จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อความในโซเชียลมีเดีย ระบุว่า จะยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่แค่บิดเบือน แต่เป็นเท็จ ใครที่บอกว่าคิดจะปราบโกงก็ช่วยเอาเรื่องนี้ไปดูด้วย นี่คือการโกงแบบชัด ๆ เพราะไม่มีมูลความเป็นจริง แต่มีคนไปเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา ตนอยากบอกว่า มนุษย์เกิดมาได้ดีกว่าสัตว์ ควรนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า ไม่ใช่แค่คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว แล้วมาทำทุกอย่างที่ไม่เป็นความจริง เราต้องมาช่วยกันคิด ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ไปแตะต้อง ตัดสิทธิอะไรของประชาชนให้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข ของเดิมมีอย่างไรก็ยังมีอย่างนั้น อีกทั้งโครงการ 30 บาทไม่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เราเขียนกำหนดแค่ว่า คนยากไร้ต้องได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ต้องลงไปดูพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วย
เมื่อถามว่า จะฟ้องร้องเรื่องนี้ด้วยตนเองหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ดูแลการลงประชามติโดยตรง ดังนั้น ควรให้ กกต.กลั่นกรองดีกว่า เราเป็นเพียงเจ้าทุกข์เท่านั้น
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า การกระทำแบบนี้เหมือนกับวิชามาร ยืนยันว่า กรธ.ไม่คิดจะตัดบริการด้านสาธารณสุขที่ประชาชนได้รับอยู่แล้ว การกระทำนี้ผิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แม้ว่าจะมีการยื่นเรื่องตีความมาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่มีผลกระทบต่อการออกเสียงประชามติ และถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเอาผิดคนที่เผยแพร่บิดเบือนข้อมูลอยู่ ดังนั้น เราจะส่งเรื่องให้ กกต.ดำเนินการต่อไป แต่เราคงไม่ไปเป็นคู่กรณีเอง เพราะจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรธ.เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น
นายอุดมยังกล่าวถึงการอบรมวิทยากรระดับอำเภอ (ครู ข.) ในช่วงที่ผ่านมาว่า ภาพรวม กรธ.มีความพึงพอใจ เพราะวิทยากรระดับจังหวัด (ครู ก.) ได้เตรียมตัวอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม กรธ.จะพยายามหาเครื่องมือช่วยให้วิทยากรสามารถอธิบายร่างรัฐธรรมนูญได้ดีขึ้น ส่วนการอบรมวิทยากรระดับพื้นที่ (ครู ค.) ก็จะเริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน โดยจะกระจายการอบรมตามอำเภอเป็นหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบของแต่ละอำเภอจะกำหนด โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมการจัดอบรมครู ค. มาให้ กรธ.ดูแล้ว และ กรธ.ก็กำลังคุยกันว่า จะแบ่งคนไปให้กำลังใจและช่วยสังเกตการณ์รวมทั้งทำความเข้าใจอย่างไรได้บ้าง
ที่มา : มติชนออนไลน์
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต