สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉช่องโหว่-อีไอเอ-ปากบารา-กดต้นทุน-ปั้นกำไรเกินจริง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของ “กลุ่มทุน” และคงไม่ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงเพราะคล้อยตามข้อมูลที่ข้าราชการนำมาเสนอเพียงด้านเดียว

มิเช่นนั้นคงไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดก่อนๆ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าเป็นต้นตอของปัญหา จนนำมาซึ่งการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แม้จะเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ อย่างถึงที่สุด เฉกเช่นเดียวกับชาว จ.สตูล ที่เชื่อมั่นถึงขั้นยอมผูกติดชีวิตและอนาคตของตัวเองไว้กับ “การตัดสินใจ” เชิงนโยบายในครั้งนี้

แต่ทว่าโครงการ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ก็ยังเดินหน้าต่อไป

มากไปกว่านั้นคือข้อมูลทางวิชาการ-ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือในการประมาณการผลประโยชน์จากโครงการที่มากถึง 2.67 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปีนั้น ล้วนแต่ถูก “ประดิดประดอย” ขึ้นมา เพื่อโน้มน้าว พล.อ.ประยุทธ์ ให้ง้างดาบฟันฉับ เนื่องจาก “เขาเหล่านั้น” พยายามผลักดันมาหลายรัฐบาลแล้วแต่ไม่สำเร็จ

หาก พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังข้อมูลอีกด้าน ซึ่งตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและตรงตามหลักวิชาการเช่นกัน อาจจะคิดใหม่กับการผลักดันโครงการปากบารา

แง่มุมทางเศรษฐศาสตร์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการของรัฐ กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล “ข้อเท็จจริง บทเรียน และทางออก” ซึ่ง รศ.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้ศึกษา สะท้อนว่าการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของอีไอเอมีช่องโหว่มากมาย

“อีไอเอบอกว่าการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา 1 บาท จะได้เงินคืนกลับมา 1.58 บาท นั่นหมายความว่าได้กำไร 58 สตางค์ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์ทางการเงินจากการใช้ท่าเรือล้วนๆ หากแต่ได้บวกค่าตอบแทนทางอ้อมเข้าไป เพื่อทำให้ดูเหมือนว่าได้กำไรมาก” รศ.สมบูรณ์ เริ่มต้นอธิบาย

อาจารย์สมบูรณ์ อธิบายต่อไปว่า จากการศึกษาพบว่าอีไอเอชิ้นนี้คิดผลตอบแทนเกินจริง คือคิดต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่นำต้นทุนทางอ้อมอื่นๆ เข้ามาบวกเพิ่ม แต่กลับนำผลตอบแทนทางอ้อมที่จะได้เข้ามาใส่แทน ซึ่งหากวิเคราะห์เฉพาะผลตอบแทนจากการใช้ท่าเรืออย่างเดียว ชัดเจนว่าขาดทุนอย่างแน่นอน

สำหรับ “ต้นทุนทางอ้อม” ที่ผู้จัดทำอีไอเอไม่พูดถึง อาทิ วิถีทะเลที่จะเสียหาย จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง สารพิษในท้องทะเล ผล
กระทบต่อสัตว์น้ำ ชาวประมงถูกกีดกันให้ออกจากพื้นที่ ผลผลิตลดน้อยลง ซึ่งที่จริงแล้วสามารถคำนวณได้ และเคยมีตัวอย่างมาแล้วกรณีชาวบ้านบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า

เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2552 ชาวบ้าน 48 ราย ถูกดำเนินคดีบุกรุกทำกินในอุทยานแห่งชาติ โดยความเสียหายต่อไร่ที่ถูกรัฐเรียกร้องมี 7 รายการ

1.การสูญเสียธาตุอาหาร 4,064 บาท 2.ทำหน้าดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาท 3.ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาท 4.สูญเสียน้ำจากการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาท 5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,435 บาท 6.ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาท 7.ค่าทำลายป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ 40,825 บาท

“รวมทั้งสิ้น 7 รายการ ความเสียหายที่ชาวบ้านต้องชดใช้เป็นเงิน 150,924 บาท ซึ่งชัดเจนว่ารัฐคิดคำนวณต้นทุนทางอ้อมได้เป็นอย่างดี แต่พอเป็นโครงการลงทุนของรัฐเอง เหตุใดกลับไม่มีการพูดถึงตัวเลขต้นทุนเหล่านี้เลย” อาจารย์สมบูรณ์ ตั้งคำถาม

นอกจากนี้ ทีมจัดทำอีไอเอยังละเลยที่จะคำนวณมูลค่า “Non-Use Value” หรือ “มูลค่าที่ไม่เกิดขึ้นจากการใช้งาน” ซึ่งก็เป็นต้นทุนทางอ้อมอีกประการหนึ่งที่ต้องสูญเสียไปหากมีการสร้างท่าเรือ

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษา Non-Use Value ของปากบารา แต่หากเทียบเคียงผลการศึกษาหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ของ ผศ.นพดล จันระวัง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จะพบว่าเฉพาะแนวปะการังเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าสูงถึง 23,583 ล้านบาท

นักเศรษฐศาสตร์ดีกรีดอกเตอร์รายนี้ ย้ำอีกว่า หากคำนวณต้นทุนทางอ้อมเข้าไปในอีไอเอด้วย โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะขาดทุนมหาศาลอย่างแน่นอน ซึ่งการไม่บวกต้นทุนดังกล่าวเข้าไปในผลการศึกษา ถือว่าผู้ศึกษาหรือผู้จัดทำอีไอเอขาดจรรยาบรรณ

ข้อมูลจริงเท็จประการใด เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ พิสูจน์ได้อย่างแน่นอน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : แฉช่องโหว่-อีไอเอ-ปากบารา-กดต้นทุน-ปั้นกำไรเกินจริง

view