รถพลังงานไฟฟ้านั้น หรือ อีวี (อิเล็กทริก เวฮิเคิล) ไม่ใช่จะเพิ่งมีให้เห็นกันในยุคนี้
แต่ความเป็นจริงแล้ว รถพลังงานไฟฟ้ามีประวัติศาสตร์เก่าแก่มายาวนานแล้ว และเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1830 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตพลังงาน
จากรายงานบนเว็บไซต์ อิเล็กทริกออโต้ ระบุไว้ว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันแรกเท่าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 1834 ที่ โธมัส ดาเวนพอร์ต ได้ประดิษฐ์คิดค้นรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ หรืออาจจะเป็น โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน จากสกอตแลนด์ (ระหว่างปี 1832-1839) แต่แบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ดังกล่าวนั้น เป็นแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟใหม่ไม่ได้
กระทั่งในปี 1859 แกสตัน แพลนเต ก็ได้ประดิษฐ์คิดค้นแบตเตอรี่ที่สามารถนำกลับมาชาร์จไฟใหม่ได้
เป็นแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด
และในปี 1889 โธมัส แอลวา เอดิสัน ก็ได้คิดค้นแบตเตอรี่นิเกิลอัลคาไลน์ขึ้นมา
จนกลายเป็นที่มาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเกิดการแข่งรถครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1895 รถที่ได้รับชัยชนะ ก็เป็น อีวี
ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายรายแรกในสหรัฐ มีตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1896 ก็ขายแต่ อีวี ส่วนรถที่ใช้พวงมาลัยคันแรก เมื่อปี 1897 ก็เป็นอีวี และรถพลังงานไฟฟ้าที่สตาร์ตได้เอง ก็เกิดก่อนรถน้ำมันที่สตาร์ตได้เองถึง 20 ปี
เรียกได้ว่า ในยุคนั้น ท้องถนนเต็มไปด้วยรถพลังงานไฟฟ้าทั้งนั้น
โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1890 รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น ขายดีมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเสียอีก ตามท้องถนนมีแต่รถอีวี และโชว์รูมต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอีวี
อีวี ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20
จนกระทั่งความก้าวหน้าเกี่ยวกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะการนำเอาระบบจุดระเบิดด้วยไฟฟ้ามาใช้ รวมถึงการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันออกมาขายจำนวนมาก
ทำให้ราคาของรถยนต์น้ำมันถูกลง รถน้ำมันจึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย แทนที่รถพลังงานไฟฟ้า
กระทั่งเมื่อปี 2008 เรื่องของอีวี ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอีกครั้ง อันเนื่องมาจาก "ราคาน้ำมัน" ที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของแบตเตอรี่และการบริหารจัดการพลังงานในรถ และแน่นอน เรื่องความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถที่ใช้น้ำมันทั้งหลาย
ที่สุดแล้ว หลายประเทศจึงออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น
เพราะเป็นพลังงานสะอาด ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ารถที่ใช้น้ำมัน หลายประเทศมีการคืนภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า บ้างก็มีให้เงินอุดหนุน บ้างก็มีโปรโมชั่นอื่นๆ ออกมาเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น
ทั้งหลายทั้งปวง นำไปสู่การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้งานตามท้องถนนกันมากขึ้น
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2015 มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ถูกต้องตามกฎหมายวิ่งอยู่ตามท้องถนนถึงกว่า 30 รุ่น ส่วนใหญ่มีวิ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และในยุโรปตะวันตก
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก คือ นิสสัน ลีฟ ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม 2010 มียอดขายไปทั่วโลกแล้วกว่า 228,000 คัน
ส่วนเทสลา โมเดล เอส ที่เปิดตัวเดือนมิถุนายน 2012 ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดขาย 129,000 คันทั่วโลก
ชนิดและนิยามของรถไฟฟ้า
รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้านั้น มีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า "แบตเตอรี่ อีเลคทริก เวฮิเคิล" หรือ "บีอีวี"
ทำงานโดยอาศัยการชาร์จประจุไฟฟ้าเก็บไว้ในชุดแบตเตอรี่สำหรับจ่ายให้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ที่จะทำหน้าที่หมุนล้อเพื่อให้รถเคลื่อนที่อีกต่อหนึ่ง
เมื่อประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมด ก็สามารถชาร์จประจุเข้าไปใหม่ได้โดยอาศัยไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับบ้านพักอาศัย ซึ่งอาจจะผ่านปลั๊กบนผนังทั่วไป หรืออุปกรณ์ชาร์จพิเศษ ก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต
รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็น "รถพลังงานไฟฟ้า" หรือ "ออล-อีเล็กทริก คาร์"
แบตเตอรี่ของรถยนต์เหล่านี้มักออกแบบมาให้มีความจุเพียงพอต่อการให้พลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์ได้ระหว่าง 100-160 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
ซึ่งมากเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป 1 วันแล้วกลับมาชาร์จประจุจากไฟบ้านในตอนกลางคืน
มีรถยนต์อีกส่วนหนึ่งซึ่งใช้พลังงานผสมผสานทั้งพลังงานไฟฟ้าและพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง
รถยนต์เหล่านี้จะติดตั้งทั้งมอเตอร์สำหรับหมุนล้อ และเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กันไป โดยเริ่มจากการชาร์จประจุไฟและใช้ไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไปจนกว่าประจุไฟฟ้าใกล้หมด จึงสลับไปใช้เครื่องยนต์น้ำมันในการขับเคลื่อน ระหว่างนั้นกลไกชาร์จประจุที่ติดตั้งไว้กับรถยนต์ก็จะทำหน้าที่ชาร์จประจุไฟให้กับแบตเตอรี่ใหม่อีกครั้ง
รถยนต์ที่ใช้การขับเคลื่อนผสมดังกล่าวนี้เรียกกันทั่วไปว่ารถยนต์ "ไฮบริด" หรือ "ไฮบริด อิเล็กทริก คาร์" ซึ่งสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลตามที่ต้องการ
แต่ในเวลาเดียวกันก็ลดระยะทางในการใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานลง เมื่อเทียบกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วไป นอกจากนั้น "ไฮบริด อิเล็กทริก คาร์" จำเป็นต้องสามารถเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จประจุไฟได้ ในกรณีที่ไม่มีการเสียบชาร์จ จะไม่ถือว่ารถดังกล่าวเป็นรถพลังงานไฟฟ้า แต่เป็นเพียงรถยนต์ไฮบริดทั่วไป หรือ "คอนเวนชั่นแนล ไฮบริด" เท่านั้น
รถพลังงานทางเลือกอีกประการคือรถยนต์ที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นพลังงาน ก๊าซไฮโดรเจนจะถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบเซลล์พลังงานหรือ "ฟิวล์เซลล์" เพื่อสร้างปฏิกิริยาเคมีให้เกิดพลังงานไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนมอเตอร์ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถยนต์ พลังงานไฟฟ้าที่ได้ส่วนหนึ่งจะจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อนำมาใช้ต่อเนื่องได้เช่นกัน รถที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนดังกล่าวนี้เรียกว่า "ฟิวล์เซลล์ อิเล็กทริก คาร์" ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งนำมาปรับใช้กับรถโดยสาร
และได้ชื่อว่าเป็นรถซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศได้มากที่สุดในบรรดารถพลังงานไฟฟ้าด้วยกัน
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส