จากประชาชาติธุรกิจ
สัตวแพทย์หญิง(สพญ.)นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และอาจารย์คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปลาที่ขาดออกซิเจนตาย จะไม่มีลักษณะเหมือนปลากระเบน ปลากะพง ปลาคัง และปลาอื่นๆอีกหลายตัว ที่ตายไปจำนวนมากมายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลากระเบนเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก 20 เมตรใช้ออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว การที่น้ำขาดออกซิเจนไม่ทำให้พวกมันตายจำนวนมากขนาดนี้แน่นอน
“ที่สำคัญปลาที่ขาดออกซิเจนตาย อย่างมากก็แค่เหงือกอักเสบ แต่ที่ดิฉันได้เก็บตัวอย่างเลือดของปลาทุกชนิดที่ตายไปตรวจ พบว่าทุกตัวล้วนได้รับสารที่เป็นพิษต่อตับ และไตเหมือนกันทั้งหมด แต่ถามว่าเป็นสารอะไรยังบอกไม่ได้ในตอนนี้ เพราะได้ส่งตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ต่อที่สถาบันสุขภาพสัตว์น้ำ กรมปศุสัตว์แล้ว ให้สังเกตเลย อาการของปลาที่ขาดออกซิเจนตายคือ จะต้องลอยขึ้นมาผิวน้ำ หายใจพะงาบๆ แต่นี่ไม่มีปลาสักตัวที่มีอาการดังกล่าว แม้กระทั่งปลากะพงในกระชัง แล้วจะมาบอกว่า ปลาขาดออกซิเจนตายได้อย่างไร”สพญ.นันทริกา กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า ในระยะ 10 กว่า ปีที่ผ่านมา ที่ตนและทางคณะสัตวแพทย์ จุฬา ได้เข้ามาศึกษาเรื่องปลากระเบนในพื้นที่แม่น้ำแม่กลองบริเวณนี้ ทำอย่างครบวงจร เก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน ก็ไม่เคยพบปัญหา วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำคือ ลงเรือไปกลางแม่น้ำแล้วหย่อนเครื่องมือลงไปเอาน้ำบริเวณที่กระเบนอาศัยอยู่ รวมทั้งบริเวณรอบๆด้วย เอามาเปรียบเทียบกัน ปริมาณออกซิเจนก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ถ้าไปเก็บตัวอย่างน้ำตามคอสะพาน ตาม หรือริมฝั่งแม่น้ำ ก็อีกเรื่องหนึ่ง บริเวณนั้นออกซิเจนอาจจะน้อยก็ได้
“ดิฉันคิดว่า เวลานี้ไม่ใช่มาบอกว่า น้ำไม่มีปัญหาแค่ขาดออกซิเจนแล้วจบ เพราะเราเห็นกันอยู่ว่า ปลามันตาย ตายเยอะมาก ปลากระเบนราหู ตัวใหญ่มากตายเป็นสิบๆตัวแล้ว มีปลาอื่นๆอีก นี่คือปัญหา ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแล้ว ราชการต้องให้ภาคประชาชนมาร่วมทำงานด้วย พวกเขาอยู่ในพื้นที่ และเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนตัวที่ทำงานเรื่องสัตว์น้ำมานาน ยืนยันในน้ำมีสารพิษแน่นอนผลเลือดปลาทุกตัวออกมาชัดเจน”สพญ.นันทริกา กล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส