จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"เอฟเอโอ"คาดปี หน้าสต็อกข้าวของ 5 ปท.ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกลดลง ผลพวงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำท่วม ส่งผลปริมาณข้าวโลกตึงตัว ดันราคาพุ่ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างนายคอนเซปซิออน คาลพี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส องค์การเกษตรและอาหารของสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ว่า ปริมาณข้าวทั่วโลกในปีหน้าอยู่ในขั้นอันตราย เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มทบทวน ปรับลดผลผลิต และสต็อกข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญๆ ของโลกจะตึงตัวมากขึ้น หลังจากส่งออกเป็นจำนวนมากในปีนี้
บลูมเบิร์กคำนวณว่า การขนส่งข้าวจากไทย เวียดนาม ปากีสถาน สหรัฐ และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 80% ของการค้าข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 8.4% จากปีที่แล้ว เป็น 24.7 ล้านตันในปีนี้
ราคาข้าวเปลือก ล่วงหน้าในตลาดชิคาโก ทะยานขึ้น 51% จากระดับต่ำสุด 9.55 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ผลจากภาวะน้ำท่วมทำลายการเพาะปลูกในปากีสถานและไทย ขณะที่ภาวะแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตในสหรัฐ และพายุไต้ฝุ่นเมกีทำลายการเก็บเกี่ยวในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก
เอฟเอโอประเมินราคาข้าวปีหน้าทะยาน
นายคาลพี กล่าวว่า ราคาข้าวไม่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง การสะสมสต็อกข้าวในไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสองรายใหญ่สุดของโลก จำเป็นต้องได้แรงหนุนจากการเก็บเกี่ยวที่ดี
ราคาข้าวใน ตลาดโลกไต่ระดับสูงขึ้น 8 วันติดต่อกันจนถึงวานนี้ (21 ต.ค.) โดยขยับขึ้น 0.8% เป็น 14.495 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ ในตลาดสิงคโปร์ สูงสุดนับจากวันที่ 12 ก.พ.
ทางด้านนายดไวท์ โรเบิร์ต ประธานสมาคมผู้ผลิตข้าวสหรัฐ กล่าวว่า สภาพอากาศปัจจุบันทำให้ตลาดที่ตึงตัวอยู่แล้วยิ่งยุ่งเหยิงมากขึ้น ตลาดเต็มไปด้วยความผันผวน ขณะที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
ข้าวไทยพุ่ง 550 ดอลลาร์ต่อตันในสิ้นปี
นายโรเบิร์ต กล่าวว่า ราคาข้าวส่ง ออกของไทย ซึ่งเป็นดัชนีหลักของเอเชีย อาจพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 550 ดอลลาร์ต่อตันภายในสิ้นปีนี้ จาก 510 ดอลลาร์ต่อตันในสัปดาห์นี้ เมื่อฟิลิปปินส์ต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น
นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ผลผลิตข้าวของ ไทยในฤดูเก็บเกี่ยวหลัก อาจลดลง 20% เหลือไม่ถึง 20 ล้านตัน หลังจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งรุนแรงสุดส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก
ส่วนที่เวียดนาม นายเหงียน เฮียว ทัม หัวหน้าฝ่ายวิจัยข้าว บริษัทร่วมทุนวิเคราะห์ตลาดเวียดนาม ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงฮานอย กล่าวว่า ผลผลิตข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายหลังจากฝนตกหนักช่วงก่อนหน้านี้ แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการสูญเสียในภาคการเกษตร แต่มีรายงานว่านาข้าวเสียหายนับแสนเฮกแตร์
ชี้น้ำท่วมผลผลิตข้าวโลกเสียหายหนัก
นายโรเบิร์ต ประธานสมาคมผู้ผลิตข้าวสหรัฐ กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวข้าวในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก อาจลดลงอย่างน้อย 10% ของตัวเลขประมาณการโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐ ทำให้พลาดเป้าการผลิตข้าวมากเป็นประวัติการณ์ และยังส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น
กระทรวงเกษตรสหรัฐปรับลดคำทำนายเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ระบุว่า ผลผลิตข้าวในปีนี้จะลดลง 5% เหลือ 11 ล้านตัน และทำนายว่า ผลผลิตข้าวโดยเฉลี่ยต่อเอเคอร์ จะลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับจากปี 2548-2549
การปรับลดคำทำนายผลผลิตข้าวของ ไทยและสหรัฐ เกิดขึ้นหลังจากภาวะน้ำท่วมทำลายผลผลิตในปากีสถานช่วงก่อนหน้านี้ และในสัปดาห์นี้ พายุไต้ฝุ่นเมกีก็พัดถล่มฟิลิปปินส์ ทำให้ฟิลิปปินส์ขาดแคลนข้าวหนักขึ้น
นายซัลวาดอร์ ซัลลาคัป โฆษกกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์สูญข้าวประมาณ 222,336 ตัน จากฤทธิ์พายุไต้ฝุ่นเมื่อวันพุธ (20 ต.ค.) ขณะที่นายอันโตนิโอ เฟลตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ทำนายก่อนไต้ฝุ่นพัดเข้าชายฝั่งว่า ผลผลิตอาจเสียหายอย่างน้อย 600,000 ตัน
นายซัลลาคัป กล่าวว่า การสูญเสียอาจขยายวงกว้างขึ้น เนื่องจากยังมีรายงานความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด ไต้ฝุ่นเมกีส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก 234,980 เฮกแตร์ รวมถึงหุบเขาคากายัน และเกาะลูซอนตอนกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ชี้อินโดฯ เปิดตลาดข้าวหอมมะลิ 1 แสนตัน
นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงผลการเยือนอินโดนีเซียเร็วๆ นี้ว่า ตนได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรของอินโดนีเซีย และได้ข้อสรุปว่าอินโดนีเซียพร้อมจะเปิดตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิให้ไทยในปริมาณ 1 แสนตันอีกครั้ง จากปี 2553 ที่อินโดนีเซียไม่มีการนำเข้าข้าวหอมมะลิเลย จากที่ทุกปีอินโดนีเซียจะนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยปีละ 1 แสนตัน
การเจรจาซื้อขายข้าวหอมมะลินั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงให้เป็นการซื้อขายกันระหว่างเอกชนต่อเอกชน ขณะที่หน่วยงานจัดซื้อข้าวของรัฐบาลอินโดนีเซียหรือบูล็อก สนใจซื้อข้าวขาวไทย 5 แสนตัน จากปริมาณความต้องการของประเทศทั้งสิ้น 1.2 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา แต่ยังตกลงราคากันไม่ได้
พร้อมกันนั้น อินโดนีเซียตกลงที่จะแก้ไขกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักรกลการ เกษตรจากไทย เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทเอกชนอินโดนีเซีย 3 บริษัทที่ผูกขาดการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร ส่งผลให้การส่งเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปอินโดนีเซียทำได้ยาก เพราะเอกชนไทยไม่สามารถติดต่อบริษัทเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีโครงการลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงงานน้ำตาลในอินโดนีเซีย และยินดีสนับสนุนเอกชนเข้าไปลงทุนเครื่องจักรโรงงานและบริหารจัดการโรงงาน ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยมองเห็นโอกาสที่จะสนับสนุนเอกชนไทย ไปลงทุนสร้างไซโลเก็บสินค้าเกษตรที่อินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรและมีปัญหาความ ชื้นในอากาศสูง ทำให้สินค้าเกษตรเน่าเสียเร็วๆ และไทยยังมีโอกาสลงทุนผลิตไฟฟ้าในอินโดนีเซียที่มีความต้องการ 4-5 พันเมกะวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า
นำเอกชนลุยลงทุนเกษตรอินโดฯ
นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-6 พ.ย.นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะนำเอกชนด้านเครื่องจักรกลการเกษตรไปเยือนอินโดนีเซีย เพื่อปรึกษาการทำการค้าและลงทุนในอินโดนีเซีย
นายกมล สุรังสุริยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เครื่องจักรกลการเกษตรของไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของอินโดนีเซียมี หลากหลาย เช่น การผลิตอาหาร ที่ไทยมีเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการผลิตข้าวตั้งแต่ การไถ การปลูก การเก็บเกี่ยวไปจนถึงการแปรรูป เครื่องอบ และการสร้างไซโลเพื่อเก็บรักษาสินค้าเกษตรเหล่านี้ ซึ่งแม้ว่าอุปกรณ์หรือเครื่องจักรการเกษตรของไทย จะมีราคาแพงกว่าจีน 50% แต่มีคุณภาพดีกว่ามาก ทำให้สินค้าเหล่านี้ยังขายได้ดี ส่วนเครื่องจักรในโรงงานน้ำตาลพบว่าเครื่องจักรของไทยมีประสิทธิภาพสูงมาก และอินโดนีเซียแสดงความสนใจที่จะนำเข้าเครื่องจักรจากไทยเช่นกัน