จากประชาชาติธุรกิจ
ขอบคุณที่มาจากนิตยสารท่องเที่ยว อสท. เพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ธรรมชาติ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2559 เรื่องโดยฐากูร โกมารกุล ณ นคร
แผ่นดินแห้งกร้าน ไม้ใหญ่หยัดยืนเหนือภูเขาหินปูนหลากรูปทรง มันมิได้เขียวชอุ่มชุ่มเย็นสายตาเท่าไรนัก ใครบางคนพร่ำหาถึงภาพทุ่งนาเขียวรื่นที่แผ่ผืนกลางม่านฝน เราบดอัดล้อจักรยานลงบนทางลูกรังที่วนเวียนโยงใยเป็นเส้นสาย รอยต่อของฤดูร้อนแสนแล้งไร้กับต้นฤดูฝนทำให้การมาถึงผืนแผ่นดินเล็ก ๆ เหมือนจะเต็มไปด้วยความคาดหวังนานา
เราอยู่กับที่บ้านมุง หมู่บ้านเก่าแก่ของอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก จากเช้าจดค่ำของทุกวัน ที่มาอยู่ที่นี่ ภาพแห่งการเฝ้ารอการมาถึงซึ่งฤดูฝนตกสะท้อนออกมาในรูปแบบชีวิตที่น่าทำความเข้าใจ
พวกเขาตระเตรียมผืนดินและกล้าพันธุ์ ไถพรวนผืนนาที่ผ่านพ้นการเก็บเกี่ยวพืชไร่พืชสวนหลากหลาย มันมีไว้สำหรับข้าวที่จะใช้กินไปตลอดปี ในป่าเขาก็เช่นกัน หลายคนหายขึ้นไปบนนั้น เพียงเพื่อที่จะพบว่า ของป่าอาจไม่ได้มากมายอย่างยุคบรรพบุรุษของพวกเขา แต่น้ำผึ้งคุณภาพดีก็มีราคาอันแสนคุ้มกับการบากบั่นไปบนทางยากเบื้องบน
ชีวิตเต็มไปด้วยจังหวะและเวลา ทั้งหยุดพัก รอคอย หรือไหลรี่เร่งเร้าตามการมาถึงของแต่ละฤดูกาลและ ณ นาทีเช่นนั้นก็ไม่มีใครฟูมฟายเอากับวันเวลาและการเฝ้ารอระหว่างทาง
บทที่ 1 "บ้านมุง"
มันเป็นเช้าสดสะอ้าน ทางแอสฟัลด์เล็ก ๆ ทอดเป็นเส้นคดโค้งไปสู่หมู่เขาหินปูนทับซ้อนรูปทรงหลายชั้นที่ปลายตา เรามาถึงที่นี่พร้อมกับสายฝนหยาดแรก ๆ ของฤดูกาล ตามบ้านไม้โบราณมีแต่เสียงพูดคุยยินดีถึงฤดูแล้งที่กำลังพ้นผ่าน ถึงเวลาของการเพาะปลูกอันเป็นจริงเป็นจัง
บ้านมุงเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของเนินมะปราง ว่ากันไปแล้วมันคือพื้นที่แรก ๆ ที่มีคนเข้ามาอยู่อาศัย ถึงแม้หลักฐานทางราชการจะยืนยันการจัดตั้งอำเภอเนินมะปรางมาเพียง 42 ปี ทว่าย้อนกลับไปในดวงตาและความทรงจำของคนรุ่นปู่ย่านับร้อยปี พื้นที่ราว 246 ตารางกิโลเมตรของบ้านมุง ที่รายล้อมด้วยขุนเขาแห่งนี้คือที่สร้างกกปางและที่พักแรมของพรานป่าจากหลากหลายแห่ง
สัตว์ป่าและพืชพรรณอันอุดมดึงดูดผู้คนทั้งจากเขตนครไทยด่านซ้าย และหล่มสัก ให้อพยพย้ายถิ่นมาปักหลักที่บ้านมุงและบ้านชมพู ยังมีคนจากพิจิตร กำแพงเพชร และอีกหลากหลายที่พาตัวเองมาหันหน้าลงสู่ผืนดินในวงล้อมของขุนเขาหินปูนที่มีอายุกว่า 300 ล้านปี เถื่อนถ้ำมากมายถูกค้นพบสำรวจในนามของการทำมาหากิน
ความหลากหลายถิ่นที่มาหลอมรวมปะปนอยู่ในชีวิตของคนที่นี่ตามบ้านเรือนเต็มไปด้วยสำเนียงพูดคุยทั้งลาวหล่มและสำเนียงลาวแบบด่านซ้ายมันสะท้อนภาพวัฒนธรรมผสมผสานไว้ในการละเล่นและประเพณีประจำปีอย่างการละเล่นนางด้งประเพณีกวนข้าวทิพย์ แห่นางแมว หรือการก่อเจดีย์ทราย ผู้คนของที่นี่เท่านั้นที่จะรู้ว่า สิ่งที่ติดตัวพวกเขามาจากรุ่นปู่ย่านั้นคือเอกลักษณ์อันมิอาจลบเลือน
ลัดจากถนนใหญ่เข้ามาในซอยที่เรียกกันว่า"แลนด์มาร์ก"มันเป็นเพียงพิกัดทางการท่องเที่ยวของโลกปัจจุบัน แต่กับบ้านไม้โบราณและภาพชินตาของคนบ้านมุง ชีวิตเริ่มขึ้นตั้งแต่รุ่งสาง หลังบ้านเต็มไปด้วยไฟฟืนโชนควันเป็นสาย ย่ายายนั่งรอเหล่าพระสงฆ์จากทั้งวัดบ้านมุงและสำนักสงฆ์ที่อยู่ถัดลัดไปทางเชิงเขาหลังหมู่บ้าน นาทีแห่งศรัทธาอันเรียบง่ายปรากฏขึ้นตรงหน้า มันแสดงภาพเช่นนั้นอยู่ชั่วครู่ ก่อนชีวิตประจำวันของพวกเขาจะดำเนินไปหลังจากนั้น
จักรยานคันเล็กพาเราเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับบ้านมุง เราสวนกับเด็ก ๆ ที่มุ่งออกไปโรงเรียนที่ถนนใหญ่ด้านนอก บ้านมุงทั้งหนือและใต้ปรากฏเป็นภาพหมู่บ้านชนบทที่เป็นตัวของตัวเอง ท้ายหมู่บ้านคือศาลเจ้าปู่หลวงที่พวกเขาเคารพนับถือมาหลายต่อหลายรุ่น เช้า ๆ มักเต็มไปด้วยชาวบ้านที่มาสักการะ ด้วยพวกเขาเชื่อถือว่าปู่หลวงจะปกปักและบันดาลในสิ่งที่ร้องขอ
ทางสายเล็กท้ายบ้านมุงดึงเราให้โถมแรงลงกับการหมุนของล้อ มันลากผ่านพื้นผิวทั้งคอนกรีต ถนนลาดยาง รวมไปถึงถนนลูกรังอัดแน่น ฝนพรำสายตั้งแต่เมื่อคืนตกทอดเป็นหมอกขาวระเรี่ยอยู่ตามขุนเขา ภาพทางตาอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ปรากฏตรึงตรา กลุ่มเขาหินปูนโผล่ผุดเป็นหย่อม ๆ รายล้อมไปทุกทิศทาง มันคล้ายดินแดนนิรนามในนิทานปรัมปรา ทว่าภาพจริงตรงหน้าต่างหากที่บ่งบอกกับเราว่า พื้นที่เกษตรกรรมอันมีค่าของพวกเขานั้นงดงามเพียงใด
กายภาพของบ้านมุงประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มราว 50 เปอร์เซ็นต์ มันถูกใช้ผลัดเวียนไปเป็นนาข้าวที่กำลังจะแผ่ผืนเขียวชอุ่มยามฝนจะมาเยือน อีกครึ่งหนึ่งคือพื้นที่ดอนและพื้นที่ราบเชิงเขา พวกเขาเลือกให้มันเป็นที่ที่เหมาะสมกับพืชไร่อย่างมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย รวมไปถึงไม้ผล อย่างมะม่วง ส้มโอ ที่คนเนินมะปรางมักรู้กันว่า มะม่วงน้ำดอกไม้และอีกหลายสายพันธุ์ของพวกเขานั้นให้ผลิตผลได้มากมายเพียงใด
คล้ายเราเป็นสิ่งเคลื่อนไหวเล็กๆกลางภูมิประเทศอันไพศาลเมื่อแยกจากทางหลักเข้าสู่ทางลูกรังไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของบ้านมุง มันราวโครงข่ายใยแมงมุมที่รอบด้านคือที่ราบสีน้ำตาล ปลายตาคือกลุ่มเขาหลากหลายชื่อเรียก ใครสักคนสอนให้เรารู้จัก "ลมโตนเขา" ว่าคือลมที่พัดพามาจากฝั่งทุ่งแสลงหลวง ลอดช่องหน้าผา และมันมักบอกว่า หลังจากนี้ฝนจะพัดพา
เวียนแวะไปตามกำลังแรงขา ไร่นาบางแปลงมีชาวบ้านที่ไถพรวนไปล่วงหน้า รอฝนที่กำลังจะพร่างพรม ขณะที่อีกหลายต่อหลายเจ้าผ่านพ้นแล้งล่าสุดมาด้วยแปลงมะเขือ แตงกวา ตามมีตามเกิดไปพร้อม ๆ กับการโบยตีของฤดูแล้งที่ผ่านมา
ลัดเลาะกันไปถึงบ้านเนินดินและบ้านดงงู อีกสองหมู่บ้านประชิดติดกับบ้านมุง พวกเขาต่างมีชีวิตท่ามกลางฤดูกาลเดียวกัน สวนมะม่วงเหนือที่ดอนเรียงรายเป็นระเบียบ มันเพิ่งผ่านพ้นช่วงเก็บขาย ตามใต้ถุนบ้านหลงเหลือร่องรอยของการขนถ่ายผลิตผลที่เคยก่ายกอง มะม่วงน้ำดอกไม้และอีกหลายพันธุ์ของพวกเขาขายส่งออกไปถึงญี่ปุ่น จีน ลาว และเวียดนาม
งานฝีมือตรงแคร่ไม้หน้าบ้านเชื้อเชิญให้เราแวะเข้าไปดูยายสักคนสานหวด จะว่าไป มันเป็นภาพธรรมดาที่ใครหลายคนชาชินกับชีวิตในชนบท ทว่าในแต่ละตอกไม้ไผ่ที่หญิงชราตรงหน้าขัดสานขึ้นลง มันก็ล้วนบ่งบอกความหมายบางอย่างกับใครหลายคนที่ผ่านพบ ว่าทุกนาทีของชีวิตนั้นเต็มไปด้วยการงานและคุณค่าระหว่างแผ่นดินถิ่นเกิดกับตัวเขา
เราขี่วนกลับมาถึงสระหลวงแหล่งน้ำชลประทานเก่าแก่หางนกยูงติดดอกแดงสะพรั่ง บ่งบอกถึงความงามของฤดูแล้งที่กำลังจะผ่านพ้น จอดจักรยานและเดินลงไปตามคันนา ผืนน้ำสะท้อนทั้งขุนเขา หนทาง รวมไปถึงชีวิตเล็กน้อยที่ประดับประดาผืนที่ราบกว้างไกลกลายเป็นภาพแปลกตาให้หยุดเพ่งมอง
ฝนยามสายเพิ่มระดับความหนาของหยดหยาดใครหลายคนของบ้านมุงยิ้มร่ากับการทักทายต้นฤดู ภูเขาอ้อยอิ่งสายหมอกไว้หลังจากนั้น ขณะเราทำได้เพียงเฝ้ามองภาพเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลร่วมไปกับพี่น้องบ้านมุงไม่กี่คนที่พบเจอกลางแปลงนาในยามเช้า
มันเป็นภาพเดียวกันที่อาจจะแตกต่างการตีความและทำความเข้าใจเป็นภาพงดงามของปราการขุนเขาโอบล้อมที่ราบอันไพศาลหรือเป็นเพียงภาพธรรมดาที่ใครสักคนเคยค้นและพร้อมจะหันหน้าลงบากบั่นทำกินไปตามการเปลี่ยนเวียนอันเป็นนิรันดร์ของฤดูกาล
ติดตามตอนต่อไป...
ขอบคุณที่มาจากนิตยสารท่องเที่ยว อสท. เพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ธรรมชาติ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2559 เรื่องโดยฐากูร โกมารกุล ณ นคร
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส