จากประชาชาติธุรกิจ
การบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน และมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมที่ดินเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการออกเอกสารสิทธิ โดยเฉพาะโฉนดที่ดิน แต่ที่ผ่านมามักเกิดปัญหาแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจน รวมถึงกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมที่ดินจึงได้จัดสัมมนาเพื่อหารือถึงปัญหาของแต่ละหน่วยงาน และเสนอแนวทางปฏิบัติในการออกเอกสารสิทธิในอนาคต โดยมีตัวแทนจากกรมที่ดิน ศาลปกครองสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เสนอใช้ภาพถ่ายทางอากาศ
"สนั่น ทองจีน" ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้กฎหมายจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อาจมีมุมมองที่ต่างกับทางกรมที่ดิน ที่จะทำตามระเบียบปฏิบัติและกฎหมายของกรมที่ดิน ซึ่งมองว่าอาจยังมีข้อจำกัดด้านศักยภาพของเจ้าหน้าที่และเครื่องมือที่จะสนับสนุนงาน จึงได้เสนอให้มีการใช้การอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการทำประโยชน์ในที่ดิน
อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว กรมที่ดินมักชี้แจงว่า ในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่กรมที่ดินไปปฏิบัติงานนั้นได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบที่ระบุไว้ในขณะนั้นแล้ว และไม่มีระบุให้ต้องอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศก่อนตัดสินใจ
เช่นเดียวกับ "อนันต์ มิตรคุณ" นายช่างเทคนิคอาวุโส กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในอดีตกรมที่ดินมักบอกว่าการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศไม่มีระเบียบกำหนดไว้ แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบในภายหลังให้มีโอกาสอ่านแปลได้ในบางกรณี แต่ก็มักมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เป็นข้อติดขัด ทำให้ไปไม่ถึงการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ทั้งที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมาก จึงอยากให้กรมที่ดินพิจารณาการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น
"กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯก็ตกเป็นจำเลยว่า แนวเขตไม่ชัดเจน ทำให้มีการออกเอกสารสิทธิผิดพลาด แต่ปัจจุบันทางกรมได้จัดทำแผนที่เป็นออโต้โฟโต้ หรือภูมิศาสตร์สารสนเทศ ให้สามารถตรวจสอบร่องรอยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ และเราก็ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เมื่อมีการประกาศใช้วันแมป (One Map) ในทุกจังหวัด เห็นแนวเขตที่ดินที่ชัดเจน ปัญหาก็จะหมดไป ส่วนหนังสือแสดงสิทธิที่ออกไปแล้วคงแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ต้องมีการสแกนว่าออกโดยชอบหรือไม่ อย่างไร"
ที่ดินแจงข้อจำกัดเพียบ
ขณะที่ "มานัส ฉั่วสวัสดิ์" รองอธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงว่า ในกระบวนการตรวจสอบและออกโฉนดที่ดินนั้น ช่วงก่อนและหลังออกเอกสารสิทธิเป็นคนละมิติเวลากัน บุคลากร เครื่องมือ สภาพแวดล้อม การบังคับใช้กฎหมาย หรือหน่วยงานตรวจสอบที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงต่างกับปัจจุบัน การนำผลการวินิจฉัยในปัจจุบันไปวัดอดีตจึงน่าเป็นห่วง
ส่วนกรณีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศนั้น ที่ผ่านมากรมที่ดินขาดงบประมาณและบุคลากร รวมทั้งไม่มีกระบวนการทางกฎหมายกำหนดเอาไว้ แต่การดำเนินงานของกรมที่ดินต้องทำภายในระยะเวลาที่จำกัด
นอกจากนี้ แนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้ระบุว่า ภาพถ่ายทางอากาศเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่แสดงหลักฐานในขณะนั้น ไม่ใช่ปัจจัยสุดท้าย ต้องมีการลงพื้นที่ ตรวจสอบเพิ่มเติม แต่ก็จะมีเรื่องมิติเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเช่นกัน การนำกระบวนการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศมาใช้ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่กรมที่ดินต้องได้รับการสนับสนุนเครื่องมือ งบประมาณ บุคลากร และมีเวลาในการทำงานมากขึ้น ไม่ใช่เน้นการบริการและความรวดเร็วเท่านั้น
"เจ้าพนักงานที่ดินมักเป็นจำเลยที่ 1 หรือเป็นจำเลยคนเดียว ทั้งที่กระบวนการออกโฉนดผ่านหลายขั้นตอน ความรับผิดชอบเกิดขึ้นร่วมกันหลายหน่วยงาน ต้องอำนวยความเป็นธรรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้วย การออกโฉนดที่ดินเป็นเอกสารที่สำคัญ ดังนั้นกระบวนการเพิกถอนหรือตรวจสอบจึงต้องทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ไม่ใช่เราดึงหรือยืดเยื้อ" รองอธิบดีกรมที่ดินกล่าว
ลุ้นวันแมปแก้ปัญหาแนวเขต
สำหรับแผนที่วันแมปนั้น "มานัส" กล่าวว่า เมื่อประกาศใช้แล้ว เบื้องต้นจะเป็นการพิจารณาแนวเขตระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้ได้ข้อยุติก่อน ส่วนกรณีที่ดินระหว่างรัฐ-เอกชนนั้นจะพิจารณาเป็นประเด็นต่อไป ซึ่งถ้าหากมีการประกาศใช้แล้ว ผู้ถือครองที่ดินรายเก่า ๆ ที่มีการทำนิติกรรมในอนาคต ก็จะถูกการตรวจสอบที่มาที่ไปของแต่ละแปลงที่แตกต่างกันด้วย
"อภินันท์ ซื่อธานุวงศ์" อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ขณะนี้แผนที่วันแมป อัตราส่วน 1 : 4,000 มีความคืบหน้าแล้ว 90% ราวเดือนกันยายนนี้จะเสร็จสมบูรณ์ หากทำเสร็จแล้ว แนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานรัฐจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบางหน่วย เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ จะใช้ระวางแนวเขตมาตราส่วนต่างกัน คือ 1 : 5,000 ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งหากวันแมปได้ประกาศใช้แล้ว ตำแหน่งพิกัดของที่ดินจะมีความชัดเจน แม่นยำ ช่วยลดข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชนได้
สำหรับการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือน พ.ย. 2558-ก.ย. 2559 ภายใต้คณะกรรมการปรับปรุงฯ ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้องทันสมัย คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกรกฎาคมนี้
วันแมปถือเป็นความหวังในการแก้ไขข้อพิพาทการใช้ระวางแนวเขตที่ดินของรัฐส่วนข้อเสนออื่นๆจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามกันต่อไป
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต