จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย เดวิตร์ สุขเสน ทีมกรุ๊ป
หลายคนกำลังสงสัยว่าเมืองอะไร "เมืองออกกำลังกาย" ทำไมไม่ใช้คำว่า Healthy City
เพราะคำว่า Exercise City อาจจะไม่ได้อ้างอิงหลักวิชาการมากนัก แต่เป็นแนวความคิด อย่างหนึ่งที่หยิบรายละเอียดบางส่วนของหลักการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ให้เห็นการพัฒนากายภาพที่เชื่อมต่อกับคนมากขึ้น ย่อยลงไปในรายละเอียดถึงความเป็นไปได้ของคนเฉพาะกลุ่ม ที่ต้องการเรียกเหงื่อไคลระหว่างการทำกิจกรรม เสมือนการเตรียมความพร้อมของการพัฒนา "ภูมิทัศน์เมือง" ให้เหมาะสมกับกิจกรรม Passive และ Active ในเวลาเดียวกัน
เมื่อพูดถึง Exercise City เป็นการเน้นออกกำลังกายที่ได้เหงื่อ (Active) ไม่จำเป็นจะต้องทำเฉพาะบริเวณพื้นที่ปิด หรือมีขอบเขตชัดเจน อย่างสวนสาธารณะหรือสถานออกกำลังกายต่าง ๆ เท่านั้น ลองหลุดออกมาจากกรอบอาคาร สู่พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่สาธารณะของเมือง
ภาพจาก : www.doubleinternetmarking.com
การออกแบบภูมิทัศน์เมืองให้เหมาะกับกิจกรรมการเดินทางและการพักผ่อนหย่อนใจของกลุ่มคนเมืองกลายเป็นเรื่องทั่วไปที่นักออกแบบเมืองต้องคำนึงถึงอยู่แล้วแต่สิ่งที่สังคมเมืองต้องการและโหยหารวมถึงจำเป็นต้องให้ได้มาระหว่างวันของการทำงานที่แสนหนักคือ "สุขภาพ"
คนอยากแข็งแรง อยากผอม อยากลดพุงอยากมีกล้าม อยากมีเวลาหลังเลิกงานหรือก่อนเริ่มงาน ฯลฯ ทุกคนล้วนอยากมีช่วงเวลาได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพบ้าง
ด้วยนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะให้ได้ 6.4 ตารางเมตรต่อคน ในปี พ.ศ. 2575 (ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556) อาจจะทำได้ยาก หรือหากทำได้ จะมีประโยชน์อะไร ถ้าขณะพระอาทิตย์ขึ้น คนเมืองกรุงมัวแต่นั่งเฝ้าสำนักงานและกลับถึงบ้านตอนเย็นย่ำพระอาทิตย์ตก
แม้จะมีพื้นที่ที่เหมาะต่อกิจกรรมเสริมสุขภาพแต่ไร้ประโยชน์หากผู้คนขาดความอยากยังไม่ยอมสลัดเรื่องงานออกจากหัวไม่ยอมถอดคัทชูมาใส่รองเท้าสปอร์ตเพื่อเตรียมออกวิ่ง หรือพร้อมดับเครื่องยนต์ยอมเข็นจักรยานออกมาปั่น
เมืองสุขภาพไม่มีวันพร้อม หากคนไม่อยากทำ จะให้เตรียมพื้นที่สำหรับกิจกรรมสุขภาพมากขนาดไหน ถ้าใจยังไม่อยาก ปากยังบอกว่าไม่มีเวลา เชื่อเถอะ สิ่งที่รัฐเตรียมไว้ให้ก็เพียงเพื่อประดับเมืองให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น
กลุ่มผู้อยากและโหยหาการออกกำลังกายมีอยู่จริงพื้นที่และสถานที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียกเหงื่อของคนเหล่านั้นภูมิทัศน์เมืองก็มีผลน้อยต่อการตัดสินใจออกมาทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพของตัวเขาเองความมีอยู่จริงของกลุ่มคนอยากออกกำลังกายในกรุงเทพมหานครจะเห็นได้จากกิจกรรมส่วนบุคคล กลุ่มคน จนถึงการจัดอีเวนต์งานหลากหลายขนาด ซึ่งสนองความอยากของคนรักสุขภาพ ให้กระโดดลุกขึ้นมาจากเตียงยามเช้าตรู่ ตื่นมาออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพบริเวณหน้าบ้าน ตามถนนภายในหมู่บ้าน จนถึงสวนสาธารณะ ยามเช้า-เย็น
กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ห่วงเลยว่าจะเดิน-วิ่งไปที่ไหน กิจกรรมจะมีภายในสวนสาธารณะ หรือตามท้องถนน ผ่านย่านชุมชนเมือง ผ่านย่านธุรกิจเมือง สามารถไปได้ทุกหนทุกแห่งตามความพอใจ มีระยะทางให้เลือกตั้งแต่ 5 กิโลเมตร จนถึง 40 กว่ากิโลเมตร เป็นหลักชัยในการเข้าร่วมกิจกรรม จึงทำให้ต้องกลับมามองย้อนว่า พื้นที่กิจกรรมเฉพาะด้านสุขภาพของคนเมืองสำคัญขนาดไหน หรือจำเป็นน้อยกว่า "การกระตุ้นความอยาก"
กระตุ้นความกลัวต่อโรคภัย ที่อาจเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย หรือจะกระตุ้นด้วยการสนับสนุนรองเท้ากีฬาดี ๆ แจกคูปองซื้ออุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นด้วยการลดภาษี คืนภาษี นโยบายทำนองนี้มีความเป็นไปได้
นอกจากกระตุ้นความอยากแล้ว พื้นที่ออกกำลังกายสาธารณะ ยังขาดความหลากหลายของสถานที่ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น สนามกีฬากลางแจ้งที่เพียงพอ ลานเต้นแอโรบิกที่เข้าถึงง่าย พื้นที่ฟิตเนส โยคะราคากันเอง หรือแม้แต่เส้นทางที่เหมาะต่อการเดิน วิ่ง และใช้จักรยาน ที่เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายปลอดภัยปราศจากอุปสรรค
เพราะกิจกรรมเหล่านี้ถ้ามีแล้ว ต้องเข้าถึงง่าย สะดวกต่อบุคคลทั่วไป เปิด-ปิดในช่วงเวลาที่เหมาะกับสังคมคนเมือง รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า สมราคา และยิ่งเป็นบริการของรัฐด้วยแล้ว จะเป็นการส่งเสริมให้เมืองนี้เป็นเมืองออกกำลังกายได้ตามสมควร
"ภูมิทัศน์เมืองที่ดี" ไม่ได้หมายความว่า คนในเมืองจะสุขภาพดีกันทุกคน "สุขภาพคนในเมืองที่ดี" ก็ไม่ได้หมายความว่า มีภูมิทัศน์ที่ดีเพียงอย่างเดียว เมืองต้องมีกายภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพ ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมเมืองต้องดีตามไปด้วย เหล่านี้ล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไปตามอัตภาพ
"เมืองออกกำลังกาย" อาจเป็นได้เพียงแนวความคิด ที่อยากเห็นคนเมืองออกมาทำกิจกรรม ลดการพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวก หันมาเดิน วิ่ง ใช้จักรยานกันอย่างเป็นนิสัย ออกแรงกายขับเคลื่อนกำลังใจ สร้างแรงกระตุ้นความอยาก ปลูกฝังความเรียบง่ายของการดำเนินชีวิต มีน้อยใช้น้อย อาศัยกำลังกายของเราขับเคลื่อนพลังชีวิต คิดดี ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
กิจวัตรประจำในภูมิทัศน์เมืองที่มีคุณภาพเมืองที่มีความหลากหลายของกิจกรรมเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในแต่ละวันเราอาจไม่รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างที่เราตั้งใจไปออกกำลังกายในแต่ละครั้งแต่เป็น"การสร้างแรงกระตุ้น" ในการทำกิจกรรม ที่ใช้กายออกแรงมากกว่าการพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวก จนส่งผลต่อสุขภาวะกายและใจให้ดำรงอยู่กับเมืองที่ถูกออกแบบไว้เพื่อกระตุ้นความอยาก ให้คนย่างกรายออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ข้างนอก
เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ให้มีชีวิตชีวา เกิดความอยากทำกิจกรรมทางกาย ส่งผลต่อกำลังใจของเมืองที่กำลังพัฒนาอย่างมีคุณภาพจนชินตา
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส