองค์ท่านที่ทรงรักและห่วงใยสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ทาง มจธ.มีนักศึกษาอาจารย์ที่มีจิตอาสา พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านการบำบัดน้ำ ด้วยความยินดี และเต็มใจ”
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส