สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รวมกันเราอยู่ โมเดลแก้เกม ล้งจีน คุมตลาด สวนละไมระยองปรับตัวทัวร์ทุกเดือน

จากประชาชาติธุรกิจ

ยังคงถกเถียงกันว่าล้งจีนที่แห่เข้ามารับซื้อผลไม้ไทยถึงหน้าสวนเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ หลายฝ่ายมองว่าการเข้ามาของล้งจีนจะทำให้ผลไม้ไทยโดยเฉพาะผลไม้ภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด ราคาดีขึ้นมาก แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มแสดงความกังวลเรื่องการผูกขาดตลาดที่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

กระทรวงพาณิชย์เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว "อภิรดี ตันตราภรณ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อหารือถึงสถานการณ์ผลไม้กับบรรดาล้งไทย เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรเขาสมิง อ.เขาสมิง จ.ตราด โดยเน้นเรื่องปัญหาล้งจีนผูกขาดกลุ่มสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร

รวมกลุ่มสร้างสหกรณ์เข้มแข็ง

การลงพื้นที่พบว่า ปัญหาที่ผลผลิตไปอยู่ในมือพ่อค้าจีนมากเพราะมีทุนหนา แม้ว่าขณะนี้เกษตรกรยังจำหน่ายผลผลิตได้ปริมาณมาก และราคาสูง แต่ควรหาทางป้องกันผลกระทบในอนาคต ที่ล้งจีนอาจจะฮั้วกันเพื่อกดราคา แนวทางคือภาคเกษตรต้องเตรียมความเข้มแข็งของสหกรณ์ ด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสหกรณ์ แล้วใช้เครือข่ายสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรรวบรวมผลผลิตให้กับสหกรณ์ใหญ่ เพื่อเป็นตัวแทนขายให้ล้งจีน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน

"สว่าง ชื่นอารมณ์" ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด และประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนประณีต กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรทำสวนประณีตเป็นล้งส่งออกเอง โดยซื้อมังคุด เงาะ ทุเรียน จากสมาชิกในกลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ มาทำแพ็กเกจจิ้งแยกเกรดส่งจีน ทำการค้ากับพ่อค้าจีนโดยตรง ขณะที่เงาะมีสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด จำกัด รับซื้อคัดแยกเกรดทำตะกร้าขายส่งตลาด 3-4 แห่งภายในประเทศ และส่งตลาดเวียดนาม และจีน ซึ่งคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าตลาดภายในและต่างประเทศ

เหมาสวนล่วงหน้าเหมือนล้งจีน

สว่างอธิบายอีกว่า จังหวัดตราดมีสหกรณ์ 5 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 1 กลุ่ม บางแห่งรวบรวมทุเรียน มังคุด เงาะส่งออกอยู่แล้ว ถ้ารวมพื้นที่ของสมาชิกทั้งหมด 43,000 ไร่ เกษตรกร 9,678 ราย ผู้บริหารจัดการ (กรรมการสหกรณ์) 50-60 คน หากเราทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เป็นสหกรณ์เดียวที่ผลิตผลไม้ และรับซื้อรวบรวมจากสมาชิกเพื่อเป็นตัวแทนขายให้ล้ง สหกรณ์จะมีอำนาจต่อรองเป็นผู้กำหนดราคาได้ แต่เน้นทำคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ถ้าทำได้อย่างนี้จะแก้ปัญหาที่กลัวว่าล้งจีนจะกดราคาได้ แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ ที่สำคัญรัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนการเปิดตลาดใหม่

"วันนี้จีนเข้าถึงเกษตรกรไทยถึงในสวนถ้าไม่หาทางป้องกันในที่สุดจะถูกบีบเรื่องราคาพ่อค้าจีนมามีเงินซื้อคนละ10ล้านบาทถ้ารวมตัวกัน 10 คน มีเงิน 500-600 ล้านบาท แต่พ่อค้าไทยไม่มีเงินทุนมากอย่างนั้น ทางออกคือทำอย่างไรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และเราต้องต่อสู้ด้วยระบบสหกรณ์ ต่อไปสหกรณ์ต้องเข้าไปเหมาสวนล่วงหน้าอย่างล้งจีนบ้าง ตอนนี้จีนเหมาล่วงหน้าข้ามปีหรือสองปีแล้ว รัฐบาลต้องสนับสนุนเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเปิดตลาดใหม่ ๆ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย บังกลาเทศ ตะวันออกกลาง ไม่ใช่แค่จีน หรือประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น" ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราดกล่าว

สวนละไมปรับท่องเที่ยวทั้งปี

ด้าน "ไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์" เจ้าของสวนละไม หนึ่งในสวนผลไม้ขนาดใหญ่ พื้นที่ 700 ไร่ ของจังหวัดระยอง เป็นที่รู้จักในภาพเปิดสวนผลไม้บุฟเฟต์ เปิดครั้งแรกปี 2557 นักท่องเที่ยว 2 หมื่นคน/ปี จนปัจจุบันเกือบ 1 แสนคน และปี 2559 ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยว 1.2 แสนคน วันนี้ได้ขยับจากขายบุฟเฟต์ผลไม้ ปรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตลอดทั้งปี



ไพโรจน์บอกว่า มองเห็นศักยภาพของพื้นที่ที่น่าจะดึงคนมาเที่ยวได้ มีแนวคิดให้ระยองเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีทั้งเขา ทะเล และผลไม้ ในส่วนของสวนผลไม้ทำมา 15 ปีแล้ว เปิดบุฟเฟต์ครั้งแรกปี 2557 โดยในปีนี้เปิดสวนตั้งแต่ช่วงปลายเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม โดยได้รับซื้อผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกร 50 กว่าคน ผ่านกลุ่มหลัก 2-3 กลุ่ม เป็นการกระจายรายได้ โดยรับซื้อสูงสุด 102 บาท/กิโลกรัม ต่ำสุด 95 บาท/กิโลกรัม ข้อแม้ต้องคุณภาพดี ถ้าเป็นทุเรียนอ่อนจะตีกลับหมด และเลิกทำการค้าขายด้วย ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจเกษตรกร ถ้าอยากได้ราคาต้องสร้างคุณภาพสินค้า

หลังจากนี้จะปิดสวนวันที่ 14 สิงหาคม โดยจะให้แม่เข้าฟรี จากนั้นจะปิดสวนบุฟเฟต์ 1 เดือนครึ่ง เปิดอีกครั้งเดือนตุลาคม-ธันวาคม ช่วงนี้จะเป็นการชมสวนดอกไม้ ซึ่งเป็นพันธุ์ดอกไม้เมืองหนาวจากภูเรือ และสวนชา เป็นพันธุ์อู่หลง 12 ชนิดทนแล้ง นำมาจากดอยแม่สลอง 50,000 ต้น คาดว่านักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน จากนั้นปิดสวนชา เดือนมกราคมถึงมีนาคม ให้เที่ยวสวนสตรอว์เบอรี่ ที่ปลูกทำเป็นขั้นบันได จะทำให้สวนละไมเที่ยวได้ทั้งปีตามสภาพอากาศ ตรงนี้ทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นด้วย ผลอีกอย่างคือ ชุมชนละแวก 3 กิโลเมตร ก็จะขายสินค้าได้

ไพโรจน์มองว่า แนวทางนี้จะแก้ปัญหาล้งจีนได้ แม้ว่าเกษตรกรจะบอกว่า ล้งจีนทำให้ผลไม้ราคาดี แต่ถ้าล้งจีนลงมาแบบนี้ เชื่อว่าเกษตรกรบ้านเราจะดีใจไม่เกิน 3 ปี เมื่อเขาผูกขาดตลาด ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย เพราะเราไม่วางรากฐานไว้ ไม่รู้จักหาตลาด รอคนมาซื้ออย่างเดียว

"ผมอยากให้สวนผลไม้ทำแบบนี้เยอะ ๆ ผลิตเองขายเอง ในส่วนตลาดส่งออกก็ทำไป แต่ตลาดในประเทศให้รวมกลุ่มใหญ่ มองว่าสวนผลไม้ทุกจังหวัดไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นคู่ค้า ตลาดแบบนี้แหละที่จะอยู่ไปอีกหลาย ๆ ปี" ไพโรจน์ย้ำถึงทางออก

เป็นโมเดลที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายว่า หมดยุคแข่งกันขายแล้ว รวมกันเท่านั้นคือทางรอด !


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รวมกันเราอยู่ โมเดลแก้เกม ล้งจีน คุมตลาด สวนละไมระยองปรับตัวทัวร์ทุกเดือน

view