จาก เดลินิวส์ออนไลน์
ใน บรรดาประเทศที่ผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออก, ไทยนับเป็นประเทศที่มีการส่งออกกล้วยไม้ สกุลหวายมากที่สุดในโลกและนำเงินตราเข้าประเทศนับหมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ “ไต้หวัน” เป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้สกุลฟาแลนน๊อปซิสที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะที่ อ.ไทนาน
ที่นี่มีการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกโดยประเทศที่สั่งซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรกในปัจจุบันคือ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฮอลแลนด์, เยอรมนีและแคนาดา ตามลำดับ เป็นที่สังเกตว่าฟาแลนน๊อปซิสดอกสีขาวได้รับความนิยมมากที่สุดคือประมาณ 60% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ที่เหลืออีก 40% จะเป็นสีอื่น ๆ ต้นกล้วยไม้ที่ทำการส่งออกนั้นจะมีจำนวนใบ 4 ใบ และเมื่อไปถึงปลายทาง เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปจะต้องนำต้นกล้วยไม้ไปเลี้ยงต่อในห้องเย็นที่มี อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงกลางคืน 15 องศาเซลเซียสและกลางวัน 28 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ถึงจะออกดอกและนำออกจำหน่าย สำหรับกล้วยไม้ตกเกรดทางบริษัทจะส่งขายในตลาดไต้หวัน
หลายคนยังไม่ทราบ ว่าอาชีพเกษตรกรรมในไต้หวันจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทุกอาชีพรวมถึงการ ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ด้วย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องที่ดิน ส่วนการลงทุนเรื่องโรงเรือนเกษตรกรหรือภาคเอกชนจะต้องลงทุนเอง สภาพโรงเรือนกล้วยไม้แห่งนี้ใช้ เงินลงทุนค่าสร้างโรงเรือนและใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งหมดเป็นเงิน ประมาณ 200 ล้านบาท (พื้นที่ของโรงเรือนจำนวน 15 ไร่) รวมถึงค่าต้นพันธุ์และการดูแลรักษา ในแต่ละโรงเรือนจะปลูกต้นกล้วยไม้ฟาแลนน๊อปซิสได้ถึง 800,000 ต้น เป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท และในแต่ละโรงเรือนจะมีอายุการใช้งานได้ถึง 20 ปีและจะคืนทุนภายใน 8 ปี
วัสดุที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ฟาแลน น๊อปซิสเพื่อการส่งออกหญ้าชิลีซึ่งเป็น วัสดุปลูกที่มีคุณภาพดีและอุ้มน้ำได้นาน ในการส่งออกต้นกล้วยไม้ฟาแลนน๊อปซิส จะมีดินติดไปไม่ได้แม้แต่เปลือกไม้ก็ไม่ได้ ในเรื่องของการให้ปุ๋ยและน้ำจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ สำหรับโรคที่เกิดจาก เชื้อราชนิดต่าง ๆ จะมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจดูทุกวัน แต่ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ตกใน ขณะนี้คือปัญหาโลกร้อนได้กระทบต่อการปลูกกล้วยไม้ฟาแลนน๊อปซิส ในปีนี้ (พ.ศ. 2553) ไต้หวันมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 37 องศาเซลเซียสมีผลทำให้ต้นกล้วยไม้เหี่ยวและตายในที่สุด.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ