จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เหตุการณ์ที่ลำน้ำแบง เมืองแบง แขวงอุดมไซ สัปดาห์กลางเดือนนี้ จะเป็นภาพหลอนสำหรับชาวลาวไปอีกนาน
จนบัดนี้ก็ยังไม่พบ สิ่งที่ถูกน้ำพัดพาไป แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบออกแถลงสัปดาห์ที่แล้วว่า
สิ่งหายไปนั้นเป็นเพียง "ยาบำรุงพืช" กับ สารฆ่าเชื้อราที่ใช้กับผลกล้วย ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
และ ยังเชื่อด้วยว่าสารทั้งหมด จะไม่รั่วไปไหลออกจากภาชนะบรรจุ แต่ในขณะเดียวกันทางการแขวงได้ยืนยันมั่นเหมาะ
ในบรรดาสวนกล้วยเนื้อที่กว่า 31,000 ไร่ขณะนี้ แห่งใดหมดอายุสัมปทานลง
จะไม่ต่อสัญญาอีกโดยเด็ดขาด. -- ภาพ: หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา.
MGRออนไลน์ -- ทางการแขวงอุดมไซ ในภาคเหนือของลาว ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจในสัปดาห์นี้ หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน พัดพาปุ๋ยกับสารเคมี รวมน้ำหนักหลายตันหายไปในลำน้ำแบง ท่ามกลางความวิตกกังวล เกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่นี่มีสวนกล้วยของนักลงทุนจากจีน รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 5,000 เฮกตาร์ หรือ กว่า 31,200 ไร่ ทุกแห่งใช้ปุ๋ยเคมีที่นำเข้าจากจีน
ตัวเลขดังกล่าวทำให้อุดมไซ กลายเป็นสวนกล้วยหอมใหญ่อันดับ 2 ของนักลงทุนจีน ถัดจากแขวงบ่อแก้วที่อยู่ถัดขึ้นไป ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขเข้าด้วยกัน สองแขวงนี้ก็จะมีเนื้อที่สวนกล้วยจีนเกือบ 100,000 ไร่ นอกจากนั้นอุดมไซก็ยังเป็นแห่งที่สอง ที่สะท้อนถึงผลกระทบในทางลบ จากการส่งเสริมการลงทุนในแขนงนี้ เพื่อส่งผลผลิตกลับไปจำหน่าย ในมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงตอนกลางของจีนแผ่นดินใหญ่
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา แขวงอุดมไซไม่อนุญาตให้นักลงทุนจีน เข้าไปลงทุนปลูกกล้วยเพิ่มเติมอีก เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว รวมทั้งไม่ยอมให้ขยายพื้นที่อีก หลังจากได้พบความจริงว่าการปลูกกล้วย ใช้พื้นที่กว้างมาก "ไม่สร้างผลประโยชน์ให้ภาครัฐ และ ประชาชนในทองถิ่นเท่าที่ควร และ ที่สำคัญคือ ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ" ใช้แรงงานคนน้อย เป็นการจ้างงานที่ไม่ยั่งยืน หากเทียบกับปัจจัยการผลิต และทรัพยากรที่ใช้
นอกจากไม่ออกใบอนุญาตใหม่แล้ว แขวงอุดมไซจะไม่ต่อสัญญา เมื่ออายุสัมปทานหมดลง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งกระทรวงกสิกรรม-ป่าไม้ และ มติที่ประชุมพรรคสาขาแขวง ที่กำหนดทิศทางการพัฒนากสิกรรม โดยส่งเสริมการผลิตที่สะอาด ให้ผลตอบแทนเร็วทางด้านเศรษฐกิจ และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกข้าวคุณภาพดี ปลูกพืชตามฤดูกาล รวมทั้งปลูกหญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ด้วย
หนังสือพิมพ์ของทางการรายงานเรื่องนี้ อ้างนายบุนเลียน วอละกด หัวหน้าแผนกกสิกรรม-ป่าไม้ แขวงอุดมไซ ซึ่งได้ให้รายละเอียดอีกว่า การลงทุนปลูกกล้วยในแขวงนี้ ดำเนินมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว โดยปลูกมากที่สุดในท้องที่เมือง (อำเภอ) รุน กับเมืองแบง (ที่อยู่ริมลำน้ำแบง) อันเป็นลำน้ำสายใหญ่สาขาของแม่น้ำโขง
เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในสัปดาห์กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่พัดพาสารเคมีพิษบรรจุในภาชนะถังลงน้ำไป กับอีกส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าถูกโคลนถล่มทับถมเอาไว้ข้างล่าง เกิดขึ้นกับสวนกล้วยในเขตสองเมืองนี้ ซึ่งได้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ ยังไม่มีข่าวคราว เกี่ยวกับผลการค้นหาในช่วงข้ามสัปดาห์มานี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความวิตกว่า ข่าวสารพิษจะสร้างความแตกตื่นให้แก่สาธารณชน สัปดาห์ที่แล้วแผนกกสิกรรม-ป่าไม้ แขวงได้ออกแถลงระบุว่า ข่าวที่ออกไปก่อนหน้านั้น ไม่มีมูลความจริง สิ่งที่ถูกพัดพาหายไปกับน้ำ เป็น เพียง "ยาบำรุงพืช" โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาบำรุงดอกและผลกล้วย กับยาฆ่าเชื้อราที่มักจะเกิดกับผลกล้วยเท่านั้น ซึ่งล้วนเป็นสารที่รัฐบาลอนุมัตให้นำเข้าได้ เพื่อใช้ในการเกษตร
เจ้าหน้าที่แผนกนี้เชื่อว่า "ยาบำรุง" ทั้งหมดที่หายไป จะไม่รั่วไหลออกจากภาชนะบรรจุ หรือ ถ้าหากรั่วออกสู่สภาพแวดล้อม ยาพวกนี้ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวะนานาพันธุ์แต่อย่างไร ทั้งยืนยันว่าที่ผ่านมา แผนกกสิกรรมฯ และ แผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแขวง ได้ตรวจตราอย่างใกล้ชิดและรัดกุม หนังสือพิมพ์ข่าวเศรษฐกิจการค้ารายงาน
แขวงอุดมไซ กลายเป็นสวนกล้วยหอมขนาดใหญ่แห่งที่ 2 ของนักลงทุนจีน ส่วนใหญ่ของพื้นที่กว่า 31,000 ไร่
กระจายกันอยู่ ในพื้นที่สองเมืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำแบง คือ เมืองรุน กับเมืองแบง
ทางการแขวงนี้ยอมรับว่า สวนกล้วยไม่ได้สร้างงานจริง "ไม่สะอาด" และ สร้างมลพิษในสภาพแวดล้อม. -- ภาพ: หนังสือพิมพ์ปะเทดลาว.
แต่สิ่งที่นายบุนเลียน หัวหน้าแผนกกสิกรรมฯ แขวงอุดมไซให้สัมภาษณ์ล่าสุดนี้ อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกหนังสือพิมพ์ปะเทดลาวว่า เมื่อสวนกล้วยแห่งใดหมดอายุสัมปทานลง ทางการแขวงจะไม่ต่อสัญญาให้โดยเด็ดขาด เนื่องจากแขวงมีโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร "เพื่อส่งเสริมการผลิตที่สะอาด ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม และมีความยั่งยืน"
ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ปะเทดลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักข่าวสารปะเทดลาว ได้เป็นหัวหอกสำคัญในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น กับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ที่เกิดจากผลกระทบการลงุทนทำสวนกล้วยของ "นักลงทุนต่างชาติ" สัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้ออกวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในเว็บไซต์ ต่อสิ่งที่เรียกว่า ทางการแขวงอุดมไซ "พยายามปกปิดข้อเท็จจริง" มิให้สาธารณชนได้รับรู้ความจริง เกี่ยวกับการใช้สารพิษในสวนกล้วยของนักลงทุนต่างชาติเหล่านั้น
กรณีล่าสุดนี้ได้ทำให้ประชาคมออนไลน์ชาวลาว ต้องย้อนกลับไปรำลึกถึงเหตุการณ์ในปลายเดือน มี.ค..ปีนี้ ครั้งที่เจ้าแขวงคนใหม่ แขวงบ่อแก้ว ออกเปิดเผยต่อสื่อของทางการ เกี่ยวกับตัวเลขสวนกล้วยของนักลงทุนจีนในแขวง ซึ่งมีเนื้อที่รวมกันกว่า 10,000 เฮกตาร์ หรือ 62,500 ไร่ และ ได้ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างหนัก พร้อมประกาศจะไม่ออกใบอนุญาตให้นักลงทุนรายใหม่ ห้ามนักลงทุนรายเก่าขยายพื้นที่เพาะปลูก
กรณีที่แขวงบ่อแก้วได้ทำให้เกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของสวนกล้วย นำมาสู่การออกนโยบายระดับประเทศในเวลาต่อมา ที่ ห้ามออกใบอนุญาตการลงทุน แขนงนี้อีกโดยสิ้นเชิง และ ให้ทางการท้องถิ่นต่างๆ เลิกสัญญาทันที หากพบมีการลักลอบ นำสารพิษเข้าไปใช้.
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต