จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
กรมอุตุนิยมวิทยาและนักวิชาการด้านสภาพอากาศยืนยันตรงกันว่า ปริมาณฝนและพายุที่เกิดขึ้นในปีนี้ จะไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมจนลามไปเป็นอุทกภัยระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 โดยตัวเลขปริมาณฝนทั่วทั้งประเทศในปีนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยเพียง 5-10% อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าจะมีพายุใหญ่เข้าประเทศไทยอีก 2 ลูก ซึ่งแม้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ แต่สิ่งที่อาจเลี่ยงไม่ได้ก็คือปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มหรือเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน
รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ระบุว่า แม้สถานการณ์ปริมาณฝนจะเริ่มคลี่คลายลง แต่สิ่งที่ยังต้องระวังและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดคือ ช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. ซึ่งจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำจากทะเลจีนใต้ หรือแนวของมวลอากาศที่มีความหนาแน่นต่ำได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ และมีมวลอากาศที่มีความกดสูงกว่ากระจายอยู่รอบแนว 2 ด้าน จากประเทศจีน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีแนวโน้มเกิดพายุพัดเข้าไปในประเทศเวียดนาม อาจกระทบถึงประเทศไทยในส่วนทะเลอันดามัน อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ดังกล่าวจะบอกได้ชัดเจนได้เมื่อนำข้อมูลด้านแนวโน้มเกิดพายุจากองค์การสากลอย่างอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) มาคำนวณอย่างละเอียด เพื่อระบุทิศทางของพายุได้ โดยสามารถบอกล่วงหน้าก่อนเกิดพายุได้เพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลด้านอากาศของหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในประเทศไทยจะบอกล่วงหน้าได้เพียง 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ การคาดการณ์การเกิดพายุต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน เช่น อุณหภูมิผิวน้ำทะเล ข้อมูลการรวมของแรงปะทะแรงดันอากาศต่ำ พร้อมกับมีแรงดันอากาศสูงที่ก่อให้เกิดลมส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวเปลี่ยนรูปของเมฆ
จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำยังให้ทำต้องระวังเรื่องของปริมาณฝนคือ ต้องไม่ลืมว่าฤดูฝนในปีนี้ยังอยู่ในอิทธิพลของ “ลานินญา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบปัจจัยเดียวกับปริมาณฝนที่ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แม้จะไม่มีโอกาสเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนในอดีต แต่จะส่งผลให้การคาดการณ์ปริมาณฝนได้ยากขึ้น
โดยลานินญาจะพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้ว ยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก เกิดการก่อตัวของเมฆและฝน บริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิกเขตร้อน ส่งผลให้มีฝนตกหนักบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริเวณชายฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีฝนตกมากกว่าปกติ และจะทำให้ฤดูฝนในประเทศไทยยืดยาวออกไปอีก
“ลานินญาจะทำให้พายุมาถึงประเทศไทยโดยไม่อ่อนกำลัง ยังไม่มีอะไรที่ทำให้วางใจได้แม้น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 2554 แต่หลายพื้นที่ก็ยังมีโอกาสถูกน้ำท่วมได้ ขณะเดียวกันยังถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุมากกว่า 2 ลูก และฝนยังมีโอกาสตกยาวไปถึงปลายปี แม้ในพื้นที่ภาคกลางหรือในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจมีฝนเบาบางลง ช่วงหลังเดือน พ.ย. แต่บางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ก็ยังเสี่ยงที่จะมีฝนตกหนักไปจนถึงต้นปีหน้า และเสี่ยงน้ำท่วมได้เช่นกัน”จิรพล กล่าว
อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมไม่มีอะไรน่าวิตก และจากการติดตามภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางที่มีฝนตกในปริมาณมาก พบว่ามีน้ำท่วมทุ่งยังอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านไร่ โดยถือว่ายังน้อยหากเทียบกับเวลาเดียวกันเมื่อปี 2558 ที่จะมีน้ำท่วมเฉลี่ย 2 ล้านไร่ บริเวณน้ำท่วม 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวพืชผลเกษตรแล้ว และใกล้จะเก็บเกี่ยว แต่ยังมีพื้นที่ปลูกใหม่ 3 แสนไร่ หรือ 30% เท่านั้นส่วนใหญ่อยู่ใน จ.พิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก โดยฝนที่ตกต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์หน้าทำให้พื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านไร่ ต้องแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ เป็นจุดๆ ไป
“เนื่องจากหลายพื้นที่ยังอยู่ในช่วงฤดูฝนที่ยาวไปถึงเดือน พ.ย. ยังมีโอกาสที่ฝนจะตกหนักในช่วงระหว่างนี้ รวมถึงยังมีโอกาสเกิดพายุ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีอีกประมาณ 2 ลูก จิสด้าจะยังติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด”อานนท์ กล่าว
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส