จาก โพสต์ทูเดย์
3 นักวิชาการประสานเสียงค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ชาวบ้านลั่นเดินหน้าสู้ไม่หวั่นมาตรา 44 ไม่ร่วมสังคกรรมกก.ชุดกรมเจ้าท่า-เรียกร้องให้ลาออก
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ โครงการสื่อสารสุขภาวะชุนชายขอบ พร้อมคณะสื่อมวลชนกว่า 10 สำนักข่าวร่วมกันลงพื้นที่อ่าวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ ติดตามผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ต่อโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ภายหลังรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เห็นชอบยุทธศาสตร์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2558-2565 งบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทโดยในนั้นมีการบรรจุโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราซึ่งกำลังเป็นที่กังวลในเรื่องผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตในพื้นที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้วย โดยระหว่างลงพื้นที่ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนชาวบ้าน เครือข่ายนักวิชาการ นักวิจัยสิ่งแวลดล้อม และผู้เกี่ยวข้องขึ้นที่ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา รวมถึงมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงการขนาดใหญ่จากพื้นที่อำเภอจะนะจังหวัดสงขลาเข้าร่วมด้วย
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า สถานการณ์โครงการท่าเทียบเรืน้ำลึกปากบาราในวันนี้ยังคงมีปัญหา แม้กรมเจ้าท่าได้ยื่นเรื่องไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการ แต่ไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ได้แล้วเสร็จไปเมื่อปี 2552 แต่ว่ายังต้องมีการทำ EHIA และกระบวนการศึกษาผลกระทบอื่นๆอีกมาก
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านอาจไม่มีข้อมูล แต่หลังจากได้ศึกษาแผนงานโครงการพบว่า ได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแหล่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดราว 1.5 แสนไร่ กินพื้นที่ 3 อำเภอ รวมถึงอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี ที่สำคัญคือการเตรียมสร้างระบบสาธารณูปโภครองรับ อาทิน้ำเพื่อป้อนอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าซึ่งมีแผนเชื่อมโยงกับโรงไฟฟ้าจะนะที่จังหวัดสงขลา ซึ่งถ้าไฟฟ้าไม่พออาจมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสตูลด้วย โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจึงไม่ใช่แค่ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า แต่มีจุดมุ่งหมายเป็นแพ็กเกจของการเปลี่ยนแปลงภาคใต้ทั้งระบบในเชิงอุตสาหกรรม ล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา กำหนดอำนาจหน้าที่เพื่อประชาสัมพันธ์เชิงบวกให้โครงการและมีการประชุมนัดแรกในวันเดียวกันนี้ ซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามาประชุมด้วยตัวเอง และเชิญเครือขีายประชาชนเข้าร่วม แต่เราขอไม่ร่วม และได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกคณะกรรมการชุดดังกล่าวเพราะมีเจตนาตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนโครงการมากกว่าการหาทางออก
“สตูลเป็นจังหวัดทีมีศักยภาพทางทรัพยากรสูงมาก มีอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ถือว่าสมบูรณ์มากตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงทะเล ในยุคนี้แม้จะมีการเดินหน้าโครงการโดยรัฐบาลคสช. แต่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับกระบวนการประเมินผลกระทบต่างๆ ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมาถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น รัฐบาลใจเย็นๆ รอก่อนได้ไหม อย่าใช้มาตรา44 กับเราเลย รอให้มีการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจังกันก่อน ที่พูดไม่ได้ท้า แต่เอาเข้าจริงแล้วถ้ามีการใช้มาตรา44 ชาวบ้านก็ไม่กลัว นายกฯบอกว่าอย่าค้าน แต่เราคงไม่ยอม”นายสมบูรณ์กล่าว
ด้านนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง หัวหน้าหน่วยวิจัยปะการังและสัตว์พื้นทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการทำงานด้านวิจัยทรัพยากรทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรามีความสมบูรณ์มาก นักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกันอยากให้รัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่จะได้นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ กระทั่งเริ่มมีความพยายามผลักดันเรื่องการอนุรักษ์อย่างเข้มข้นเพื่อขึ้นทะเบียนทะเลอันดามันเป็นแห่งมรกดโลกในปัจจุบัน เดิมก่อนหน้านี้เราผลักดันหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน แต่ปรากฎว่ายังไม่โดดเด่นพอเมื่อเทียบกับที่อื่นทั่วโลก แต่เมื่อศึกษาในเรื่องความหลากายของระบบนิเวศทางทะเลเขตร้อนที่มีครบทุกรูปแบบ กลับพบในพื้นที่พื้นที่สตูลที่มีความหลากหลายที่สุด ทั้งป่าชายเลนปะการังที่หลากหลาย สัตว์น้ำ หรือป่าบนพื้นที่เกาะ โดยเฉพาะปะการังที่รอดพ้นจากปรากฎการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่เพียงแห่งเดียวของอันดามัน แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้มรดกโลกอันดามันไม่เกิดก็คือโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
“พื้นที่อ่าวปากบาราเป็นเหมือนปากน้ำ จึงเป็นแหล่งสะสมของตะกอนความอุดมสมบูรณ์ ในทางกลับกันหากมีการรั่วไหลของปิโตรดคมีหรือสารเคมีสิ่งเหล่านี้จะสะสมอย่างน่ากลัว และเราพบว่าในช่วงนี้ได้มีเศษขยะจำนวนมากจากช่องแคบมะละกาลอยเข้ามาในชายหาดสะตูล แน่นอนว่าเมื่อมีแลนด์บริจที่จะมีระบบขนส่งทางท่อ จะมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเมื่อน้ำมันดิบมาลงบนแผ่นดิน ก็ต้องแปรรูปก่อนขึ้นเรืออีกฝั่งไม่นั้นไม่มีทางคุ้ม อีกประเด็นที่สำคัญคือ ภูเขาเกือบทุกลูกในเขตอำเภอทุ่งหว้าจังหวัดสตูล และอีกหลายพื้นที่ จะถูกระเบิดเอาหินมาถมทะเล ทั้งที่มีการสำรวจพบฟอสซิลอายุราว400-500ล้านปีในภูเขาแทบทุกลูก”นายศักดิ์อนันต์กล่าว
ขณะที่ นายสมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงข้อได้เสียทางเศรษฐศาสตร์โครงการ ว่า การวิเคราะทางเศรษฐกิจโดยฝ่ายโครงการมีการตีค่าเกินความเป็นจริง และไม่มีการคำนวนตีค่าต้นทุนทางอ้อมในเรื่องวิถีวิต ความรู้สึก ความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งที่มูลค่าทางการท่องเที่ยวปากบารามีมูลค่ามหาศาล และนอกเหนือจากตัวเลขการค้าการท่องเที่ยวปกติแล้ว ในระยะต่อไปนักเศรษฐศาสตร์คงต้องมีการวิจัยคำนวนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมูลค่าของการเก็บรักษาเอาไว้(Non use value) เพราะยังมีมูลค่าทางด้านนันทนาการ ตัวอย่างในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีการศึกษาคำนวน อาทิ หาดเจ้าไหมของจังหวัดตรัง ที่มีมูลค่านันทนาการถึง 1,554 ล้านบาทต่อปี หมู่เกาะ สิมิลัน 1,293 ล้านบาทต่อปี หรือที่เกาะพีพีมีมูลค่าถึง 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ทีมศึกษา EIAกรณีปากบาราละเลยการคำนวนสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
“ในทางเศรษฐศาสตร์ กรณีท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารามีเรื่องมายาคติทางตัวเลข มีการศึกษาหลายกรณีออกมาว่าเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน ต้องดูตัวอย่างในภาคตะวันออกที่ภาคอุตสาหกรรมสร้างรายได้ 70% ส่วนภาคใต้เพียงแค่ 20% แต่นี่คือของเทียม เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้สัมผัสเงิน เนื่องจากรายได้ครัวเรือนภาคตะวันออกก็ยังต่ำกว่ารายได้ครัวเรือนของภาคใต้ทั้งที่มีอุตสาหกรรมมากกว่า แสดงว่าอุตสาหกรรมไม่ใช่ตำคอบ เพราะภาคใต้มีทรัพยากรอื่นที่ทำให้เกิดรายได้และไม่ใช่อุตสาหกรรม”นายสมบูรณ์ระบุ
อาจารย์อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งที่เกิดชึันเป็นแผนรวมที่มีการวางไว้แล้ว แต่มีการปล่อยออกมาเป็นส่วนๆเพื่อไม่ให้มีการมองเห็นในภาพรวม ในแผนที่เขียนไว้มีการเตรียมสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ระดับโลกที่จังหวัดนครศรีธรรมราชขนาด 9.4 แสนบาเรล ปากบาราจะเชื่อมกับจะนะของสงขลา เป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะที่ 3 ถ้าเกิดขึ้นได้จริง ภาคใต้จะกลายเป็นเหมือนมาบตาพุต เพราะพื้นที่อุตสาหกรรมมักเลือกพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นเสบียง
ด้านนายหุสดีน อุสมา ในฐานะประธานเครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนไม่เคยรับรู้เรื่องราวโครงการมาก่อนกระทั่ง EIA แล้วเสร็จจากนั้นเราได้ติดตามศึกษาพบว่าเป็นเรื่องใหญ่และกระทบมาก อาทิต้องระเบิดภูเขาจำนวน 8 ลูกมาถมทะเล ต้องไปดูดทรายถึง 20 ล้านคิวมาใช้ในการก่อสร้าง และที่ผ่านมามีการสำรวจพื้นที่ที่คุกคามเข้าไปในพื้นที่ของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก็มองชาวบ้านเป็นพวกต่อต้าน คุณค่าของปากบารามี 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการท่องเที่ยว เพราะมีทั้งเกาะ ตะรุเตา หลีเป๊ะ อาดังราวี บุโหลน นักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมาก 2. ทรัพยากรทางทะเลมากมาย ทั้งปะการัง อาหารทะเล สัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะปลาพะยูน และ 3.วีถีชุมชน
“ถ้าเกิดท่าเรือน้ำลึกขึ้นที่นี่ ภาคใต้จะเปลี่ยนทั้งหมดในเรื่องอุตสาหกรรม ยืนยันว่าชาวบ้านต้องการการพัฒนาแต่ต้องยั่งยืน รักษาทรัพยากร เน้นการท่องเที่ยว”นายหุสดีนกล่าว
วันเดียวกัน เครือข่ายประชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยกเลิกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โดยระบุ ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้นำข้อเสนอตามกระบวนการทางกฎหมายทั้งที่มีในรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงกฎหมาย และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง หากแต่ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าไม่สนใจรับฟังข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ในข้อทักท้วงเรื่องพื้นฐาน ประกอบด้วย แก้ไขข้อบกพร่องในการจัดทำ EIAที่พบว่ายังมีจุดอ่อนในเรื่องของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการไม่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยว และความเสี่ยงต่อสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ และความเสี่ยงต่อแหล่งฟอสซิลสำคัญที่กำลังถูกเสนอให้เป็นแหล่งธรณีวิทยาระดับโลก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯวุฒิสภา ซึ่งได้เคยมาตรวจสอบโครงการ ต่างมีข้อสรุปความเห็นที่ไปในทางเดียวกันว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราของกรมเจ้าท่าได้สร้างความขัดแย้งขึ้นในหลายระดับทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่
แถลงการณ์ระบุอีกว่า ควรรอการปฏิรูปประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐบาลประกาศไว้ ดังนั้นการดำเนินการในโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ยังมีข้อกังขาเรื่องกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีการแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ด้วย กรมเจ้าท่าจึงไม่ควรรีบเร่งและควรรอการปฏิรูปประเทศเสียก่อนการคัดค้าน หรือความเห็นต่างไม่ใช่ปัญหา แต่นั่นคือการแสดงออกขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ภาครัฐจะต้องเคารพ และรับฟัง ซึ่งหากกรมเจ้าท่าได้มีการดำเนินงานตามขั้นตอนของกระบวนการอย่างตรงไปตรงมา และมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นอย่างแท้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานชุดนี้แต่อย่างใด ร้ายไปกว่านั้นคือคณะทำงานชุดนี้กลับเป็นกลไกที่ตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารข้อมูลด้านบวกเพียงด้านเดียว โดยมีเป้าหมายที่จะดึงดันการก่อสร้างโครงการเป็นที่ตั้ง จึงเห็นว่าไม่ใช่วิสัยที่หน่วยงานราชการระดับสูงจะกระทำกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งจะเป็นผู้ที่จะได้รับกระทบโดยตรงในอนาคต
“เราจึงเรียกร้องให้ยกเลิกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจังหวัดสตูลชุดนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว และขอเสนอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นตามกระบวนการทางกฏหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด และขอให้เห็นความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการด้วยความจริงใจอย่างแท้จริง”แถลงการณ์ระบุ
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย