จากประชาชาติธุรกิจ
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรฯ เผยผลพิสูจน์สาเหตุการตายของปลากระเบนราหู ในแม่น้ำแม่กลองมาจากการรั่วไหลของน้ำกากส่าของโรงงานเอทานอลราชบุรี จนทำให้น้ำมีพิษจากสารแอมโนเนียเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ ประมาณ 18 เท่า เตรียมดำเนินคดีโรงงานดัง
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมากในแม่น้ำแม่กลอง จ.ราชบุรี และจ.สมุทรสงคราม โดยเฉพาะซากปลากระเบนราหูที่เป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นตายเป็นจำนวนมาก ระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค. ที่ผ่านมา ในเขต อ.บางคนที และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยที่ผ่านมา คพ.วิเคราะห์ผลคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน
รวมทั้งทำการทดลองเพื่อทดสอบระดับความเข้มข้นของแอมโนเนียในน้ำว่า จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการตายของปลากระเบนราหูหรือไม่ เพื่อเชื่อมโยงการปนเปื้อนของน้ำกากส่า ที่มีการระบายทิ้งจากโรงงานเอทานอลราชบุรี ที่ภาคประชาชนในพื้นที่ยังกังขา ซึ่งจากผลคุณภาพน้ำทำให้สันนิษฐานได้ว่า น้ำกากส่าที่รั่วยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลอง
อธิบดีคพ. กล่าวต่อว่า จากที่ทราบกันว่า บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด มีหนังสือชี้แจงถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง กรณีน้ำกากส่าในบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วไหลลงน้ำน้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 เวลา 08.50 น. โดยหน่วยงานต่างๆ ได้เก็บตัวอย่างน้ำและวิเคราะห์ผล พบว่าค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ในแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ช่วงระหว่างวันที่ 4-10 ต.ค.ที่ผ่านมา ประมาณ 1.0-2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าออกซิเจนละลายน้ำดังกล่าวต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปี 2558 และพบว่าค่าบีโอดี (BOD) ในแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่เขต จ.สมุทรสงคราม บริเวณตั้งแต่ อ.บางคนที ลงมาจนถึงปากแม่น้ำ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา มีค่าสูงระหว่าง 11-28 มิลลิกรัมต่อลิตร
ดังนั้น จากผลคุณภาพน้ำดังกล่าวจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าน้ำกากส่าที่รั่วจาก บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 ยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลองช่วงเขต จ.สมุทรสงคราม อย่างน้อยจนถึงวันที่ 7 ต.ค.2559 โดยมีข้อมูลประกอบการสันนิษฐานเพิ่มเติมคือ ข้อมูลการเดินทางของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก พบว่า เวลาเดินทางของมวลน้ำจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มายัง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง
แต่ทั้งนี้ เมื่อเจอกับอิทธิพลน้ำขึ้นในวันดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่ามวลน้ำดังกล่าวไม่สามารถระบายออกสู่ทะเล ทำให้น้ำกากส่าบางส่วนจะตกลงสู่ท้องน้ำ เนื่องจากน้ำกากส่ามีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ ประกอบกับความเห็นของ สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า ปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป
นายวิจารย์ กล่าวอีกว่า คพ.จึงได้ตั้งสมมุติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองว่า เกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำและ คพ.ได้ทดลองเพื่อยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว ด้วยการจำลองสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วเติมน้ำกากส่าในอัตราส่วน 1:130 แล้วทำการวัดแอมโมเนียอิสระอย่างต่อเนื่องทุก 15 นาที
ซึ่งผลการทดลองพบว่า ค่าแอมโมเนียอิสระ มีค่าเริ่มต้น 0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร และเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อเวลาผ่านไป 46 ชั่วโมง ซึ่งค่าดังกล่าวเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ ประมาณ 18 เท่า ที่มีผลทำให้ปลาตายเฉียบพลัน สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คพ.จะดำเนินการกล่าวโทษโรงงาน ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา ข่าวสดออนไลน์
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส