จากประชาชาติธุรกิจ
ปูดหลักฐาน หนังสือ ก.เกษตรฯ ลอยแพ ผู้ส่งออกลิ้นมังกรดิ้นสู้ต่างชาติชิงยื่นจดสิทธิบัตรลิ้นมังกร ข้าราชการปัดไม่รู้เรื่องการคัดค้าน ด้านพาณิชย์ยืนยันไทยมีสิทธิ์ยื่นค้านปกป้องพันธุ์พืชของไทย
แหล่งข่าวจากวงการส่งออกไม้ประดับ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีปัญหาการยื่นค้านสิทธิบัตรลิ้นมังกร ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทยทำหนังสือประสานไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 เพื่อแจ้งว่า 1) Johannes Schefferrs ชาวเนเธอร์แลนด์ นำพันธุ์พืช Sansevieria cylindrica "Boncel" ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองทั่วไปของไทย ไปยื่นขอรับความคุ้มครองที่สหรัฐเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 และได้รับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 ภายใต้ชื่อ "Sansevieria cylindrica "SAN201202" และ 2) บุคคลดังกล่าวกำลังยื่นขอจดพันธุ์พืชชนิดเดียวกันนี้ที่สหภาพยุโรปต่อเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากที่จดสิทธิบัตรในสหรัฐ
ค้านเอง - กรมวิชาการเกษตรมีหนังสือตอบกลับเอกชนว่า ลิ้นมังกรพันธุ์ Boncel และพันธุ์ SAN201202 มีลักษณะเหมือนกัน และมีการปลูกแพร่หลายในไทยตั้งแต่ปี 2552 ขาดคุณสมบัติเรื่องความใหม่ในการยื่นรับความคุ้มครองในสหภาพยุโรป และเห็นว่าสมาคมสามารถดำเนินการคัดค้านการจดทะเบียนเอง
"นานถึง 6.5 เดือนนับจาก 24 กันยายน 2558 ทางกรมวิชาการเกษตรจึงมีหนังสือตอบกลับ เลขที่กษ 0904/2210 ลงวันที่ 12 เมษายน 2559 ลงนามโดยนางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยระบุว่า ได้มีการการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ ที่ประชุมเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เห็นว่า ลิ้นมังกรพันธุ์ Boncel และพันธุ์ SAN201202 มีลักษณะเหมือนกัน และมีการปลูกแพร่หลายในไทยตั้งแต่ปี 2552 จึงขาดคุณสมบัติเรื่องความใหม่ในการยื่นรับความคุ้มครองในสหภาพยุโรป และเห็นว่าสมาคมสามารถดำเนินการคัดค้านการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดังกล่าวได้เอง โดยที่กรมยินดีจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำเอกสารต่าง ๆ"
ทั้งนี้ ยืนยันว่าสมาคมได้พยายามยื่นค้านไปยังสหภาพยุโรปด้วยตนเองแล้ว แต่ตามหลักเกณฑ์ต้องให้ตัวแทนคัดค้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ในสหภาพยุโรป ทางกรมวิชาการจึงได้มอบหมายให้ทูตเกษตรประจำสหภาพยุโรปเป็นผู้ดำเนินการใช้สิทธิ์แทน แต่ขณะนั้นตำแหน่งทูตเกษตรยังว่างอยู่ ภายหลังก็ไม่ได้มีการติดตามเรื่อง ส่วนผู้ส่งออกไทยก็ประสานกับผู้นำเข้าที่อียูเพื่อช่วยค้าน แต่ถูกมองว่าเป็นประเด็นกลั่นแกล้งทางการค้า ทำให้น้ำหนักค้านไม่มากเท่ากับหน่วยงานราชการ
"ตอนแรกที่ขอจดที่สหรัฐ ไทยไม่รู้ข้อมูลจึงไม่สามารถยื่นคัดค้านได้ทันเวลา สหรัฐออกสิทธิบัตรให้แล้ว ส่วนจะการยื่นเพิกถอนสิทธิบัตรถือเป็นเรื่องทำได้ยากและต้องใช้งบประมาณสูง ผลคือ ไทยต้องเสียตลาดส่งออกสหรัฐ ทั้งที่ไทยนำพันธุ์มาจากอินโดนีเซียมาพัฒนาและขยายพันธุ์ปลูกอย่างแพร่หลายถึงประมาณ 2 แสนต้น เอกชนกังวลว่าจะเกิดซ้ำอีกทีสหภาพยุโรป ก็แจ้งกรมเพื่อดำเนินเร่งการ"
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สมาคมทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โดยระบุว่า ประเด็นนี้ขัดกับมาตรา 52 พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 แต่กลับไม่มีการดำเนินการ เพื่อปกป้องสิทธิบัตรพันธุ์พืชแล้วเหตุนี้จะสมควรเชื่อได้หรือไม่ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการดูแลข้อกังวลหากไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และหลังจากนั้น
กระทรวงเกษตรฯ จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา แต่จากนี้ก็คงต้องดูต่อว่ากระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เพราะกรณีแบบนี้ไม่ค่อยพบมากเท่าไรในประเทศไทย แต่ไทยมีสิทธิ์ที่จะปกป้องพันธุ์พืชชนิดนี้
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงและแนวทางการดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าว จากนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับคำตอบเพียงสั้น ๆ ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินเรื่อง โดยจะต้องพิจารณาตามขั้นตอน
ขณะที่นายอภินันท์ บุณยรัตพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งออก บริษัท เอส.บี.กรีน จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้การส่งออกลิ้นมังกรไปสหรัฐ ได้รับผลกระทบหลังจากการจดคุ้มครองสิทธิบัตรในสหรัฐใช้รหัสทำให้ถูกตรวจสอบว่ามีลักษณะเหมือนกับพันธุ์ที่ยื่นจดหรือไม่ถ้าเหมือนจะถูกใช้มาตรการตามกฎหมายสหรัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกลิ้นมังกรล่าสุดในปี 2557 มูลค่าการส่งออก 444.6 ล้านบาทเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ ซึ่งมีมูลค่า 914.2 ล้านบาท
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส