จากประชาชาติธุรกิจ
ภาคปศุสัตว์ไทยยืนกรานค้านเข้าร่วม TPP อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้อนาคตหากต้องเข้าร่วมจริง จะต้องวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพสู้เพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด
น.สพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอประเทศสมาชิกแต่ละประเทศขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีนั้น ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและการติดตามการเจรจาการ ค้าระหว่างประเทศเปิดเวทีระดมความเห็นร่วมกับหน่วยงานนักวิชาการต่าง ๆ ยังเป็นหลากหลายมุมมองที่ยังเป็นโจทย์ของรัฐบาล แต่ในภาคปศุสัตว์นั้นยังคงยืนยันคัดค้านการเข้าร่วม TPP เพราะจะกระทบถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการวงกว้าง
โดย น.สพ.อยุทธ์กล่าวต่อว่า ภาคปศุสัตว์ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการเข้าร่วมทีพีพีมาโดยตลอด ซึ่งได้ให้เหตุผลไปก่อนหน้านี้ และยังคงยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ตัวเกษตรกรเอง และหากมองภาพรวมด้านปศุสัตว์แต่ละประเทศที่เข้าร่วมทีพีพีกับไทยนั้น ล้วนแล้วแต่ได้เปรียบเพราะมีกำลังผลิตสูง อาทิ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีกำลังผลิตภาคปศุสัตว์มหาศาล ขณะที่ส่วนของไทยนั้นสัดส่วนเล็กกว่าถึง 10 เท่า และโดยรวมแล้วไทยยังคงเสียเปรียบทุกทาง ทั้งปัจจัยการผลิต วัตถุดิบและชิ้นส่วน รวมถึงต้นทุนต่าง ๆ ราคาถูกกว่าไทยอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามไม่ว่าท่าทีของรัฐบาลจะออกมาในแนวทางใด กรมปศุสัตว์ต้องยอมรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นหลัก ซึ่งอนาคตหากไทยต้องเข้าร่วมจริงขอให้รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้ประกอบการวงการปศุสัตว์ โดยอาจจะเป็นการวางมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถให้มีศักยภาพมากขึ้นก่อนตัดสินใจ
"ภาคปศุสัตว์ยังคงยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมทีพีพีซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมอื่นอาจจะเป็นข้อดี อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีการพูดคุยและหารือกันอยู่ตลอดเวลากับทางกระทรวงพาณิชย์ แต่สุดท้ายแล้วต้องหาข้อสรุปที่ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ เราจะไปค้านเขาหมดไม่ได้ หากรัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะต้องเข้าร่วมจริง ต้องมีการวางแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถสู้เขาได้ หรือต้องเสียเปรียบให้น้อยที่สุด"
อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้กล่าวถึงกรณี ความคืบหน้าโครงการพัฒนาและผลิตกระบือที่ต้องมีการติดตั้งไมโครชิปล่าสุด ดำเนินการติดตั้งไปกว่า 300,000 ตัว จากทั้งหมด 500,000 ตัว ซึ่งภายในสิ้นเดือนกันยายนคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จ 80% เนื่องจากการติดเครื่องมือต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนเรื่องงบประมาณที่ได้มีการเรียกตรวจสอบนั้นได้แจ้งข้อเท็จจริงตามกระบวน การขั้นตอนว่าประโยชน์เป็นอย่างไรแต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่คนยัง ไม่เข้าใจ จุดที่ฝังไมโครชิปในตัวกระบือต้องชำนาญ ซึ่งทั้งหมดเฉพาะงบประมาณไมโครชิป 50 ล้านบาทเท่านั้น โดยการกำหนดสเป็กมี 2 บริษัท เป็นผู้ดูแล ซึ่งได้กระจายงบประมาณไปตามภูมิภาค ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้รายงานข้อเท็จจริงถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯรับทราบ และไม่มีข้อท้วงติงประการใด เพียงแต่ได้มีการกำชับว่าต้องใช้งานได้จริง ส่วน สตง.จะมีการตรวจสอบอย่างไรต้องว่าไปตามกระบวนการ กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการอย่างถูกต้อง โปร่งใส
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต