จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
รมว.ยุติธรรมเรียกประชุมทวงค่าเสียหายจำนำข้าวส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 80 หรืออีก 1.4 แสนล้าน คาด 15 พ.ย.ได้ข้อสรุปคนรับผิดชอบกลุ่มคณะกรรมการนโยบายข้าว และข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ ส่วนกลุ่มเอกชนต้องดูความเชื่อมโยงก่อน จี้เร่งส่งข้อมูล
วันนี้ (31 ต.ค.) เวลา 08.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ประชุมพิจารณาข้อมูลตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชนและผู้ตรวจสอบข้าวหลังต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ หรือ 142,868 ล้านบาท โดยมีตัวแทนข้าราชการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ใช้เวลาประชุมเกือบ 2 ชั่วโมง
พล.อ.ไพบูลย์เปิดเผยหลังการประชุมว่าตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลผู้ที่ต้องรับผิดชอบใน 80 เปอร์เซ็นต์ของโครงการจำนำข้าว โดยมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามข้อตกลงในที่ประชุม คือ 1. กลุ่มคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 2. กลุ่มข้าราชการในกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 3. กลุ่มภาคเอกชน
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1. คณะกรรมการรวบรวมข้อมูล และ 2. คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเชิงลึก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเพิ่มเติม โดยกำหนดให้วันที่ 15 พ.ย. 2559 ควรจะได้ข้อยุติ เหตุผลเพราะทุกกระทรวงมีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งการทำงาน การเชื่อมโยง ฉะนั้น สำหรับกลุ่มแรกและกลุ่มสองน่าจะเห็นภาพชัดเจน
“ส่วนกลุ่มที่ 3 อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงของภาคเอกชนเนื่องจากมีหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 พ.ย.ขอให้ส่งข้อมูลมาเพื่อเร่งรัดดำเนินการขั้นต่อไป ทั้งนี้ การทำงานดำเนินมาแล้วเห็นตัวเลขการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 20 เปอร์เซ็นต์ และอีก 80 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องมีฐานข้อมูลเดิมก็ไม่น่าจะช้า แต่อาจติดขัดกลุ่มสุดท้ายที่ต้องลงรายละเอียดกันบ้าง” รมว.ยุติธรรมกล่าว
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ในการประชุมวันนี้เพียงรวบรวมข้อมูลแล้วต้องเอานำกลับไปที่กระทรวงรับผิดชอบเพื่อหารายชื่อและหน่วยงาน คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะทราบทั้งตัวบุคคลและหน่วยงานของเจ้าหน้าที่นั้นๆ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปความเห็นความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือท้วงติงว่าจะเกิดความเสียหายจากการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 56/57 แต่ยังเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไปอีก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงมีความประมาทร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายในการรับจำนำข้าววงเงิน 1.8 แสนล้านบาท จึงได้พิจารณาการรับผิดตามกฎหมาย กำหนดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบเฉพาะตัวแต่เพียงผู้เดียวในสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย 1.8 แสนล้านบาท หรือเป็นเงินต้องรับผิดชอบจำนวน 35,717 ล้านบาท
ส่วนความเสียหายในสัดส่วนร้อยละ 80 ให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการพิจารณาขั้นต่อไป เมื่อมีการชี้มูลความผิดเพิ่มเติมพบว่ามีหลายบุคคลเกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าว เพราะยังมีอายุความดำเนินคดีเอาผิด 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554-2564
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส