สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.รอยล จิตรดอน ฝนยังไงก็มาแต่มาช้า ปัญหาคือเราจะจัดการกับน้ำต้นทุน ที่เรามีจำกัด ณ ขณะนี้ยังไง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็น ที่ตระหนักและรับรู้กันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้เข้าสู่วิกฤติอย่างหนัก น้ำในเขื่อนใหญ่แห้งขอดจากเหตุฝนทิ้ง ช่วงนานปิดปกติ ซ้ำร้ายฝนตกนอกเขื่อนไม่มีน้ำเติมเข้าเขื่อน ขณะที่เกิดกระแสว่าประเทศไทยจะไม่มีร่องมรสุมพายุฝนเข้ามาเติมปริมาณน้ำหล่อ เลี้ยงภาคเกษตร ทั้งยังมีนักวิชาการบางคนออกมากระตุ้นเตือนให้ประชาชนกักเก็บน้ำสำรองสำหรับ อุปโภคบริโภค
       
       ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร เลวร้ายขนาดไหน และจะหนักหนาสาหัสเหมือนที่เคยเกิดในปี 2530 และ 2540 หรือไม่ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. (HAII) เพื่อมาตอบโจทย์วิกฤตการณ์น้ำในครั้งนี้
       
       สถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 มีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
       
       สิ่งที่จะต้องดูคือสถานการณ์ฝนครับ ที่พบก็คือปีนี้จะเหมือนปี 2530 กับปี 2540 กรมอุตุฯ กับ สสนก. ก็เห็นตรงกัน อีกอย่างทะเลลักษณะคล้ายกันมาก แต่ในสถานการณ์ปี 2530 กับ ปี 2540 น้ำในเขื่อนมันเยอะกว่านี้ ปีนี้ฝนน้อยและก็น้ำในเขื่อนน้อย น้อยกว่าปกติเยอะ อย่าง น้ำในเขื่อนภูมิพล ปี 2535 ยังครองแชมป์ปริมาณน้ำน้อยที่สุด แม้ปีนี้มีมากกว่าแต่นิดเดียว
       
       ประเทศไทยยังโชคดีขณะที่มีเอลนีโญ ก็ยังมีร่องมรสุมเข้ามา 2-3 รอบเนื่องจากพายุในแฟซิฟิก เรายังมี พายุคูจิระ, พายุจันหอม, พายุบลังกา ฯลฯ เพราะฉะนั้น ร่องมรสุมมันแรงขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย. สาเหตุที่ร่องมรสุมแรงขึ้น เพราะว่ามันมีคลื่นขนาดใหญ่ที่ขั้วโลกใต้ ก็ส่งอิทธิพลขึ้นมา ในช่วงเดียวกับปากีสถานมีฮีตเวฟเข้าพอดี สัปดาห์แรกของเดือน ก.ค. ก็มีร่องมรสุมจากฟิลิปปินส์ แต่ฝนที่เข้ามาน้ำ เข้า เขื่อนเข้าที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นหลัก และก็เข้าเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนภูมิพล แต่เขื่อนอุบลรัตน์ได้รับปริมาณน้อยอยู่ ถึงตอนนี้เรายังโชคดีอยู่ที่ร่องมรสุมพัดผ่านประเทศไทยก็กลับมาแรงขึ้นอีก ทำให้ช่วงวันที่ 14 - 15 และ 17 ก.ค. มีฝนตกในภาคกลางภาคอีสาน รวมทั้งฝนหลวงปฏิบัติการ ก็ฝนตกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และก็มีเข้าอีกรอบวันที่ 18 - 19 ก.ค. ที่ร่องมรสุมกำลังแรง ย้อนกลับมาที่เหมือนปี 2530 และ 2540 ที่ฝนจะตกหนักมากในช่วงเดือน ส.ค. กับเดือน ก.ย. และจะหายช่วงเดือน ต.ค.
       
       สถานการณ์ฝนในปีนี้เหมือนปี 2530 หรือปี 2540อย่างไร
       
       อย่างที่เราประเมินปี 2530 กับ ปี 2540 น้ำที่จะเข้าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งเขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสัก ก็น่าจะพอสำหรับ อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว เพราะว่าอย่าลืมในขณะที่น้ำเข้าเขื่อนน้อยก็จริง แต่ ส.ค. - ก.ย. ฝนน่าจะตกในพื้นที่เกษตร แต่ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นเรามีฝนปีนี้ถ้าเหมือน 2530 ก็ในเดือน ส.ค. - ก.ย. แต่การจัดเก็บมันไม่เหมือนเดิม เขื่อนมันไม่พอ เขื่อนจะต้อง จัดเก็บในพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง การจัดเก็บมันต้องอาศัยแม่น้ำคลอง ถ้าช่วงนี้ดีที่สุดก็ไปฟื้นฝายกับคลอง เพราะอีสาน ไม่ต้องไปห่วงเขาหรอก สถานการณ์ดีกว่าภาคกลางเยอะเลย แต่ว่าอีสานเองนี้ก็พึ่งคลองเพราะอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ภาคกลางพึ่งระบบชลประทานเต็มๆ
       
       ถ้าย้อนกลับไปดูทำไมเราถึงเชื่อว่าสถานการณ์มันคล้ายกับปี 2530 และ2540 เพราะว่าภาคอีสานเป็นอย่างนั้นจริงๆ ภาคอีสานพื้นที่เกษตรอยู่นอกชลประทานตั้ง 94 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าเขาก็เริ่มเก็บน้ำได้ ตรงนี้ภาคกลางก็ต้องหันไปมองภาคอีสาน อีกช็อตที่เรามองไปถึง เดือน พ.ค. คือน้ำต้นทุนในเขื่อนน้อยมากเราจะต้องสำรองน้ำอย่างไร ไปถึงแค่ไหน ฝนยังไงก็มาแต่มาช้า เพราะฉะนั้นระหว่างนี้เราจะจัดการกับน้ำต้นทุน ที่เรามีจำกัดอย่างไร แต่ก็ยังโชคดี ถ้าจะมองให้ครบถึงแม่น้ำต้นทุนในเขื่อนจะน้อย แต่ยังมีฝนตกเพียงแต่มันตกผิดที่ ตรงนี้แหละ แล้วเราจะจัดการกันอย่างไร
       
       ก่อนหน้านี้มีนักวิชาออกมาให้ข้อมูลว่าประเทศไทยไม่มีร่องมรสุมไม่มีฝนเข้ามา แสดงว่าเป็นข้อมูลผิดพลาด
       
       น่าจะผิดครับ ดูแผนที่ร่องมรสุมถ้าทะเลอย่างนี้ก็ไม่ควรคลาดเคลื่อน ทะเลเปลี่ยนจะใช้เวลา เพราะฉะนั้นผมถึงเชื่อในข้อมูลทางทะเล ส่วนความคลาดเคลื่อนอาจมีบ้าง
       
       ถ้าหากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ กรณีฝนมาน้อยหรือไม่มีเลยจะเกิดวิกฤตอย่างไร
       
       ถึงวันนี้มันฝนเป็นตามแพตเทิร์น ปี2530 ตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่ในปีนั้นน้ำต้นทุนในเขื่อนมันเยอะ แน่นอนมันมีโอกาสผิด มันไม่มีใครถูก หมดหรอก ในช่วงของการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ เราจะไปวางแผนอยู่บนสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่ได้ อากาศเราต้องถือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีแผนสำรอง อะไรคือความแน่นอน?
       
       อย่างที่กล่าวในข้างต้น หมายความว่าต้องมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใช่หรือเปล่า
       
       สร้างก็ไม่ทัน เพราะฉะนั้นคุณจะเก็บน้ำอย่างไร คุณจะเก็บน้ำที่เป็นบ่อทรายบ่อดินอย่างไร ก็ต้องหันมาฟื้นประตูน้ำต่างๆ เพราะแต่เดิมเราไม่ได้ใช้ เราเอาน้ำจากเขื่อนลงมาเลย แต่ตอนนี้มันไม่ได้มันต้องเก็บ ทีนี้ประตูพวกนี้มันกระจายอยู่ มันก็ต้องจัดระบบขึ้นมาจะบริหารประตู พวกนี้อย่างไร
       
       มันต้องมีระบบสำรองด้วย แต่เดิมฝนมันตกต้องตามฤดูกาล ถึงเวลามันไปตกเหนือเขื่อนภูมิพล ถึงเวลาไปตกเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ตอนนี้มันไม่แน่นอนแล้ว ถ้ามันตกใต้เขื่อนเรายังไม่มีโครงสร้าง แต่โครงสร้างพวกนี้ ในหลวง ท่านรับสั่งเรื่องพวกนี้มานานแล้วก็คือคำว่า 'แก้มลิง' จะเห็นได้ว่าธัญบุรีถ้าไม่มีสระพระราม 9 ยุ่งเลย
       
       จริงๆ แล้วก็มีการคาดการณ์ว่าประเทศจะประสบปัญหาภัยแล้ง
       
       ครับ คาดการณ์ว่าจะมีปัญหาเรื่องฝนน้อย คาดการณ์กันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี
       
       แต่เตรียมตัวแก้ปัญหาไม่ทัน พูดอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า
       
       ผมตอบแทนรัฐบาลไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องตอบ
       
       ดูเหมือนกรณีน้ำประปาหยุดไหลที่ จ.ปทุมธานี สร้างความแตกตื่นแก่คนกรุงเทพฯ ให้ตระหนักถึงวิกฤติภัยแล้ง
       
       น่าเป็นห่วงเรื่องปัญหาน้ำเค็มรุกมากกว่าครับ เพราะว่าเรื่องขาดแคลนน้ำนั้นยังไม่มี แต่ปัญหาคือมีแล้วเค็มหรือไม่เค็ม ประเด็นมันเป็น อย่างนี้ครับ ถ้าย้อนกลับมาดูแผนที่เราจะเห็นได้ว่าเขื่อนชัยนาท สูบน้ำจากการประปานครหลวง สับแล บางไทร ตั้งแต่ ร.5 ก็คาดการณ์ว่าน้ำเค็มจะไปถึงจุดนั้นได้ เราจะเห็นว่าแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง ประสบปัญหาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไม่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำควบคู่ การใช้น้ำที่มากมันก็ทำให้ลำน้ำแห้ง พอลำน้ำแห้งน้ำเค็มมันก็รุกมาก พอรุกมากก็ต้องใช้น้ำจืดดัน ปีนึงเกือบ 3,000 ล้านลบ.ม ตอนนี้ก็ขึ้นไปสูงก็เริ่มมีผลกระทบ แล้วการดันน้ำทะเลเราจะต้องใช้น้ำ ขณะปริมาณน้ำก็ใช้ดันสูงขึ้นด้วย ความต้องการใช้น้ำก็สูงขึ้นด้วย
       
       คนกรุงเทพฯ จำเป็นต้องกักตุนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคหรือเปล่า
       
       ผมว่ามีสำรองก็ดีนะ ใส่แท็งก์ใส่ปั๊ม แต่ที่เดือดร้อนก็คือคนที่อยู่นอกกรุงเทพฯ จะไม่มีแทงก์ไม่มีปั๊ม เพราะฉะนั้นผลกระทบถึงเยอะเวลาที่การประปาส่วนภูมิภาคน้ำขาด เพราะคนต่างจังหวัดไม่มีแท๊งก์ไม่มีปั๊มอาศัยจากท่อตรงๆ เลย พอแหล่งไปอิงกับชลประทานเสียส่วน ใหญ่ อย่างของ อ.ธัญบุรี ก็ไปอิงกับคลอง 13 พอน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ไม่มีมันก็กระเทือนกันหมด ชาวปทุมฯ ก็ยังโชคดีที่มีสระพระราม 9
       
       อยากให้ช่วยวิเคราะห์ว่าระหว่างการนำน้ำจืดดันน้ำเค็มกับการกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องใช้วิธีการแบบไหนถึงจะเหมาะสม
       
       อันที่หนึ่ง ต้องเปลี่ยนวิธีดันน้ำเค็ม อันที่สอง ถึงแม้จะอยู่ในเขตชลประทานก็ต้องมีสระสำรอง เพราะในกรณีที่ฝนตกผิดพลาด ตัวอย่าง ของเราเยอะมากไม่ว่าจะ อบต.บึงชำอ้อ อ.หนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ปรับตัวให้มีแหล่งเก็บน้ำของตัวเองก็ยังอยู่ได้ เพราะฝนก็ยังมีอยู่ ตอนนี้ชลประทานเริ่มทดลองใช้วิธีเอาน้ำจากเขื่อนพระราม 6 ป้อนลงมาปรากฏว่าได้ผล ปิดประตูระบายน้ำหมดไม่ดันสู้แล้วระบายน้ำลงมาเข้ามาทางสายคลองรังสิต คลองระพีพัฒน์แยกตก และเข้าเชียงรากตัดคลองประปาเข้าตรงนี้ ผลลัพธ์คือเราจะเซฟ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม. เปลี่ยนเส้นไม่ต้องสู้กับน้ำเค็ม ส่วนทางด้านตะวันตก อาศัยน้ำจากคลองประปามหาสวัสดิ์ป้อนเข้าที่ สถานีผลิตน้ำของการประปานครหลวง ที่ประปามหาสวัสดิ์ ซึ่งตรงนี้เรามีปริมาณน้ำเพียงพอ เพิ่มได้อีก 3 เท่า เพราะฉะนั้นด้านนี้ไม่เจอปัญหาเรื่องน้ำเค็มลุก แล้วเราก็เลียนแบบอันนี้ แทนที่จะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เอาจะเขื่อนชัยนาทแล้วก็ป้อนเข้ามาที่คลองประปาโดยตรงเลย เราก็จะเซฟปีนึง 2,000 - 3,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ต้องบริหารไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าไปในพื้นที่ซึ่งการที่จะไม่ให้น้ำเค็มรุก เข้าไปในพื้นที่แต่เดิมเราใช้วิธีดันเจ้าพระยา ตอนนี้เอาอาจจะป้อนเข้ามาทางรังสิต แล้วได้ผลทางการเกษตรอีก หรือป้อนเข้าทางคลองพระพิมลเลย มันต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารกันใหม่
       
       ภาคตะวันออกเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ มีปัญหาหรือเปล่า
       
       อันแรกน้ำทางได้ภาคตะวันออกค่อนข้างดีเพราะว่ามีเขาใหญ่ ป่าค่อนข้างดี ปัจจุบันสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกปีนี้ดีนะ เอลนีโญบอก แล้งมันไม่ใช่ สถานการณ์มันดีกว่าภาคอื่น
       
       แสดงว่าปัญหาภัยแล้งกระทบพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด
       
       เพราะเราไม่มีระบบเล็กเลย เราไปอิงระบบใหญ่อย่างเดียว เหมือนกับโครงสร้างถนนที่มีแต่ไฮเวย์แล้วไม่มีซอย เวลารถติด ติดกับเลย!
       
       อย่างนี้ต้องสร้างพื้นที่เก็บน้ำ ยกตัวอย่าง สระพระราม 9 จ.ปทุมธานี เยอะๆ หรือเปล่า
       
       มันมีอยู่แล้วเพียงแค่พัฒนาขึ้นมา บ่อทราย บ่อดิน อย่างสนามบินสุวรรณภูมิตอนถมเกิดจากทรายนครนายก แล้วบ่อพวกนั้นมันก็ยังอยู่ ทำยังไงจะเอามาใช้เท่านั้นเอง บ่อดินที่บางเลน บ่อดินที่ปทุมธานีเยอะ บ่อทรายที่ปทุมธานีก็เยอะ เราไม่คิดจะใช้เขา ถ้าไม่คิดไม่วางแผน เหตุการณ์จะเหมือนกับมาเลเซีย ไทยฝนเฉลี่ย 1,370 มิลลิเมตรต่อปี พอปี 2554 ตก 1,800 กว่ามิลลิเมตร เราท่วมตายเลย มาเลเซียฝนเฉลี่ย 3,000 มิลลิเมตรต่อปี พอลดมา 2,000 มิลลิเมตร แล้งเลย มันขึ้นอยู่เราออกแบบระบบอย่างไรออกแบบเผื่อแค่ไหน ถ้าฝนน้อยลงไป 10 เปอร์เซ็นต์เรายังอยู่ได้ไหม ฝนน้อยลงไป 20 เปอร์เซ็นต์เรายังอยู่ได้ไหม เราไม่ได้ออกแบบให้ยืดหยุ่น
       
       วิกฤติภัยแล้งลุกลามถึงขั้นเกิดสงครามแย่งชิงน้ำ ระหว่างการเกษตรกับอุปโภคบริโภคหรือเปล่า?
       
       ก็ไม่มี ก็ไม่รู้จะแย่งอะไร (หัวเราะ)
       
       แสดงว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
       
       คนกรุงเทพฯ ไม่ได้อาศัยน้ำของกรุงเทพฯ แต่อาศัยน้ำจากคนอื่นหมดเลย ปัญหาของคนกรุงเทพฯ ก็คือเวลาจะแก้ไขปัญหาอะไร จะแก้ ที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาเรื่องน้ำมันแก้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มันต้องไปแก้นอกกรุงเทพฯ ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไปบริหารให้พื้นที่ของตัวเองแห้ง แล้วถามว่าพอแห้งสิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนถนนที่บางแคทรุด เหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิที่ตอนเปิดใหม่ๆ แล้วไม่เข้าใจระบบไปรับปั้มน้ำออก จาก พื้นที่สุวรรณภูมิมากเกินไป กรุงเทพฯ ไปยึดถืออย่างเดียวว่าต้องแห้ง
       
       สถานการณ์น้ำใต้ดินเป็นอย่างไรบ้าง
       
       อันนี้หนึ่งการใช้น้ำบาดาลลดลงแล้วก็จริงๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่พื้นที่ชุ่มน้ำที่เติมน้ำให้กรุงเทพมหานคร มันเสียไปเยอะ การจะ เติมน้ำบาดาลให้กรุงเทพมหานคร เราจะต้องไปเติม ที่สิงห์บุรี ที่อ่างทอง ถ้าตะกอนมันหนา น้ำซึมไม่ได้ ตะกอนเกิดจากเราไม่ดูแลพื้นที่ นอกเขตชลประทาน เราวิ่งมาดูแลแต่พื้นที่ในเขตชลประทาน ถ้าเราย้อนกลับไปดูกฎง่ายๆ ของประเทศนิวซีแลนด์ ถ้าใครเปิดพื้นที่ใหม่ ให้ทำคลองรอบ ตะกอนมันก็ไม่กระจาย แต่น้ำมันก็ได้รับการดูแล
       
       คือตอนนี้บ้านเรามันสวิง บทจะอนุรักษ์ก็อนุรักษ์ บทจะพัฒนาก็พัฒนา ทั้งๆ ที่เราเป็นพุทธนะ แต่ไม่สายกลางเลย ถามว่าทำไมยังต้องพัฒนา อนุรักษ์อย่างเดียวไม่ได้เหรอ ย้อนกลับไปตอนที่ประเทศเริ่มพัฒนาในแผนหนึ่งของประเทศไทย ประชาชนมีอยู่ 10 กว่าล้านคน ตอนนี้มี 65 ล้านคน ถ้าเราไม่สร้างโครงสร้างมันไม่พอ ต้องใช้ข้อมูลใช้ข้อเท็จจริง
       
       ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาระบบชลประทานมีอยู่เยอะ เพียงแต่ไม่ถูกนำมาใช้
       
       ใช่ครับ แล้วบางทีเราไปเข้าใจผิด อย่างปี 2554 เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ข้อมูลชุดเดียวกันหมดเลย แต่การวิเคราะห์แน่นอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกันแล้วทำให้คนสับสนแล้วกลับไปโทษว่าข้อมูลผิด จริงๆ มันข้อวิเคราะห์ต่างหากที่ผิด
       
       ในภาคปฏิบัติผู้มีอำนาจสั่งการเข้าถึงข้อมูลหรือยัง
       
       อันที่หนึ่งข้อมูลมี แต่อันที่สองสมมุติฐานนะ ที่ผ่านมาข้าราชการมีโอกาสทำงาน ข้าราชการเก่ง เพราะฉะนั้นเขาก็หวังว่าข้าราชการจะทำงานเองได้ เขาคิดว่าเป้าหมายของการปฏิรูปในครั้งนี้ก็คือ ให้ข้าราชการทำงานเองได้ แต่จริงๆ แล้วประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแค่การเมือง ต้องเปลี่ยนแปลงข้าราชการ เปลี่ยนแปลงสังคม เพราะเราจะเห็นว่ารากฐานสังคมก็คือการศึกษา
       
       ผมก็ยังทำชุมชนของผม 340 กว่าชุมชน (ต้นแบบการจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง) เวลาทำอะไรเล็กๆ มันเป็นความสำเร็จ พอเห็นความสำเร็จแล้วมันมีกำลังใจ ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าผมเป็นคนนึงที่จะไม่ยอมเขียนแผนเลย เพราะผมไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนอิลิเมนต์แผนเลย ผมเชื่อในเรื่องของการลงมือทำงาน
       
       ผมเชื่อในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่ง ก็คือคิดให้คิดแม็คโคร ทำให้ทำไมโคร คิดแม็คโครก็คือมีข้อมูลให้ครบ ผมโชคดีที่อยู่ในจุดที่มีข้อมูลน้ำเยอะที่สุดเห็นน้ำทั้งระบบ ถามว่าผมไปเขียนแผนน้ำไหม ผมไม่เชื่อเรื่องนั้น ผมหันมาทำตัวอย่าง เพราะตัวอย่าง คน มานั่งเถียงไม่ได้เพราะความสำเร็จมันเกิดจริง ตัวอย่างจะทำให้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด แล้วการเปลี่ยนแปลงผมไม่เชื่อว่าทำระบบใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดจากตัวอย่างไม่ใช่เกิดจากระบบ แล้วตัวอย่างที่ดีจะไปสู่ระบบที่ดีขึ้น
       
       มีการพูดคุยกับทางรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งบ้างหรือเปล่า
       
       นานๆ คุยที คุยแล้วท่านก็สั่งลงมา แต่ปัญหาคือไม่มีทีมเฉพาะเรื่อง มันต้องเริ่มต้นต้องมีทีมวิเคราะห์ แต่ทีมวิเคราะห์มีของกรมชลฯ ทีมเดียว ผมเชื่อในเรื่องข้อมูล เรื่องการเปิดเผยข้อมูล ผมเชื่อมาโดยตลอดการเปิดเผยข้อมูลใครจะว่าผมหวงข้อมูลผมยืนยันได้ว่าไม่จริง อย่างชุมชนเราใช้ข้อมูล เราทำงานร่วมกับชุมชน(เรื่องการจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง) มากกว่าเอ็นจีโอสายน้ำเสียอีก เราทำงานปี 2547 เราอาจเริ่มช้ากว่าเขา แต่การทำงานร่วมกับชุมชนอนุรักษ์พัฒนาชุมชน เราทำมามากกว่ากลุ่มอื่น
       
       ภาพโดย พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ดร.รอยล จิตรดอน ฝนยังไงก็มาแต่มาช้า ปัญหาคือเราจะจัดการกับน้ำต้นทุน ที่เรามีจำกัด ณ ขณะนี้ยังไง

view