สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวบ้านฮือขึ้นศาลากลาง-รุมต้านนายทุนซื้อที่จ่อจับมือ ซีพีเอฟ ผุดฟาร์มหมูใกล้ชุมชน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เชียงราย - ชาวบ้านรวมตัวบุกศาลากลางจังหวัดเชียงราย ผวานายทุนรุกกว้านซื้อที่สร้างฟาร์มหมูขนาดใหญ่ร่วมกับ “ซีพีเอฟ” ห่างชุมชนแค่ 800 เมตร หวั่นส่งผลกระทบเรื้อรังเหมือนกับชุมชน “เวียงป่าเป้า” มาแล้ว
       
       วันนี้ (27 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย ประมาณ 300 คน ชุมนุมประท้วงกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อเรียกร้องให้นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ช่วยสั่งยุติโครงการก่อสร้างฟาร์มสุกร ที่บริษัทเอกชนจะเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ หลังจากเย็นวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านเคยชุมนุมกันที่ตลาดภายในหมู่บ้านแม่อ้อหลวง ม.11 ต.แม่อ้อ มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานใด
       
       โดย นายธีระพงษ์ เผ่ากา เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แกนนำการชุมนุมได้จัดทำหนังสือระบุเนื้อหาว่า มีเอกชนใน จ.เชียงรายรายหนึ่งร่วมกับกลุ่มซีพีเอฟ จะก่อสร้างฟาร์มหมูพื้นที่บ้านแม่อ้อ แต่ไปสอบถามความเห็นจากประชาชนที่บ้านแม่อ้อหลวงเพียงหมู่บ้านเดียว
       
       ขณะที่การก่อสร้างฟาร์มอาจจะมีผลกระทบต่อต้นน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนและหมู่บ้านข้างเคียง คือ ม.1 ม.2 ม.7 ม.8 ม.11 ม.13 ม.15 และ ม.16 ต.แม่อ้อ, ม.15 ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย รวมทั้งมีผลกระทบเรื่องมลภาวะ สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ จึงขอให้ทางผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้สั่งการไปยังนายอำเภอพาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านให้ถูกต้องและครบถ้วน
       
       นายธีระพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า มีเอกชนไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อเตรียมก่อสร้างฟาร์มแล้วประมาณ 128 ไร่ และมีข่าวจะหาซื้อเพิ่มในระยะต่อไปอีกนับ 100 ไร่ จุดที่จะก่อสร้างก็ห่างจากหมู่บ้านเพียงประมาณ 800 เมตร ทราบมาว่าจะมีสุกรในช่วงแรกกว่า 2,400 ตัว แต่ละตัวจะมีมูลวันละกว่า 6 กิโลกรัม หากขยายกิจการออกไปจะมีปริมาณมหาศาลชาวบ้านจึงหวั่นเกรงเรื่องผลกระทบต่อมล ภาวะ สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะแหล่งน้ำอย่างมาก
       
       ด้านนายประสิทธิ์ อุทธโยธา กล่าวว่า เคยมีกรณีศึกษาที่ ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งมีฟาร์มหมูและมีผลกระทบต่อชาวบ้านเรื้อรัง ทำให้ชาว ต.แม่อ้อไม่อยากให้เกิดปัญหาเช่นนั้นขึ้น ดังนั้น หากว่าการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ครั้งนี้ไม่เป็นผล ก็จะไปยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้มาตรา 44 ช่วยชาวบ้านด้วยต่อไป
       
       ต่อมานายพงษ์ศักดิ์ได้เชิญชาวบ้านทั้งหมดไปร่วมหารือที่ห้องประชุม จอมกิตติ ศาลากลาง จ.เชียงราย โดยมีการแจ้งข้อเท็จจริงในพื้นที่และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่า ทางจังหวัดฯ ได้รับแจ้งจากทางอำเภอว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นขออนุญาตก่อ สร้างฟาร์มหมูไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่อ้อเลย เพราะตามขั้นตอนการก่อสร้างแล้วจะต้องขอไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน พื้นที่ก่อน
       
       ดังนั้น จึงขอให้ชาวบ้านเบาใจได้ แต่ถ้ามีการยื่นขออนุญาตในอนาคตก็ยังจะต้องเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธาธิการและผังเมือง, สาธารณสุข, ปศุสัตว์, หน่วยงานที่ดูแลที่ดินบริเวณดังกล่าว ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบแล้ว โดยเฉพาะ อบต.แม่อ้อ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเข้าไปแจ้งผ่านสภา อบต.แม่อ้อ เพื่อให้ออกท้องถิ่นบัญญัติตามที่ชาวบ้านต้องการได้ อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดก็จะช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความประสงค์ของ ชาวบ้านต่อไป
       
       ด้านตัวแทนจากปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย, นิติกรท้องถิ่นจังหวัดเขียงราย ฯลฯ ที่เข้าร่วมประชุมด้วย ได้ชี้แจงข้อมูลกับชาวบ้านว่า ที่ดินที่เอกชนเข้าไปกว้านซื้ออยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และในผังเมืองระบุว่า อยู่เขตพื้นที่สีเขียวแถบน้ำตาล ที่สามารถขออนุญาตทำกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยต้องอยู่ห่างจากแหล่งน้ำตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป สร้างอาคารสูงไม่เกิน 12 เมตร
       
       สำหรับกรณีของปศุสัตว์ จะมีบทบาทเมื่อมีการขออนุญาตแล้ว และยื่นขอเป็นมาตรฐานฟาร์ม จึงสรุปได้ว่าหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคือ อบต.แม่อ้อ ซึ่งจะเป็นผู้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อประกอบความเห็นว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เอกชนก่อสร้างต่อไป
       
       หลังตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ชี้แจง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น และได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก่อนไปยื่นต่อกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกเชียงราย (กกล.รส.จทบ.ชร.) ที่ค่ายเม็งรายมหาราช อีกฉบับ และสลายตัวกลับในเวลาต่อมา
       
       ต่อมา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงถึง ASTVผู้จัดการ ว่า น่าจะมีความเข้าใจผิดของชาวบ้าน บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่ทราบว่าบริษัทที่ดำเนินชื่อ บริษัท ที.วี.เอฟ ฟาร์มมิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเลี้ยงสุกรอยู่ในจังหวัดเชียงราย
       
       ด้านบริษัท ที.วี.เอฟ.ฟาร์มมิ่ง ได้แจงชะลอโครงการฟาร์มหมูในเชียงราย ผ่านหนังสือชี้แจงว่า ตามที่มีข่าวชาวตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งยุติโครงการก่อสร้างฟาร์มสุกรของบริษัทเอกชนในพื้นที่ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายนั้น
       
       นายสัตวแพทย์ ถนอมศักดิ์ เสรีวิชยสวัสดิ์กรรมการ บริษัท ที.วี.เอฟ.ฟาร์มมิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มดังกล่าว ได้ชี้แจงว่า บริษัทเป็นเจ้าของโครงการนี้ และมีแผนจะดำเนินโครงการสร้างฟาร์มสุกรในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรองรับการขยาย ตัวของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในการเลี้ยงสุกรรวมถึงการนำเทคโนโลยี เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการวางระบบบำบัดน้ำเสียและกลิ่นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวของและ ชุมชนใกล้เคียง
       
       ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่หมู่ 11 ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างฟาร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ บริษัทมีการวางแผนจัดการกลิ่นและน้ำเสียได้ 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียงอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นอีกด้วย
       
       “ขณะนี้ บริษัทได้ชะลอการพัฒนาโครงการและไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างฟาร์มทั้งสิ้น ขณะเดียวกันบริษัทจะเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการกับชุมชน ใกล้เคียง และบริษัทยินดีเปิดรับฟังความคิดเห็นและความกังวลของประชาชน ซึ่งโครงการนี้เป็นการลงทุนของบริษัท ที.วี.เอฟ.ฟาร์มมิ่ง 100% ไม่เกี่ยวข้องกับซีพีเอฟแต่อย่างใด” น.สพ.ถนอมศักดิ์ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ชาวบ้านฮือขึ้นศาลากลาง-รุมต้านนายทุนซื้อที่จ่อจับมือ ซีพีเอฟ ผุดฟาร์มหมูใกล้ชุมชน

view