จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กรมฝนหลวงฯ เตรียมแผนปฏิบัติการยกเมฆข้ามอุทยานเขาใหญ่ ทำฝนเติมอ่างเก็บน้ำในโคราช หลังพบมีเมฆมากแต่ข้ามเขามาไม่ได้
เช้าวันนี้ (29 มิ.ย. 58) ที่หอบังคับการกองบิน 1 ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เดินทางมามอบนโยบายการทำฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายทวี กาญจนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนักบินจากกองบิน 1 กว่า 10 นาย ให้การต้อนรับ
โดยในช่วงบ่ายวันนี้ นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะได้บินสำรวจสภาพอากาศเหนืออ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อประเมินสถานการณ์ และร่วมวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ตามเป้าหมายที่จะช่วยทำฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้วิกฤติปัญหาขาด แคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
ทั้งนี้นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในระยะนี้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศเร่งบินขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อมาช่วยเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ สำหรับช่วยเหลือแก้ปัญหาวิกฤตน้ำอุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นบินทำฝนหลวงวันละ 3 - 5 เที่ยว ก็ได้ผลทำให้เกิดฝนตกลงมาเหนืออ่างเก็บน้ำได้ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนสถิติน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ นั้น ขณะนี้ยังถือว่าน้อยมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีฝนตกลงมาน้อย ทำให้พื้นดินยังไม่อิ่มตัว ส่งผลให้น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำไม่มากนัก ขณะเดียวกันบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง และอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ขณะนี้มีเมฆมากแต่ส่วนใหญ่จะอยู่หลังเขา เพราะมีป่าอุดมสมบูรณ์และมีความชื้นมาก ซึ่งเมฆเหล่านั้นลอยต่ำจึงข้ามภูเขามาไม่ได้ หรือบางส่วนข้ามภูเขามาได้แต่เมฆก็จะแตกไม่กลายเป็นฝน
“ดังนั้นทางกรมฝนหลวงฯ จึงมีแผนที่จะปฏิบัติการยกเมฆข้ามเขาขึ้น โดยจะใช้เทคนิคพิเศษเพื่อปรับอุณหภูมิด้านหลับภูเขาฝั่งอ่างเก็บน้ำ ให้มีอุณหภูมิเย็นลง เพื่อยกเมฆจากอีกฝั่งให้ลอยข้ามเขาลงมาและกลายเป็นฝนตกในที่สุด แต่วิธีนี้ก็ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อับฝนลักษณะนี้อยู่อีกมากในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตตะเข็บภูเขาตะนาวศรี ซึ่งขวางทิศทางลมอยู่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งต้องใช้เทคนิคนี้เข้าไปช่วย จึงจะสามารถทำให้เกิดฝนตกลงมาในพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำต่างๆ ได้” นายวราวุธ กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต