สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิษน้ำท่วมศก.อีสานสะดุด ธกส.อัด6พันล้านอุ้ม2แสนครัวเรือน

จากประชาชาติธุรกิจ

วิกฤต น้ำท่วมโคราช-อีสานใต้ทุบเศรษฐกิจภาคอีสานฟุบหนัก เมืองโคราชสาหัสที่สุด การค้า ธุรกิจ ส่งออกสะดุด พื้นที่การเกษตรเสียหายเฉียด 5 แสนไร่ อุตสาหกรรมไหมปักธงชัยสูญ 50 ล้าน ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมนครราชสีมา คาดตัวเลขเสียหายมากกว่า 1,000 ล้าน ด้านโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3 แห่งในนวนครเริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว ทีดีอาร์ไอคาด "น้ำท่วม-บาทแข็ง" ฉุดจีดีพีลด 1% ส่วน ธ.ก.ส.งัด 3 มาตรการพิเศษอุ้มลูกค้า พักหนี้ 50%



สถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จุดเชื่อมต่อสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกหลายจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงนอกจากจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและ ทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้างแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งสินค้า พื้นที่ผลิตด้านการเกษตร ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นของหลาย ๆ หน่วยงานเชื่อว่าจะส่งผลไปถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2553 ด้วย

ทั้งนี้ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่าหากรวมทั้ง 2 ปัญหา คือ ปัญหาอุทกภัยกระทบภาคเกษตร และปัญหาเงินบาทแข็งกระทบการส่งออก น่าจะทำให้จีดีพีลดลงประมาณ 1% ดังนั้นจากที่ทีดีอาร์ไอประเมินจีดีพีทั้งปี 2553 ว่า จะขยายตัว 6.4-7.2% ก็จะลดลงเหลือประมาณ 6%

โคราชหนักสุด อุตฯชะงัก

นาย ระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมาในช่วง 4 วันที่ผ่านมา (16-19 ต.ค.) ทั้งหมด 24 อำเภอ 238 ตำบล 1,653 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 223,341 คน 99,829 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 470,293 ไร่ สาธารณ ประโยชน์เสียหายแล้วกว่า 13 ล้านบาท อำเภอที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ อำเภอเมือง โนนสูง ด่านขุนทด สูงเนิน สีคิ้ว และหนักที่สุดคืออำเภอปักธงชัย

นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมโดยภาพรวมขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท ที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กำลังส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภาคอีสาน

เนื่อง จากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีภาคอุตสาห กรรม และภาคเกษตรใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค ทำให้การผลิตสินค้า การขนส่งต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ของจังหวัดนครราชสีมามากกว่า 50%

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดจังหวัดนครราชสีมาในช่วง 3 ปีย้อนหลัง มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น มูลค่า ณ ราคาประจำปี 2550 อยู่ที่ 150,987 ล้านบาท ในปี 2551 มูลค่า 158,677 ล้านบาท ในปี 2552 มูลค่า 162,974 ล้านบาท นอกจากนี้จังหวัดนครราชสีมายังเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งออกสำคัญของประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายปีนี้

โรงงานสะดุดหยุดผลิต

ด้าน นายสมศักดิ์ ศรีบัวรอด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ประเมินความเสียหายในขณะนี้ว่า ในพื้นที่อำเภอปักธงชัยทั้งอำเภอได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะน้ำท่วมโรงงานผลิตเส้นไหมหลายแห่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา ส่วนโรงงานใน อ.ปากช่องก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน โดยได้รับแจ้งความเดือดร้อนจากโรงงานผลิตไม้กวาดส่งออก และโรงงานในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร โคราช ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว




โรง งานบางแห่งน้ำไม่ท่วมแต่ท่วมในพื้นที่รอบ ๆ ทำให้พนักงาน แรงงานออกมาทำงานไม่ได้ โรงงานถูกตัดกระแสไฟฟ้า ต้องหยุดการผลิตสินค้าทั้ง ๆ ที่มีออร์เดอร์สินค้ารออยู่จะต้องรอดูสถานการณ์อีก 2-3 วัน หากเข้าสู่ภาวะปกติก็คงจะเริ่มดีขึ้น ส่วนภาคเกษตรก็ไม่สามารถขนย้ายสินค้าออกมาจำหน่ายได้ ความเสียหายในเบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท

นายปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา กล่าวว่า ทำให้ลูกค้าหายไปกว่า 50% แต่เดอะมอลล์ยังคงเปิดให้บริการลูกค้าเป็นปกติ

สำหรับ ร้านค้าภายในห้างก็มีจำนวนลดลงตามสัดส่วนของพนักงานที่ไม่สามารถมาทำงานได้ ส่วนกิจกรรมที่ได้กำหนดจัดในช่วงนี้ก็ยังมีการจัดเหมือนเดิม แต่ก็ต้องยอมรับสภาพว่ายอดขายต่าง ๆ คงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กิจกรรม Watch Fair 2010 ระหว่างวันที่ 19 ต.ค.-3 พ.ย. 2553 เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 50 ล้านบาท แต่ตอนนี้ลดเป้าลงเหลือเพียง 25 ล้านบาท

โลตัส-ผ้าไหมปักธงชัยวอด 100 ล้าน

ด้าน นายสมบุญ วัชรเมฆินทร์ นายกสมาคมไหมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โรงงานผ้าไหมในอำเภอปักธงชัยได้รับความเสียหายทั้งหมดกว่า 60 แห่ง โดยเฉพาะโรงงานผลิตเส้นไหมที่กำลังมีการผลิตอยู่ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องจักรได้ ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 50 ล้านบาท ยังไม่รวมถึงผ้าไหมในโชว์รูมต่าง ๆ ของร้านค้าที่เคลื่อนย้ายไม่ทันซึ่งยังประเมินความเสียหายไม่ได้

นาย สุชาติ สิทธิชัย รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงงานของซีพีเอฟใน อ.ปักธงชัย โชคชัย และ อ.เมืองไม่ได้รับผลกระทบ

นางสาวฟาง เอกลักษณ์รุจี ผู้จัดการอาวุโสกิจการบรรษัท-กิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ได้ปิดบริการตลาดเทสโก้ โลตัส สาขาอำเภอปักธงชัยตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.เป็นต้นมา และขณะนี้ได้ตั้งเต็นท์เพื่อขายสินค้าประเภทน้ำ อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งมีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยใช้สาขาใน อ.เมืองเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักให้กับอำเภอต่าง ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นคาดว่าจะเกิดความเสียหายมากกว่า 50 ล้านบาท

นายสุรสีห์ แห่งศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร (นครราชสีมา) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ต.ค.) โรงงานทั้ง 3 แห่งที่ถูกน้ำท่วมสามารถเดินเครื่องผลิตสินค้า การขนส่ง และแรงงานเข้าสู่ภาวะปกติ โรงงานทั้งหมดกำลังเร่งการผลิตสินค้าที่จะต้องส่งให้ทันตามกำหนด และได้เร่งทำโอที เพื่อให้ทันต่อการสั่งซื้อสินค้า บริษัทที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ 1.บริษัท เอ็ม เอ็ม ไอ พรีซิชั่น แอสเซมบลิ (ไทยแลนด์) จำกัด 2.บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด 3.บริษัท สยามฟูโกกุ จำกัด ส่วนนวนครโคราชได้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกด้าน เพื่อให้การส่งสินค้าและการผลิตทันเวลา

ประกันรอสำรวจภัยเร่งจ่ายสินไหม

นาย วิชัย สันติมหกุลเลิศ รองประธาน อนุกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า บริษัทประกันภัยเตรียมจะส่งทีมสำรวจภัยลงพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมทันที หลังจากระดับน้ำลดลงและสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เพื่อสำรวจความเสียหายของลูกค้าผู้เอาประกัน โดยกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย คาดว่าจะใช้เวลาในการสำรวจภัยและจ่ายค่าสินไหมได้ภายใน 1 เดือน ส่วนลูกค้าธุรกิจหรือโรงงานอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น เนื่องจากมีรายละเอียดในการประเมินความเสียหายมากกว่า เช่น เครื่องจักรและสต๊อกสินค้า เป็นต้น

สำหรับกรมธรรม์ที่จะให้ความคุ้ม ครองกรณีภัยน้ำท่วมมี 2 ส่วน คือประกันอัคคีภัยที่ซื้อเพิ่มกรณีภัยน้ำท่วมและลมพายุเข้าไปด้วย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย สำหรับประกันบ้านที่อยู่อาศัยหรือร้านค้า และประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินที่รวมความคุ้มครองส่วนนี้เข้าไปอยู่แล้ว โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจหรือโรงงาน ขณะนี้ยังตอบได้ยากว่ามูลค่าความเสียหายจะมากน้อยเพียงใด

นายวิชัย กล่าวอีกว่า การประเมินวงเงินสินไหมในเบื้องต้น กลุ่มลูกค้าบ้านที่อยู่อาศัยน่าจะมีสัดส่วนความเสียหายประมาณ 50% ของทุนประกัน ส่วนลูกค้าธุรกิจน่าจะมีเคลมด้านสต๊อกสินค้าประมาณ 30-50% ของทุนประกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า และเคลมด้านเครื่องจักรประมาณ 70% ของทุนประกัน

กรุงไทย-กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ช่วยลูกค้า

นาย เวทย์ นุชเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารมีลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม 6 ราย เป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าเกษตร ค้าวัสดุก่อสร้าง และค้าปลีก โดยได้รับแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่มีปัญหาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนสาขาของธนาคารได้หยุดดำเนินการไป 3 สาขาแล้ว คือสาขาปักธงชัย ช้างเผือก และสาขาโรงพยาบาลมหาราช

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีลูกค้า 2 ราย คือผู้รับซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งลูกค้าสามารถกู้สินค้าได้ทันจึงไม่มีความเสียหาย ส่วนผู้ค้าวัสดุก่อสร้างกำลังติดตามว่าลูกค้ามีประกันสต๊อกสินค้าไว้หรือไม่ ส่วนกลุ่มลูกค้าเกษตรกรรายย่อย ส่วนใหญ่มีสินเชื่อกับธนาคารของรัฐ

ด้าน นายไตรรงค์ บุตรากาศ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีลูกค้า 2 รายที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ตอนนี้ลูกค้ายังไม่มีการขอความช่วยเหลือ และคงให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี ไม่มีการออกเป็นแพ็กเกจ

ธ.ก.ส.เข็น 3 มาตรการช่วย

นาย ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.ได้รับความเสียหาย 41 จังหวด จำนวน 1,497 ตำบล มีลูกค้าได้รับความเดือดร้อน 268,142 ครัวเรือน คิดเป็นยอดหนี้คงค้าง 22,285 ล้านบาท คาดว่ามีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 14,196 ล้านบาท จำนวนพื้นที่ 3.15 ล้านไร่ ปริมาณความต้องการเงินกู้เพื่อนำไปฟื้นฟูการผลิตจำนวน 6,201 ล้านบาท

ธ.ก.ส.ได้ มี 3 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการฉุกเฉินมอบถุงยังชีพ มาตรการปกติ ผ่อนเวลาชำระหนี้เงินกู้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำหน่ายหนี้สูญ และให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพตามความเดือดร้อนแต่ละราย และมาตรการพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง การผลิตได้รับความเสียหายมากกว่า 50% ของมูลค่าผลผลิตที่ได้และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้เดิม จะพิจารณาให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพในอัตราพิเศษโดยลดหย่อน หลักประกันเงินกู้ยืม

"นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะเสนอคณะกรรมการธนาคารพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติมในกลุ่มที่เสียหาย รุนแรง โดยการพักเงินต้นกู้ 50% ไว้ก่อน ส่วนเงินต้นกู้ที่เหลือจะนำมาปรับโครงสร้างชำระหนี้ไม่เกิน 15% โดยจะพิจารณาเป็นราย ๆ" นายลักษณ์กล่าว

สรุปน้ำท่วม 38 จว. เสียหาย 365 ล้าน

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ได้อนุมัติให้ขยายวงเงินทดรองจ่ายจากจังหวัดละ 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ให้แก่ จ.ลพบุรี นครราชสีมา และให้ออกมาตรการพิเศษ-ปรับเกณฑ์-ยกเว้นเกณฑ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหาย โดยจะมีการชดเชยรายได้รายครัวเรือน ด้วยการทำความตกลงกับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เงินช่วยเหลือถึงมือประชาชนโดยตรง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยว่า มีพื้นที่ประสบภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน 38 จังหวัด 161 อำเภอ 772 ตำบล 4,513 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเสียหายเบื้องต้น ณ วันที่ 18 ต.ค. จำนวน 208,446 ครัวเรือน มูลค่าความเสียหาย 365,833,405 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า มีโรงเรียนได้รับความเสียหาย 146 แห่ง ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือ 29.2 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าเสียหายโรงเรียนละ 2 แสนบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า เกษตรกรได้รับความเสียหาย 89,834 ราย พื้นที่ 960,080 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 765,205 ไร่ พืชไร่ 177,795 ไร่ พืชสวนอื่น ๆ อีก 17,080 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 5,459 ไร่

น้ำท่วมนิคมอุตฯพิจิตร/แก่งคอย/หนองแค

นาง มณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร, นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย และนิคมอุตสาหกรรมหนองแค

นิคม อุตสาหกรรมพิจิตร มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบนิคม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 500 ไร่ ขณะนี้ระดับน้ำลดลง 70 ซ.ม. ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย

นิคม อุตสาหกรรมหนองแค อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ทางผู้ที่เกี่ยวข้อง กนอ. จังหวัด ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ได้ร่วมประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในการระบายน้ำ โดยได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและทยอยระบายน้ำออก

นอกจากนี้การนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนไปยังนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค), นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมกันเพื่อเตรียมแผนรองรับน้ำท่วมแล้ว

Tags :

view