จากประชาชาติธุรกิจ
บทสรุปล่าสุดเกี่ยวกับการย้าย "หมอชิต 2" เพื่อคืนพื้นที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำไปก่อสร้างพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมขนส่งทางราง ชัดเจนว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก บขส.จะเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯใกล้ ๆ กับสถานีหมอชิต 2 เดิม จำนวน 16.7 ไร่ ระยะเวลา 15 ปี เพื่อสร้างเป็นสถานีเดินรถสายสั้นในรัศมี 300 กิโลเมตร ถ้าเป็นสายเหนือก็น่าจะแถว ๆ นครสวรรค์ ส่วนสายอีสานประมาณนครราชสีมา
ส่วนที่ 2 บขส.จะใช้ที่ดินของตัวเอง 45 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ สร้างเป็นสถานีขนส่งแห่งใหม่ รองรับการเดินรถสายเหนือและสายอีสาน
ข่าวแจ้งด้วยว่า เพื่อป้องกันปัญหาจราจรในอนาคต บขส.ได้เสนอให้สร้างทางยกระดับเชื่อมเข้ากับตัวสถานีหมอชิต 3 โดยตรง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกลับรถบริเวณศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ซึ่งปัจจุบันรถราคับคั่งอยู่แล้ว รวมทั้งเตรียม "ชัตเติลบัส" เพื่อ "รับ-ส่ง" ระหว่างสถานีหมอชิต 2 ไปยังสถานีหมอชิต 3 ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่
จากก่อนหน้านี้ บขส.เคยมีข้อสรุปจะย้ายสถานีขนส่งหมอชิตไปอยู่นอกเมืองทั้งหมด แต่จนแล้วจนรอดไม่สามารถหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม
บขส.ให้เหตุผลที่ต้องย้ายออกไปอยู่รังสิต เนื่องจากความแออัดของหมอชิต 2 ที่แต่ละวันมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดต่อเนื่องจะอัดแน่นไปด้วยผู้คนจนแทบจะไม่มีที่ยืน
เช่นเดียวกับปัญหาการจราจร เพราะมีรถบัสขนาดใหญ่เข้า-ออกวันละเป็นพัน ๆ เที่ยว บวกกับขนส่งมวลชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องทั้ง ขสมก. รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่
สุดท้ายทั้ง บขส.และการรถไฟฯเจ้าของพื้นที่ก็เลือกใช้แนวทางล่าสุด ซึ่งโดยผิวเผินน่าจะตอบโจทย์ต่าง ๆ ได้พอสมควร
อย่างน้อยที่สุด คนที่เดินทางใกล้ ๆ ในรัศมี 300 กิโลเมตร ก็ไม่ต้องฝ่าการจราจรไปถึงรังสิต เพื่อไปต่อรถที่นั่น
แต่มองได้เช่นกันว่า นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด
จากที่ผ่านมา บขส.เองเคยมีบทเรียนการย้ายสถานีขนส่งสายใต้ จากปิ่นเกล้าไปอยู่ไกลถึงพุทธมณฑลสาย 1 โดยอ้างเหตุผลเดียวกันมาแล้ว นั่นคือเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในย่านสะพานพระปิ่นเกล้า แต่กลายเป็นว่าในขณะที่เราแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งสำเร็จ เรากลับไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา และผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ ผู้ไม่มียานพาหนะเป็นของตัวเอง มีเพียงรถ บขส.เป็นที่พึ่งพิง
นึกถึงภาพคนที่มาจากต่างจังหวัดไกล ๆ มือหนึ่งถือกระเป๋า อีกมือหนึ่งหอบลูกจูงหลาน พอลงรถ บขส.ที่สายใต้ใหม่ หอบข้าวของขึ้นรถร่วม ขสมก. ฝ่ารถติดอีกเป็นชั่วโมง ๆ กว่าจะถึงหมอชิต เพื่อต่อรถไปอีกจังหวัดหนึ่ง
แต่นี่เรากำลังจะย้ายสถานีขนส่งสายเหนือและสายอีสาน จากหมอชิตออกไปไกลถึงรังสิต
ไม่มีใครปฏิเสธว่าในภาวะราคาที่ดินทะยานขึ้นมหาศาล การแสวงหาที่ดินที่มีความเหมาะสม ไม่ไกลจากตัวเมืองจนเกินไป เพื่อให้คนเดินทางไปมาได้สะดวก เพื่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ ขณะเดียวกันเมื่อสร้างแล้วต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะมีบทสรุปเช่นนี้
เพราะในขณะที่เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ศูนย์กลางการขนส่งมวลชนต่าง ๆ ทั้งรถไฟและรถโดยสารจะอยู่ในจุดที่ผู้คนไปมาได้สะดวก เพื่อจูงใจให้คนใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดปัญหามลพิษ และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง สำคัญที่สุดคือความสะดวกสบายของประชาชน
แต่บ้านเรายิ่งสร้างใหม่ ยิ่งไกลออกไปเรื่อย ๆ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ คนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต