จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเอฟพี - ผลการศึกษาล่าสุดเผยวันนี้ (27) ว่า อุตสาหกรรมประมงในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจของ ภูมิภาคอาจประสบภาวะล่มสลายภายในปี 2035 เนื่องจากการจับสัตว์น้ำมากเกิน, การเพิ่มจำนวนประชากร และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งเผยแพร่โดยสำนักเลขาธิการประชาคมแปซิฟิก (SPC) ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงซึ่งมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีมีการจัดการอย่างไม่เหมาะสม และขาดความร่วมมือระหว่าง 22 ประเทศหมู่เกาะในภูมิภาค
รายงานเตือนว่า ขณะนี้ปลาทูนาบางสายพันธุ์เริ่มตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเนื่องจากถูกจับมากเกินไป ซึ่งปัญหานี้อาจแพร่ขยายไปสู่สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เนื่องจากเรือประมงต่างต้องการเข้าถึงแหล่งปลาชุม ขณะที่ปริมาณสัตว์น้ำลดลงเรื่อยๆ
“เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่ว่าทรัพยากรเหล่านี้จะไม่มีวันหมดไป” รายงานระบุ
การศึกษาเผยว่า การทำประมงตามแนวปะการังจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากที่ สุด ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำ แต่รวมถึงแนวปะการังซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนประเทศหมู่ เกาะแถบนี้ด้วย
งานวิจัยยังทำนายว่า จำนวนประชากรในประเทศหมู่เกาะจะเพิ่มขึ้น 15 ล้านคน หรือราวร้อยละ 50 ภายในปี 2035 ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคสัตว์น้ำมีมากขึ้น และเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมประมงในระยะยาว
“แม้ระบบจัดการและพัฒนาด้านประมงจะก้าวหน้าไปพอสมควรแล้ว แต่อุตสาหกรรมประมงก็อาจล่มสลายลงในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โอกาสในการพัฒนาสูญเสียไป หากไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม”
รายงานระบุว่า ปัญหาดังกล่าวอาจหลีกเลี่ยงได้ด้วยการจับสัตว์น้ำอย่างมีหลักเกณฑ์ และสร้างความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรทางทะเลจะถูกเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน และรัฐบาลนานาประเทศต้องมีความจริงใจ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆอาจไม่เป็นนิยมในระยะสั้น
“เราจะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่ออนาคต” รายงานกล่าว
“ความมั่งคั่งเกิดจากการบริหารที่ดี ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะสูญสลายไป”