จากประชาชาติธุรกิจ
อาจจะไม่เหมารวมทุกคนว่านิยมสินค้า "มือสอง" แต่ความเคลื่อนไหวในกระแสนี้กลับได้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงเฉพาะในเมืองไทย แต่ "Flea Market" แรงและแพร่หลายไปในทุกมุมโลก
โดยเฉพาะในกลุ่ม "มิลเลนเนียล" คนที่เกิดระหว่างปี 1980-2000 กลายเป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดนี้
เทรนด์นิยมซื้อสินค้ามือสองของกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายธุรกิจ "ค้าปลีก" อย่างหนัก สอดคล้องกับข้อมูลของตลาดรีเทลในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังกุมขมับในการหาหนทางดึงเงินจากกระเป๋าของเหล่ามิลเลนเนียลที่เป็นกำลังซื้อมหาศาลเหล่านี้
การเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์และทัศนคติที่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่นี้ทำให้บรรดานักการตลาดต้องปรับกลยุทธ์ของตนอย่างเร่งด่วน
โดยความนิยมในสินค้า "มือสอง" ครอบคลุมทั้งสินค้าราคาแพง แบรนด์เนม ไปจนถึงสินค้าทั่วไป ทั้งบ้าน รถยนต์ แฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของใช้ในบ้าน และสินค้าอื่น ๆ
"เจมีย์ กัตฟรอด" หัวหน้าฝ่ายการตลาด สำนักวิจัยดีปโฟกัส (Deep Focus) ฉายภาพว่า ไลฟ์สไตล์และทัศนคติต่อสินค้ามือสอง หรือระบบแบ่งปัน รวมถึงแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตนไม่ต้องการแล้วนั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการประหยัดค่าใช้จ่ายจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
ไม่ต่างไปจากเมืองไทย ภาพการเติบโต "สินค้ามือสอง" ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ไม่เพียงในรูปแบบเปิดท้ายขายของตามตลาดนัดหรือแหล่งชุมชนเท่านั้น แต่สินค้ามือสองยังขยับสู่การเปิดร้านทั้งในศูนย์การค้าและร้านสแตนด์อะโลน รวมถึงรูปแบบการขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก
โดยเฉพาะสินค้ามือสองที่นำเข้ามาจาก "ญี่ปุ่น" ดูจะเป็นที่นิยมอย่างมากและถูกจริตขาช็อปคนไทยยิ่งนัก
ซึ่งวัฒนธรรมของคน "ญี่ปุ่น" เมื่อใช้สินค้าหรือข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาสักระยะหนึ่งแล้วนั้น เขาจะทิ้งแล้วซื้อเปลี่ยนใหม่ โดยจ้างบริษัทขนย้ายให้มานำสินค้าเก่าออกไป ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นค่าเช่าโกดังสูงมาก ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องพยายามหาทางขายสินค้าออกไปให้ได้เร็วที่สุดด้วยวิธีขายเหมาในราคาถูกมาก
กลายเป็นโอกาสของธุรกิจ"สินค้ามือสอง" ที่เบ่งบานในเมืองไทย และดูเหมือนว่ากลุ่มเป้าหมายสินค้าเหล่านี้ในเมืองไทยจะขยับไปสู่วงกว้างทั้งคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ หรือวัยทำงาน ซึ่งการบานสะพรั่งของธุรกิจ "สินค้ามือสอง" ในเมืองไทย ได้ดึงดูดร้านสินค้าแบรนด์เนมมือสองรายใหญ่จากญี่ปุ่น "ไดโกกุยะ" เข้ามาทำตลาดเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ขาช็อปยุคใหม่
"โคเฮอิ โอกาวะ" ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไดโกกุยะ จำกัด ที่ทำธุรกิจรับซื้อและขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง ฉายภาพว่า ที่ผ่านมาเห็นความนิยมในการซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองของคนไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการไปเลือกซื้อที่ร้านไดโกกุยะในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าคนไทยถึง 26% สูงเป็นอันดับสอง รองจากขาช็อปเศรษฐีชาวจีน
จากทิศทางดังกล่าว จึงไม่แปลกที่ "ไดโกกุยะ" เตรียมวางแผนที่จะขยายธุรกิจมายังเมืองไทย และเป็นการขยายกิจการออกต่างประเทศครั้งแรกของร้านดังมือสองนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา 68 ปี พร้อมคำมั่นของหัวเรือใหญ่ "ไดโกกุยะ" ที่ว่าจะเร่งเปิดสาขาแรกอย่างเร็วที่สุดให้ทันในปีหน้า
"ตลาดเมืองไทยเราให้ความสำคัญ จากความนิยมในสินค้าแบรนด์เนมทำให้เรามีลูกค้าคนไทยมาซื้อของมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งลูกค้าทั่วไป และลูกค้าที่เป็นร้านแบรนด์เนมมือสองของไทยก็มาซื้อสินค้ามือสองจากร้านเราไปขายต่อ และจะพยายามคุมราคาขายในเมืองไทยให้ใกล้เคียงกับซื้อที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็ยังถูกกว่าในไทยถึง 50%"
ท่ามกลางกำลังซื้อและเศรษฐกิจที่บีบรัด สินค้าดี แบรนด์ดัง ราคาสบายกระเป๋า อย่างสินค้า "มือสอง" ย่อมปลุกเร้าขาช็อป "ยุคใหม่" ให้จับจ่ายต่อไปได้
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย