จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
หลังจากรัฐบาลออกมาระบุว่า ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศโลกว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบปรากฏการณ์ “ลานินญา” ซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกต่อเนื่องยาวไปจนถึงปลายปี เรื่องนี้ก็เริ่มสร้างความกังวลขึ้นในทันที
สมฤทัย ทะสดวก อาจารย์ภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ความวิตกกังวลเรื่องเกิดน้ำท่วมนั้นเกิดขึ้นเพราะลานินญาเป็นองค์ประกอบ เป็นวงจรเดียวกับปริมาณฝนเมื่อปี 2553 ที่สะสมจนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554
ทั้งนี้ ลานินญานั้น หมายถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ในซีกโลกใต้ ที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างการหมุนเวียนของกระแสอากาศกับกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกับ เอลนินโญที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิก เขตศูนย์สูตร มีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้ว ยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ทำให้มีการก่อตัวของเมฆและฝน บริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิก เขตร้อน
“เอลนินโญทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ แต่จะทำให้บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความแห้งแล้ง และเมื่อกลับมาเป็นลานินญาก็คือ เกิดความแห้งแล้งในอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันก็จะมีฝนตกหนักบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริเวณชายฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีฝนตกมากกว่าปกติ แต่จะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ต้องดูที่องค์ประกอบอื่นๆ ด้วย” อาจารย์ภาควิชาทรัพยากรน้ำ กล่าว
สมฤทัย กล่าวอีกว่า ประชาชนอาจจะกังวลเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มิ.ย. จนถึงเช้าวันต่อมาที่มีค่าเฉลี่ยมากถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณฝนตกในช่วงเดียวกันในรอบ 25 ปี โดยมีปริมาณฝนช่วงบ่ายอยู่ที่ 80 มิลลิเมตร และช่วงกลางคืน 125 มิลลิเมตร ทำให้ 24 ชั่วโมง มีปริมาณฝนกว่า 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้พื้นที่ 36 จุด มีน้ำท่วม
“อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ หลายจุด เพราะระบบระบายน้ำของหลายพื้นที่เป็นระบบเก่าที่มีท่อเล็ก ซึ่งถูกออกแบบทำมารองรับผังเมืองเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ปริมาณคนยังไม่มากเหมือนในปัจจุบัน ขณะที่ระบบระบายน้ำใหม่แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ทั้งสองระบบก็ไม่ได้ทำงานสอดรับประสานกัน น้ำที่ถูกระบายลงท่อ น้ำบนถนนระบายไปอุโมงค์ยักษ์ไม่ทันก็เลยท่วม ขณะที่ภาพรวมฝนตกในต่างจังหวัด ตอนนี้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยังสามารถรองรับได้อีกจำนวนมาก แต่ถ้าฝนตกใต้เขื่อน พื้นที่ราบลุ่ม ก็เสี่ยงถูกน้ำท่วมได้” สมฤทัย กล่าว
จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ฤทธิ์ของลานินญานั้นน่าจะเห็นชัดช่วงกลางฤดูฝน ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้หรือไม่นั้น ต้องดูที่ปริมาณฝนและพายุที่จะพัดเข้ามาว่ามีความถี่และปริมาณมากแค่ไหน
“ช่วงกลางฤดูฝนเราต้องรอฟังข่าวว่ามีพายุพัดเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน ไต้หวัน เท่าไร เพราะหลังจากนั้นก็เสี่ยงที่จะพัดเข้ามาในประเทศไทย ปกติพายุที่พัดผ่านประเทศเพื่อนบ้านจะมีปลายหางที่อ่อนกำลังก่อนมาถึงประเทศไทย แต่ลานินญาจะทำให้พายุมาถึงเราโดยไม่อ่อนกำลัง และฝนที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมจริงๆ มักจะเป็นฝนช่วงที่ 2 ของฤดูที่จะตกในช่วงปลายเดือน ส.ค. ยาวไปถึงปลายปี” อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมฯ มหิดล กล่าว
หากย้อนกลับไปดูข้อมูล อิทธิพลของลานินญาในปี 2554 พบว่า ในปีนั้นฝนมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่เดือน มี.ค. และมีปริมาณฝนมากกว่าปกติเกือบทุกเดือน พายุที่พัดเข้ามาในปีนั้น ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ถึง 5 ลูก ประกอบด้วย พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก โดยพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยช่วงปลายเดือน มิ.ย. มีพายุโซนร้อน “ไหหม่า” พัดถล่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ในปีนั้นปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยปกติจะมีพายุช่วงฤดูฝนประมาณ 2 ลูก ฝนที่ตกในขณะนี้เป็นฝนที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย หลังจากเดือน ส.ค. จะเริ่มเป็นฝนที่มาจากทะเลจีนใต้และเป็นช่วงที่ต้องเริ่มจับตาเรื่องของพายุและร่องความกดอากาศที่จะพัดเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะมีพายุก่อตัวหรือไม่นั้น สามารถบอกล่วงหน้าได้ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต