จากประชาชาติธุรกิจ
โดยหมอเกษตร จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
กล้วยไม้รองเท้านารี หรือ เลดี้ สลิปเปอร์ แบ่งออกได้ 3 ชนิดใหญ่ๆ ชนิดแรก ชอบขึ้นอยู่อาศัยบนพื้นดินที่มีเศษซากใบไม้ผุ เป็นแหล่งให้น้ำและอาหาร มีกล้วยไม้รองเท้านารีคางกบเป็นตัวอย่าง ชนิดที่ 2 ชอบขึ้นอยู่ตามคาคบไม้ และต้องการอากาศหนาวเย็น มีรองเท้านารีอินทนนท์ เด่นที่สุด และ ชนิดที่ 3 ชอบขึ้นอยู่ตามซอกหิน บริเวณหน้าผา เขาหินปูนที่มีเศษซากใบไม้ผุตกค้างสะสมรวมกันอยู่ เช่น กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรัง
การปลูก หรือการเพาะเลี้ยง และดูแลรักษากล้วยไม้รองเท้านารีให้งามนั้น เริ่มจากเลือกวัสดุปลูกที่เหมาะสม วัสดุส่วนบนกระถาง นิยมใช้กาบมะพร้าวสับ ใบไม้ผุ เปลือกถั่วลิสง หรือเศษโฟมหัก ทำหน้าที่ช่วยอุ้มน้ำ และระบายน้ำ ทำให้รากพัฒนาได้ดี ชั้นใช้วัสดุปลูก 1 ใน 3 ของกระถางปลูก ส่วนชั้นล่าง ต้องโปร่งและคงทนได้นาน ตัวอย่าง อิฐมอญทุบ หรือหินภูเขาไฟ ปริมาณ 2 ใน 3 ของกระถาง
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้รองเท้านารี คือ แสงแดด โดยรวมแล้ว กล้วยไม้รองเท้านารีเกือบทุกชนิดต้องการแสงแดดเพียง 20-40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จึงต้องพรางแสงด้วยซาแรนสีดำ ตัดแสงลง 60-80 เปอร์เซ็นต์ การได้รับแสงมากเกินความต้องการ ทำให้วัสดุปลูกร้อน มีผลทำให้ระบบรากเติบโตช้า ใบไหม้ ก้านช่อดอกจะสั้นลง น้ำ โดยธรรมชาติแล้ว
กล้วยไม้รองเท้านารี แม้ว่าต้องการความชื้นสูง แต่ไม่ต้องการสภาพที่เปียกแฉะ การรดน้ำที่ถูกต้อง ควรรดตอนเย็น ก่อนเวลา 18.00 น. ด้วยวิธีพ่นเป็นละออง ห้ามฉีดน้ำด้วยความดันสูง เพราะทำให้ต้นและใบช้ำ น้ำจึงมีความสัมพันธ์กับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ดังนั้น ภายในโรงเรือน ให้รองพื้นด้วยทรายหยาบ ขณะเดียวกัน ต้องให้อากาศในโรงเรือนถ่ายเทได้ดี เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และแมลงศัตรูอื่นๆ ปุ๋ย เนื่องจากวัสดุปลูก นิยมใช้อินทรียวัตถุเป็นส่วนประกอบ ส่วนหนึ่งจะแปรสภาพเป็นอาหารกล้วยไม้รองเท้านารีได้ การให้ปุ๋ยเคมีจึงควรใส่ในอัตราที่ต่ำกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น และอีกปัจจัยหนึ่งคือ อุณหภูมิ กล้วยไม้รองเท้านารีเกือบทุกชนิด ต้องการอุณหภูมิระหว่าง 24-28 องศาเซลเซียส
ภาชนะสำหรับใช้ประกอบในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี เลือกได้ 3 รูปแบบ
1. กระถางดินเผา ข้อดี สามารถเก็บความชื้นได้ดี และรักษาอุณหภูมิภายในกระถางไม่ให้เปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างเฉียบพลัน ขณะเดียวกัน ด้วยมีน้ำหนักมากและมีราคาแพง จึงเป็นข้อเสียของกระถางชนิดนี้
2. กระถางพลาสติก ข้อดี มีน้ำหนักเบา มีให้เลือกหลายรูปแบบ ราคาก็ถูกกว่า ส่วนข้อเสีย การระเหยน้ำในช่วงอากาศร้อนได้น้อย เมื่อเทียบกับกระถางดินเผา และ
3. กระถางที่ทำจากไม้ ลักษณะคล้ายกระเช้าสี่เหลี่ยม กระถางชนิดนี้เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี อินทนนท์ และเหลืองเมืองกาญจน์
โรงเรือนที่ดี ต้องทำหลังคา 2 ชั้น ชั้นบนสูงจากพื้นโรงเรือน 3-4 เมตร ขึงด้วยซาแรนสีดำ อีกชั้นหนึ่งลดระดับต่ำลงมาอีกประมาณ 1 เมตร มุงด้วยแผ่นพลาสติกใส ป้องกันน้ำฝนตกลงมากระแทกต้นและใบกล้วยไม้ และขึงล้อมด้วยซาแรนสีดำรอบโรงเรือนในแนวตั้ง ให้ชายด้านล่างสูงจากพื้นโรงเรือน 50-70 เซนติเมตร ลมพัดผ่านได้ดี พร้อมทำรางแขวนกระถาง หรือทำโต๊ะวางกระถางพื้นไม้ระแนง สูงพอเหมาะกับการปฏิบัติงาน
โรคและแมลงศัตรูสำคัญ ที่พบการระบาดอยู่เสมอ คือ โรคเน่าดำ หรือ เน่าเละ อาการเริ่มเป็นจุดช้ำที่ใบและหน่ออ่อน ต่อมาขยายใหญ่ขึ้นและมีกลิ่นเหม็น วิธีป้องกันและกำจัด เมื่อพบการเกิดโรค ต้องปรับปรุงโรงเรือนให้มีการระบายอากาศได้ดีขึ้น หากระบาดรุนแรงจึงใช้สารเคมี หรือสารปฏิชีวนะอย่างถูกวิธี และให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ส่วนแมลง มี เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามกลีบดอกหรือซอกใบ ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณที่แมลงอาศัยอยู่ ทำให้ใบมีจุดสีเหลือง ต่อมาบิดเบี้ยว ยอดอ่อนหงิกงอ วิธีป้องกันกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยอะบาเม็กติน หรือ อิมิดาคลอพริด ตามอัตราแนะนำข้างฉลาก ข้อควรระวัง ไม่ควรฉีดพ่นในขณะแดดจ้า มีอากาศร้อนจัด เพราะสารเคมีจะสลายตัวอย่างรวดเร็ว หากสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีได้งามสมใจ
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวัง การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีใน กทม. นั้น การควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเจริญเติบโตและให้ดอกนั้น ต้องทำอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ และต้องลงทุนสูงทีเดียว ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงทำให้ผู้รักกล้วยไม้รองเท้านารีใน กทม. เลิกราไปแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย ลองนำข้อคิดของผมไปพิจารณาก่อนตัดสินใจเพาะเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี ขอให้โชคดีครับ
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย