จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบ กุหลาบของฝรั่งมังค่า 'เดล ลี และ แอนดรูว์ สต๊อทซ์' ขุดทองใน'สุวรรณภูมิ ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งจนสร้้างธุรกิจกาแฟ
เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ปักหลักทำธุรกิจในไทยมานานถึงร่วม 2 ทศวรรษ พอๆกับอายุบริษัท เพราะปลุกปั้นมากับมือ ล้มลุกคลุกคลานผ่านร้อนหนาวมากมาย วิกฤติสุดต้องยกให้หลังยุคต้มยำกุ้ง
เรากำลังจะไปฟังเรื่องราว ของ 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน “เดล ลี” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คอฟฟี่เวิร์คส์ จำกัด และ “แอนดรูว์ สต๊อทซ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท คอฟฟี่เวิร์คส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องทำกาแฟ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องทำกาแฟ ให้กับหลายแบรนด์ดัง บอกเล่าให้ฟังถึงเส้นทางหฤโหดในการรุกธุรกิจกาแฟช่วงแรก
การเป็นหุ้นส่วนกัน เดล ดูแลด้านการดำเนินงาน (โอเปอเรชั่น) ขณะที่แอนดรูว์ คือขุนคลังหลังบ้านที่เสริมแกร่งทำให้เดลทำงานได้สะดวกมากที่สุด โดยทั้งคู่ไม่ได้เป็นเพียงพาร์ทเนอร์หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจเท่านั้น
แต่พวกเขาเป็นยิ่งกว่า “พี่น้อง” เลยก็ว่าได้ แอนดรูว์ เล่า
ก่อนที่ทั้ง 2 จะเข้ามาบุกเบิกธุรกิจในไทย เคยมีประสบการณ์ร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกามาก่อน โดย “เดล” คร่ำหวอดในธุรกิจกาแฟตั้งแต่อายุ 18 ปี ขณะที่แอนดรูว์ เคยอยู่ภายใต้ชาคายักษ์น้ำดำอย่าง “เป๊ปซี่โคล่า” มาแล้ว
การเข้ามาทำธุรกิจในไทย เพราะเห็นโอกาสบางอย่างในยุคนั้น ประกอบกับมองว่าไทยเปิดช่องให้ต่างชาติ เข้ามาลงทุนได้ง่าย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ที่กว่าจะเจาะตลาดไ้ด้ ต้อง “สาหัส”
ทว่า เส้นทางการปลุกปั้นธุรกิจไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อทั้งคู่เลือกจังหวะเข้ามาลงทุนในปี 1997 หรือปี 2540 ซึ่งเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ตอนนั้นแอนดรูว์ยังทำงานประจำเป็น “โบรกเกอร์” ควบคู่ไปกับธุรกิจกาแฟที่เริ่มออกสตาร์ทก็ระส่ำ เมื่อโรงงานคั่วบดเมล็ดกาแฟย่านราษฏร์บูรณะทำท่าจะไม่รอด
“พอฟองสบู่แตก หมดกันลูกค้า และที่แย่ไปกว่านั้น I lost my job..ผมตกงาน” แอนดรูว์เล่าผ่านภาษาไทยชัดแจ๋วควบคู่ภาษาอังกฤษ
เขายังขยายความว่า นั่นคือภาวะฉุกเฉินมากของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น แอนดรูว์และเดล จึงตัดสินใจย้ายไปพักอยู่ที่โรงงานคั่วบดเมล็ดกาแฟที่เพิ่งสร้าง พร้อมขอให้พนักงานฝ่ายบัญชีย้ายออกจากบริษัท ก่อนจะแปลงห้องทำงานเป็นห้องนอนยกเตียงเข้ามาแทนที่
นั่นว่าวิกฤติแล้ว วิกฤติหนักขึ้นไปอีก เมื่อ 5-6 เดือนถัดจากนั้น เขาได้รับข่าวร้ายจากพี่สาวที่สหรัฐฯว่าป่วยเป็นมะเร็ง พลันวางสายโทรศัพท์ แอนดรูว์ก็มาจับเข่าเล่าความให้เดล ฟังทั้งน้ำตา เพราะห่วงที่จะต้องปล่อยให้ “เดล” อยู่ดูแลธุรกิจเพียงลำพัง
“เราทำธุรกิจด้วยกันมา 20 ปี เป็นเหมือนพี่น้อง และเราไม่เคยทะเลาะกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว” แอนดรูว์ เล่า
เงินทุนก้อนแรกที่ใช้สร้างธุรกิจเท่าไหร่..แอนดรูว์ หันไปถาม เดล โดยคนหลังบอกว่า “นานแล้ว จำไม่ได้” ก่อนทั้งคู่จะเห็นพ้องว่าเป็นเงินก้อนเล็กๆ 4-5 ล้านบาท ฝ่ามรสุมเป็นเวลา 2-3 ปี ธุรกิจจึงค่อยๆฟื้นตัว
“จริงๆเหมือนเราวิ่งมาเหนื่อยๆแล้วได้หยุดพัก ซึ่งยังไม่ถึงกับวิ่งฉิว”
ขณะที่ “เดล” สำทับอดีตเริ่มทำธุรกิจเมื่อปี 2538 จากการทำโรงงานคั่วบดเมล็ดกาแฟ เพื่อป้อนให้กับลูกค้าร้านกาแฟแบรนด์ตะวันตกอย่างคอฟฟี่เวิลด์ ในช่วง 10 ปีแรก และขยายฐานลูกค้ามาเรื่อยจนถึงแบรนด์ “สตาร์บัคส์”
และเพื่อให้การเป็นผู้ผลิต (ซัพพลาย) ด้านกาแฟครบวงจรมากขึ้น จึงผนึกผู้ผลิตเครื่องทำกาแฟแบรนด์ดังในอิตาลีอย่าง Cimbali นำเข้าเครื่องทำกาแฟเอสเปรสโซ่ป้อนความต้องการในไทย รวมถึงเครื่องทำกาแฟเพื่อใช้ในครัวเรือนแบรนด์ Melita จากเยอรมัน และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องทำกาแฟแบรนด์ Cafetto มาทำตลาดในไทย เป็นต้น
การขยายธุรกิจยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง หลังเครือข่ายร้านกาแฟ(เชน)ดังระดับโลกอย่าง ดีน แอนด์ เดอลูก้า เข้ามาเปิดให้บริการในไทย แอนดรูว์และเดลก็ไม่พลาดที่จะเข้าไปซัพพลายวัตถุดิบให้
เมื่อธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ 3 ปีก่อน บริษัทตัดสินใจลงทุน 20 ล้านบาท สร้างโรงงานคั่วบดเมล็ดกาแฟ กำลังผลิต 30 ตันต่อเดือน
ล่าสุดยังได้รังสรรค์“คอฟฟี่เวิร์คส์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ” เพื่อเป็นแหล่งอบรมเรื่องการทำกาแฟ ทำครบเครื่องขนาดนี้สนใจจะเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองหรือไม่ ?
เดล ตอบว่า “เป็นจรรยาบรรณของการทำธุรกิจ เพราะนั่นจะเหมือนกับการไปแข่งขันกับลูกค้า จึงขอยึดมั่นในการเป็นซัพพลายเออร์ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการตลอดซัพพลายเชนการประกอบธุรกิจกาแฟ ”
ระหว่างบทสนทนา เหลือบไปเห็นสโลแกน “The bean is boss” ถาม ว่ามีที่มาที่ไป และนัยยะอะไรแฝงอยู่ เดล ขยายความว่า เป็นหัวใจของคอฟฟี่เวิร์คส์ ที่ให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟแต่ละสายพันธุ์อย่างยิ่งยวด จึงพยายามคั่วบดเมล็ดกาแฟเพื่อคงรสชาติที่ดีไว้ให้มากที่สุด ตามระดับการคั่วที่แตกต่างกัน
“สิ่งที่เราโฟกัสคือให้ความสำคัญในการคั่วบดเมล็ดกาแฟแต่ละสายพันธุ์ให้ได้รสชาติดีที่สุด” เดลย้ำในฐานะผู้คร่ำหวอดธุรกิจกาแฟตั้งแต่วัยรุ่น ขณะที่แอนดรูว์สำทับว่า “เมล็ดกาแฟที่คั่วบดในเครื่องที่ดี กาแฟก็จะออกมาดี แต่ต่อให้เมล็ดกาแฟดีแค่ไหน แต่ถ้าคั่วบดด้วยเครื่องที่ไม่ดี กาแฟก็จะไม่ดี”
ปักหลักเอาดีกับการทำธุรกิจในไทย กระทั่งกลายเป็นคน “สัญญาติไทย” ไปแล้วสำหรับแอนดรูว์ ถามว่าเป้าหมายใหญ่ที่อยากเห็นในธุรกิจกาแฟคืออะไร
เขาตอบว่าต้องการให้ลูกค้าประสบความสำเร็จ ได้ใช้เครื่องทำกาแฟ อุปกรณ์ต่างๆที่เยี่ยม ได้ใช้เมล็ดกาแฟที่ดี มีการฝึกอบรมที่ดี เพราะ “ความสำเร็จของบริษัท ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของลูกค้า”
เช่นเดียวกับเดล ที่เห็นพ้องว่า ต้องการให้ลูกค้าเดินเข้ามาในคอฟฟี่เวิร์คส์ เอ็กซพีเรียนซ์ฯ แล้วเกิดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ และประสบความสำเร็จ
“ลูกค้าเดินเข้ามาเขาต้องพบกับความสำเร็จ”
อยู่เมืองไทยมานานขนาดนี้ และกลับสหรัฐฯปีละ 2-3 ครั้ง อดไม่ได้ที่จะถามว่าเพราะอะไร แอนดรูว์บอกว่า
“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจในเมืองไทยคือสนุกกว่าสหรัฐฯ เพราะที่นั่นทำงานอย่างเดียว และซีเรียสมาก ขณะที่ประเทศไทย มีความอบอุ่นทั้งผู้คนและวัฒนธรรม” เขากล่าว
++++++++++++++++++++++++++
ตลาดกาแฟในไทยมีมูลค่าราว 2 หมืื่นล้านบาท แบ่งเป็นการจำหน่ายเพื่อภาคธุรกิจ (B2B) ราว 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 10-15% และค้าปลีก มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มตลาดกาแฟยังคงขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยยังต่ำเฉลี่ยที่ระดับ 800 กรัมต่อคนต่อปี (ไม่ถึง 1 กิโลกรัม) ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะพบว่า ญี่ปุ่นมีการบริโภคกาแฟเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 8-14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่อัตราการบริโภคกาแฟ
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย