สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขันนอต บังคับใช้กฎหมาย โจทย์ใหญ่ความยั่งยืนประมงไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

จากการที่เรือประมงทั่วประเทศหยุดออกจับปลาช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นกรณีที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมต้องเกิดปัญหานี้ขึ้น เพราะทำให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านธุรกิจและผลกระทบต่อผู้บริโภคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทำอะไรอยู่ ทั้งที่มีสัญญาณเตือนเรื่องการทำประมงถูกกฎหมายและยั่งยืน มาจากองค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ หรือ FAO มานานหลายปี แล้วสหภาพยุโรป (อียู) นำมาใช้

ในกรณีของไทย อียูเตือนครั้งสุดท้ายช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องออกกฎหมายประมงใหม่มาใช้อย่างฉุกละหุก รวมทั้งรับจดทะเบียนเรือประมงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เรียบร้อย ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม จากก่อนหน้านั้นอียูเล่นงาน และเตรียมเล่นงานหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2552-2553

เมื่อไทยโดนใบเหลืองจากอียูว่า ทำประมงไม่ถูกกฎหมาย ไร้การรายงานและควบคุม รวมทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ (IUU Fishing) วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา จึงเกิดความขัดแย้งกันหนักระหว่างชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลกับกรมประมง และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) หลังจาก ศปมผ.งัดกฎระเบียบขึ้นมาบังคับใช้อย่างจริงจังกว่า 15 ข้อ ในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เข้าทำนองใช้แต่ศาสตร์หรือกฎหมาย เมื่อชาวประมงประท้วงจอดเรือไม่ออกจับปลา เพราะกลัวถูกจับและปรับ ราคาสินค้าอาหารทะเลพุ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งระบบซัพพลายเชนนับล้านคน ต้องหยุดกิจการชั่วคราวแบบไม่มีกำหนด ทำให้หน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ต้องส่งคนออกสำรวจ จึงพบปัญหาโผล่เต็มไปหมด และต้องยอมใช้ศิลป์ผ่อนผันไปอีก 15 วัน โดยการนำรถยูนิตโมบายเคลื่อนที่ออกมาบริการชาวประมงแบบวันสต็อปเซอร์วิส รวมทั้งจัดอบรมช่างเครื่อง-นายท้ายเรือกันแบบฉุกละหุก

แม้จะผิดพลาดกันไปแล้ว แต่การกลับตัวร่วมกันแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วของทั้ง 2 ฝ่ายก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะอุตสาหกรรมประมงเป็นอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าและเข้มแข็งของไทย เห็นได้จากตลาดสหกรณ์ประมงแม่กลอง ตลาดปลาคุณภาพสูงจะกลับมาเปิดการซื้อขายในวันที่ 16 ก.ค.นี้อีกครั้ง รวมทั้งตลาดทะเลไทย

ปัญหาใหญ่ที่เหลืออยู่ในขณะนี้ คือ ไต้ก๋งเรือเป็นคนต่างชาติ รัฐยังไม่ยอมผ่อนผันให้ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายในภาคตะวันออก เรือประมงเกือบทั้งหมด ไต้ก๋งเรือเป็นชาวกัมพูชา และแรงงานประจำเรือจำนวนมากไม่มีคนไทยเลย ขณะที่รัฐอยากให้มีคนไทยประจำเรืออย่างน้อยลำละ 1 คน ซึ่งสมาคมจะเสนอให้รัฐนำอดีตทหารเกณฑ์กองทัพเรือมาประจำการเรือลำละ 1 คน โดยพร้อมจ่ายค่าจ้างให้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท มีอาหารและสวัสดิการพร้อม

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คาราคาซังมานาน คือ เรื่องแรงงานทดแทนในเรือ เรือต้องใช้แรงงานจำนวนหนึ่งตามแต่ประเภทเรือประมง หากจะออกเรือครั้งต่อไป แรงงานต่างด้าวหาย หากช่วงนั้นกระทรวงแรงงานไม่เปิดรับขึ้นทะเบียนนายจ้างใหม่ให้ เพราะเปิดบริการ 3 เดือน และปิดอีก 3 เดือน ก็ออกเรือจับปลาไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย

ต่อไปก็จะเปิดตลอดไม่มีปิด ซึ่งชาวประมงมีความเห็นว่า เปิดบริการสัปดาห์ละ 1 วันก็เพียงพอแล้ว นายมงคล สุขเจริญคณา รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

ส่วนเรืออวนลาก อวนรุน เรือจับปลากะตัก ที่อาชญาบัตรไม่ถูกต้อง อยากให้ภาครัฐผ่อนผันออกใบอาชญาบัตรชั่วคราว ช่วงที่การสำรวจปริมาณและประเภทเรือไม่เสร็จ เพื่อนำมาคำนวณว่าเรือแต่ละประเภทควรมีเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐจะดำเนินการแก้ไขปัญหาข้างต้นได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายประมงใหม่เพิ่มเติมตามที่อียูต้องการ แต่ในระยะยาว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ดังที่เห็นกันมาตลอด บางรายบอกเป็นประมงพื้นบ้าน แต่วางเบ็ดยาวนับสิบกิโลเมตร ปะการังเทียมมีการเอาไฟไปล่อปลาออกมาจับ เห็นได้จากปิดอ่าวตัว ก. พอเปิดให้จับอีกครั้ง เพียงแค่ 5 วันปลาก็หมดอ่าว เพราะมือใครยาวสาวได้สาวเอา ยังไม่หมดไปง่าย ๆ


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ขันนอต บังคับใช้กฎหมาย โจทย์ใหญ่ความยั่งยืนประมงไทย

view