จากประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 มิถุนายน นายณรงค์ คงคำ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก (กอภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินบนภูทับเบิกว่า เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ได้มีการประชุมผู้แทนจาก 4 กระทรวงหลัก เพื่อพิจารณาหารือถึงร่างแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินภูทับเบิก ซึ่งทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับมอบหมายให้จัดทำขึ้น ซึ่งในการหารือในที่ประชุมให้มีการปรับปรุงอีกเล็กน้อย เพื่อจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) 4 กระทรวงในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายณรงค์กล่าวว่า เรื่องหลัก ๆ ที่ให้ปรับปรุงเป็นเรื่องตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. ให้แนวทางไว้ร่วมกับ รมว.อีก 3 กระทรวง เกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งเรื่องที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ผ่อนปรน ซึ่งประเด็นอื่น ๆ ไม่น่าจะติดขัดอะไรว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยราษฎร ก็ได้รับการยอมรับและมีการประชาคมผู้มีส่วนได้เสีย แต่ทั้งนี้ยังมีประเด็นพื้นที่ผ่อนปรนที่ทำรีสอร์ตในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวทางว่ากรมป่าไม้จะต้องดำเนินการในส่วนที่มีการจับกุมฟ้องร้องบังคับคดีและแจ้งความร้องทุกข์ไว้ให้ว่ากันไปตามขบวนการ
“ในส่วนพื้นที่ผ่อนปรนตรงนี้ต้องไม่เป็นพื้นที่ที่ทางธรณีวิทยาบอกว่ามีสภาพดินโคลนสไลด์หรือถล่มลาดชัน เสี่ยงภัย และขวางทางน้ำ และในส่วนของราษฎรที่จะได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องเป็นชาวเขาหรือบุคคลดั้งเดิมที่มีทะเบียนอยู่ในพื้นที่ก่อนปี 2527” นายณรงค์กล่าว
นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับรีสอร์ตที่มีการสำรวจและขึ้นทะเบียนไว้มีทั้งหมดจำนวน 95 แห่ง และมีรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยมากกว่า 30 แห่ง โดยรีสอร์ตเหล่านี้ต้องรื้อถอนออกไป ซึ่งนอกจากจะไม่มีการชดเชยอะไรทั้งสิ้นแล้ว ยังต้องถูกดำเนินคดีในฐานความผิดใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และยังต้องรับผิดชอบในส่วนของความเสียหายอีกด้วย
ที่มา: มติชนออนไลน์
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต