จากประชาชาติธุรกิจ
เชื่อว่าทุกครั้งที่มีโฆษณาอาหารเช้า หลายคนคงสะดุดหูกับคำว่า "โฮลเกรน" ว่าคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? ทำไมจึงควรกิน? ประชาชาติธุรกิจจึงมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับธัญพืชชนิดนี้
′โฮลเกรน′ หรือธัญพืชเต็มเมล็ด เป็นเมล็ดธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี มีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ เยื่อหุ้มเมล็ด จมูกข้าว และเนื้อข้าว ทำให้มีคุณค่าสารอาหารมากกว่าธัญพืชที่ถูกขัดสีแล้ว นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่หลายงานวิจัยระบุว่าโฮลเกรนเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทาง อาหารสูงและเป็นมีข้อแนะนำให้เลือกอาหารที่ทำจากโฮลเกรนมากกว่าธัญพืชที่ ผ่านการขัดสีแล้ว
3 ส่วนประกอบของโฮลเกรนเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์แตกต่างกัน
เยื่อหุ้มเมล็ด (Bran): เป็นส่วนเปลือกนอกสุดของเมล็ดธัญพืช อุดมไปด้วยไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินบี และแร่ธาตุต่าง ๆ แป้งแบบโฮลเกรนจะมีส่วนนี้อยู่ ในขณะที่แป้งสีขาวนั้นส่วนนี้จะถูกขัดสีออกไป
เนื้อข้าวหรือเนื้อเมล็ด (Endosperm): เป็นส่วนใหญ่ที่สุดของเมล็ดธัญพืช ส่วนประกอบหลักจะเป็น เนื้อข้าวเป็นส่วนของเมล็ดธัญพืชที่ใช้ทำเป็นแป้งสีขาว
จมูกข้าว (Germ): มีส่วนที่เล็กที่สุด แต่มีสารอาหารมากมาย เช่น โปรตีน วิตามินบีและอี สารต้านอนุมูลอิสระ และไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย จมูกข้าวจะพบได้ในแป้งชนิดโฮลเกรน แป้งสีขาวโดยทั่วไปจะไม่มีส่วนประกอบของจมูกข้าวอยู่
มีข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลกพบว่า การบริโภคโฮลเกรนที่มากขึ้นจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วนได้ โดยการบริโภคโฮลเกรนจะลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองลงคิดเป็นร้อยละ 14 จากการเปรียบเทียบผู้ที่ไม่เคยบริโภคหรือแทบจะไม่ได้บริโภคโฮลเกรน กับผู้ที่บริโภคโฮลเกรนสม่ำเสมอวันละ 48 – 80 กรัม (หรือ 3 – 5 หน่วยบริโภค) พบว่า ผู้ที่บริโภคโฮลเกรนมีอัตราความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงร้อยละ 21
ขณะที่ครัวเรือนที่บริโภคโฮลเกรนต่ำที่สุดกับครัวเรือนที่บริโภคโฮลเกรนสูงที่สุด พบว่าครัวเรือนที่ที่บริโภคโฮลเกรนสูงที่สุด มีอัตราความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงร้อยละ 17 และเมื่อบริโภคโฮลเกรนเป็นประจำเฉลี่ยวันละ 28 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคโรคหัวใจและหลอดเลือดลงร้อยละ 9
นอกจากนี้ ผลจากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม พบความเข้มข้นที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญของแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลและโคเลสเตอรอลโดยรวม ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีการบริโภคโฮลเกรน เมื่อเทียบกับ กลุ่มที่ควบคุม โดยค่าแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล และโคเลสเตอรอลโดยรวม ลดลง 0.83 มิลลิโมลต่อลิตร และ 0.72 มิลลิโมลต่อลิตรตามลำดับ นั่นคือช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจนั่นเอง
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบผู้ที่ไม่เคยบริโภคหรือแทบจะไม่ได้บริโภคโฮลเกรนกับผู้ที่บริโภคโฮลเกรนสม่ำเสมอวันละ 48 – 80 กรัม พบว่า ผู้ที่บริโภคโฮลเกรนมีอัตราความเสี่ยงจากการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลงร้อยละ 26 โดยผลจากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม พบความเข้มข้นที่ต่ำลงอย่างมี
นัยสำคัญของระดับกลูโคสและอินซูลินหลังอดอาหาร ในกลุ่มที่มีการบริโภคโฮลเกรน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ควบคุม โดยค่าแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล และโคเลสเตอรอลโดยรวม ลงลง 0.93 มิลลิโมลต่อลิตร และ 0.29 มิลลิโมลต่อลิตรตามลำดับ และเมื่อบริโภคโฮลเกรนเป็นประจำวันละ 3 หน่วยบริโภคจะลดอัตราความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ลงร้อยละ 32
ปัจจุบันการรับคุณค่าจากโฮลเกรนไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะผู้ผลิตอาหารเช้าหลายรายเลือกโฮลเกรนเป็นส่วนผสม ซึ่งวิธีการมองหาผลิตภัณฑ์จากโฮลเกรนคุณภาพ สามารถสังเกตได้จากฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ ที่มีคำว่า “โฮล” เช่น โฮลมีล โฮลวีท และโฮลโอ๊ต ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่ามีโฮลเกรนเป็นส่วนผสม ร่วมด้วยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด เพื่อเลือกอาหารเช้าซีเรียลที่ระบุอย่างชัดเจนว่าทำมาจากโฮลเกรนเป็นอันดับต้น ๆ
ประการสำคัญคือ การที่ผลิตภัณฑ์มีสีน้ำตาล ไม่ได้หมายความว่า เป็นโฮลเกรนทั้งหมด รวมถึงข้อความที่ระบุว่า มัลติเกรน หรือมีไฟเบอร์ ก็ไม่ได้แปลว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะทำมาจากโฮลเกรนเสมอไป วิธีที่ดีและง่ายที่สุด คือ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีข้อความที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์นั้นทำจากโฮลเกรน หรือมีสัญลักษณ์โฮลเกรนบนบรรจุภัณฑ์นั่นเอง
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส