จากประชาชาติธุรกิจ
"อภัยภูเบศร" เดินหน้า 2 บิ๊กโปรเจ็กต์ "อภัยภูเบศรเวชนคร" เฮลท์คอมเพล็กซ์ 200 ไร่ บริเวณตีนเขาใหญ่ ฝันไกลใช้เป็นสถานที่จัดงานสมุนไพรโลก พร้อมผุด"สวนสมุนไพรพืชน้ำบางเดชะ" ศูนย์รวมพันธุ์พืชน้ำจากทั่วประเทศ ชี้เทรนด์สมุนไพรมาแรง นักท่องเที่ยวแห่เยี่ยมชมปีละเฉียดแสน สุดปลื้มเครื่องสำอาง "บัวไผ่ข้าว" ฮิต เผยนักธุรกิจจีนจีบซื้อแฟรนไชส์เดย์สปาไปเปิดที่คุนหมิง ลั่นพร้อมเป็นผู้นำ สมุนไพรอาเซียนใน 10 ปี
รายได้ปีละ 300 ล้าน บัวไผ่ข้าวฮิต
นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาลนำร่องที่ใช้การแพทย์แผนไทย มีการพัฒนาวิจัยและผลิตยาสมุนไพรหลายชนิด โดยตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรขึ้นมาเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยจะแบ่งกำไรร้อยละ 70 ให้โรงพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นของมูลนิธิที่จะใช้ในการพัฒนาสมุนไพรและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ปัจจุบันมูลนิธิมีรายได้ปีละ 300 ล้านบาท รายได้หลักมาจากการจำหน่ายในประเทศ และบางส่วนส่งออกไปประเทศจีน ออสเตรเลีย และอเมริกา
"ขณะนี้เรามีผลิตภัณฑ์ประมาณ 300-400 ผลิตภัณฑ์ และจะมีการผลิตโปรดักต์ใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตอนนี้ที่กำลังดัง คือ เครื่องสำอางบัวไผ่ข้าว มีราคาถูกกว่าแบรนด์ต่างประเทศ แต่ประสิทธิภาพเทียบเท่า ซึ่งเป็นสารสกัดมาจากดอกบัวไผ่ และน้ำมันรำข้าวมาผสมกัน ทำให้มีกลิ่นหอม ผลิตภัณฑ์ชุดนี้มีตั้งแต่เซรั่ม เดย์ครีม ไนต์ครีม เฟเชียลโฟม บอดี้สครับ ในระยะหลังนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามหรือเครื่องสำอางขายดีมากกว่ายา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักจึงหันมาพัฒนามากขึ้น เพราะต้องมีรายได้มาเลี้ยงระบบ ขณะที่สมุนไพรทางยาก็ทำอยู่"
จีนขอซื้อแฟรนไชส์สปาไปคุนหมิง
นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลแล้วยังมีบริการด้านสุขภาพอื่นๆด้วย อาทิ อภัยภูเบศรเดย์สปา สปามาตรฐานระดับโลกร้านโพธิ์เงินโอสถ ร้านสมุนไพรอภัยภูเบศรโดยมีคนมาเที่ยว ศึกษาดูงานปีละเกือบแสนคน ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลเดียวที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากกว่าคนไข้ โดยเฉพาะที่เดย์สปาได้รับความนิยมมาก ล่าสุดนักธุรกิจจีนเข้ามาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดที่คุนหมิง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมที่จะทำข้อตกลงเอ็มโอยูให้เป็นการค้าระหว่างประเทศ
บิ๊กโปรเจ็กต์อภัยภูเบศรเวชนคร
นอกจากนั้น ยังมีโครงการพัฒนาเฮลท์คอมเพล็กซ์ (Health Complex) หรือโครงการอภัยภูเบศรเวชนคร บนพื้นที่เกือบ 200 ไร่ บริเวณใกล้เขาใหญ่ งบประมาณหลักร้อยล้านบาท โดยองค์กรทีเซล (TCELS) หรือศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเพื่อดีไซน์ศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา ซึ่งภายในจะประกอบด้วยแหล่งปลูกสมุนไพรหายากประมาณ 2,000 ชนิด แหล่งเรียนรู้เรื่องสมุนไพร ศูนย์เทรนนิ่งในการดูแลผู้สูงอายุ และอื่น ๆ
ขณะนี้เริ่มปรับพื้นที่และลงพืชพรรณแล้วประมาณ 20% แต่จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณ เพราะการลงทุนสูงต้องทำเป็นเฟส คาดว่าถ้าจะให้มีสมุนไพรครบสมบูรณ์เป็นมาตรฐานสากล น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี แต่ถ้าสำเร็จในเบื้องต้นจะใช้เวลาราว 5 ปี ซึ่งมีแผนที่จะจัดงานสมุนไพรโลกที่นี่ เหมือนงานพืชสวนโลก
นอกเหนือจากนโยบายการรักษาพยาบาลแบบผสมผสาน คือ แผนไทยกับแผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทยแล้ว อภัยภูเบศรมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านสมุนไพรในระดับอาเซียน โดยจะมีโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ "โครงการบางเดชะ" บนเนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ อยู่ระหว่างของบประมาณผ่านกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย โดยงบประมาณปี 2558 จำนวน 11.1 ล้านบาท งบประมาณปี 2559 จำนวน 37.1 ล้านบาท โครงการนี้จะเป็นแหล่งสมุนไพรพืชน้ำทั้งหมดที่จะรวบรวมพันธุ์ทั่วประเทศ โดยจะเป็นแหล่งของการเรียนรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมที่พัก สถานที่ฝึกอบรม อยู่ห่างจากโรงพยาบาลไปประมาณ 10 กิโลเมตร โดยเฟส 1 จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปีหน้า
สร้างแพทย์เข้าใจสมุนไพร
นายแพทย์จรัญกล่าวอีกว่า ล่าสุดวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาสร้างโรงเรียนแพทย์ หรือศูนย์แพทย์ โดยให้นิสิตแพทย์ปี 4-6 จำนวน 46 คน ได้เรียนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยเรื่องสมุนไพรของอภัยภูเบศรด้วย เพราะปัจจุบันมีหลายโรคที่สามารถใช้การรักษาร่วมกันกับการแพทย์สมัยใหม่ เรียกว่าการแพทย์ผสมผสาน เช่น Stroke คือเส้นเลือดในสมองที่ตีบ ตัน แตก จะใช้การแพทย์แผนไทยเข้าไปช่วยนวดกระตุ้นประสาท เป็นต้น
ขณะที่วิทยาลัยแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรก็ได้ผลิตนักการแพทย์แผนไทย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการ และมีความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยมากขึ้น ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาแล้ว 5 รุ่น รุ่นละ 50 คน โดยกระจายไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สมุนไพรต้องส่งเสริมทุกภาคส่วน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าวว่า ปัญหาสำคัญของสมุนไพร คือ ตลาด เมื่อปลูกแล้วไม่มีคนรับซื้อ ขณะที่อภัยภูเบศรก็ไม่สามารถรับซื้อทั้งประเทศได้ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องกำลังการผลิต และมีแปลงปลูกอยู่แล้ว ดังนั้น นโยบายของรัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ทั้งรัฐและเอกชน โดยทุกจังหวัดทำอย่างไรคนถึงจะบริโภคพืชสมุนไพรและยาสมุนไพรในจังหวัดของตัวเอง หรืออาจจะให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาสมุนไพรในกรณีที่สามารถใช้ยาสมุนไพรก่อนได้ เช่น ยาแก้ไอมะขามป้อม ทั้งนี้ จะต้องมีนโยบายจากข้างบน
"แม้ว่าเทรนด์ของคนไทยเวลานี้ห่วงสุขภาพมากขึ้น เริ่มเอาสมุนไพรมาใช้ แต่สมุนไพรบางตัวก็มีปัญหา เช่น ขี้เหล็ก ถ้ากินมาก ๆ ทำให้ตับอักเสบได้ เป็นต้น ฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าสมุนไพรทุกตัวจะมีแต่ประโยชน์ ดังนั้น ต้องศึกษาหาความรู้ด้วย หรือปรึกษาแพทย์แผนไทยด้วย"นายแพทย์จรัญกล่าว
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย