จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเจนซีส์ - บรรดาผู้นำของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ออกแถลงการณ์ปิดประชุมในวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ภายหลังหารือเป็นเวลา 2 วันที่รีสอร์ตแถบภูเขาแอลป์บาวาเรีย ทางภาคใต้ของเยอรมนี โดยประกาศตั้งเป้ายุติการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนเพื่อทำสงครามกับภาวะโลกร้อน, เตือนรัสเซียจะถูกแซงก์ชันเพิ่ม หากยังไม่ยุติ “ความก้าวร้าวในยูเครน”, พร้อมกดดันกรีซให้ยอมรับมาตรการปฏิรูปอันยากลำบาก, ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านอธิปไตยในทะเลจีนใต้และ ทะเลจีนตะวันออก
“เรา ...ยืนหยัดเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการเพื่อสร้างผลในทางจำกัดเข้มงวด ให้มากขึ้นกว่านี้อีก เพื่อเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายของรัสเซีย ถ้าหากการกระทำของรัสเซียทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการดังกล่าว” แถลงการณ์ร่วมปิดประชุมของเหล่าผู้นำจี7 ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐฯ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, ญี่ปุ่น, และแคนาดา พูดถึงการเพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นลงโทษแดนหมีขาว ที่พวกเขาระบุว่าเข้าไปแทรกแซงรุกรานในยูเครน
“เราขอพูดเตือนความจำว่า ระยะเวลาในการแซงก์ชั่นลงโทษนั้นควรต้องมีการผูกโยงไว้อย่างชัดเจนกับการที่ รัสเซียจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงกรุงมินสก์ รวมทั้งแสดงความเคารพในอธิปไตยของยูเครนอย่างครบถ้วน” แถลงการณ์ของผู้นำ จี7 ย้ำสำทับ โดยที่ข้อตกลงกรุงมินสก์ เป็นข้อตกลงสันติภาพที่รัสเซียกับยูเครนกระทำกันในเมืองหลวงของเบลารุส
ถ้อยคำที่แข็งกร้าวจากบรรดาชาติมหาอำนาจของโลกตะวันตกเหล่านี้ ปรากฏออกมาในขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนกล่าวหาว่า พวกกบฎนิยมรัสเซียในยูเครนตะวันออกซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพรัสเซีย นั้น เวลานี้มีกองทัพที่มีกำลังพลถึง 40,000 คนอยู่ตรงชายแดนติดต่อกับยูเครน มากพอๆ กับ “รัฐยุโรปขนาดกลางๆ ทีเดียว”
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมซัมมิต จี7 คราวนี้ไม่ได้มีการออกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม รวมทั้งแถลงการณ์ร่วมบอกว่า จะมีการยุติยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นที่ใช้อยู่ หากแดนหมีขาวทำตามคำมั่นสัญญาของตน
เกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรดาผู้นำจี7 ระบุในแถลงการณ์ร่วมให้คำมั่นในการพัฒนายุทธศาสตร์ลดการแพร่กระจายก๊าซ คาร์บอนในระยะยาว และภายในสิ้นศตวรรษนี้จะเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งหมายถึงถ่านหิน, น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ โดยหันไปพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงยกเครื่องภาคพลังงานอย่างขนานใหญ่ภายในปี 2050
จี7 ยังเรียกร้องว่า ภายในกลางศตวรรษนี้ ทั่วโลกควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในระดับ “บนสุด” ของช่วง 40-70% จากระดับที่เคยปล่อยอยู่เมื่อปี 2010 รวมทั้งย้ำเป้าหมายเดิมในการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ตามที่ตกลงกันในการประชุมสภาพภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติ ปี 2009 ที่กรุงโคเปนเฮเกน
นอกจากนี้ จี7 ยังประกาศความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนสำหรับกอง ทุนลดภาวะโลกร้อนของประเทศยากจน 100,000 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าไว้นับจากปี 2020 รวมทั้งเร่งรัดให้แอฟริกาสามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน
แถลงการณ์ว่าด้วยภาวะโลกร้อนของผู้นำจี7 คราวนี้ ปรากฏว่าได้รับการยกย่องจากพวกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งยังเป็นการปูทางสำหรับการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของยูเอ็นปลายปีนี้ที่กรุงปารีส ซึ่งผู้นำจาก 200 ประเทศจะพยายามบรรลุข้อตกลงในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในส่วนสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งด้านอธิปไตยในทะเลจีนใต้และ ทะเลจีนตะวันออก แถลงการณ์ร่วมของจี7 ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องเคารพกฎหมายสากล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังคัดค้านการใช้การข่มขู่หรือคุกคามด้วยกำลัง ตลอดทั้งมาตรการฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะดั้งเดิมในบริเวณดังกล่าว อาทิ โครงการถมทะเลขนาดใหญ่ ทว่ามิได้มีการระบุนามประเทศใด
กลุ่มประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรมยังย้ำความมุ่งมั่นในการกวาดล้างกลุ่ม ก่อการร้ายและความพยายามในการแพร่ขยายลัทธิหัวรุนแรง ซึ่งหมายถึงกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่บุกโจมตีและครอบครองพื้นที่กว้างขวางในอิรักและซีเรียอยู่ในขณะนี้
ที่ประชุมซัมมิตจี7 คราวนี้ยังมีการพูดถึงปัญหาหนี้สินของกรีซ ทั้งในระดับทั้งกลุ่มและระดับทวิภาคี โดยที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมคราวนี้ บอกว่า ยุโรปนั้นเตรียมพร้อมที่จะแสดงความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าหากกรีซดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซได้ปฏิเสธข้อเสนอที่พวกผู้นำยุโรปและกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยื่นมา ซึ่งให้เอเธนส์ดำเนินการปฏิรูปเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้เงินกู้มาพยุงฐานะ ไม่ให้ล้มละลาย
แมร์เคิลเองบอกว่า เวลาเหลืออยู่ไม่มากนักแล้ว โดยที่กรีซถึงกำหนดต้องชำระเงินคืนให้ไอเอ็มเอฟส่วนหนึ่งภายในสิ้นเดือน มิถุนายนนี้ และถ้าหากยังตกลงกับพวกเจ้าหนี้ไม่สำเร็จ เอเธนส์บอกว่าตนเองอาจจะไม่สามารถชำระได้
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย