จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - คณะนักวิจัยด้านจีโนม (genome) มะกันค้นพบ ข้าวปลูกขึ้นครั้งแรกในโลกบริเวณหุบเขาแม่น้ำแยงซีของจีนเมื่อราว 10,000 ปีก่อน มิใช่ที่อินเดียอย่างที่เข้าใจกัน
รายงานการศึกษาชิ้นนี้มีชื่อว่า Molecular evidence for a single evolutionary origin of domesticated rice (หลัก ฐานด้านโมเลกุลต้นกำเนิดวิวัฒนาการของข้าว ที่มนุษย์นำมาปลูกแห่งเดียว) พิมพ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์วารสาร PNAS ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาเมื่อวันจันทร์ (2 พ.ค.)
คณะนักวิจัย ซึ่งมาจากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ลงมือศึกษา โดยใช้เทคนิคการจำลองภาพและการคำนวณทางคอมพิวเตอร์มาวิเคราะห์ชุดข้อมูล ซึ่งเคยถูกตรวจสอบมาแล้วในการศึกษา ที่ผ่าน ๆ มา
จากนั้น นำแฟรกเมนต์ของหน่วยพันธุกรรม (gene fragment) 630 แฟรกเมนต์จากพันธุ์ข้าวป่าและข้าวบ้าน มาจัดเรียงลำดับใหม่ โดยใช้เทคนิคล่าสุด ที่เพิ่งนำมาวิเคราะห์ยีนของมนุษย์เมื่อเร็ว ๆ นี้
คณะนักวิจัยพบว่า ข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งในอดีตเข้าใจกันว่ากำเนิดขึ้นอย่างอิสระในสถานที่แตกต่างกันนั้น แท้จริงแล้วมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
ขั้นตอนสุดท้าย คณะนักวิจัยใช้“นาฬิกาโมเลกุล” (molecular clock) ในยีนของข้าวมากำหนดหาว่าข้าวปลูกขึ้นครั้งแรกเมื่อใด และพบว่าตกอยู่ในช่วง 8,200 และ13,500 ปีก่อน ซึ่งเกือบตรงกันพอดีกับช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มปลูกข้าวในหุบเขาแม่น้ำแยงซี ตามหลักฐานการขุดค้นพบของนักโบราณคดี
ศาสตราจารย์ไมเคิล ปุรักคานัน นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้วิจัยคนหนึ่งในคณะระบุว่า พ่อค้า และชาวนา ที่ย้ายถิ่นได้นำพันธุ์ข้าวจากจีนมายังอินเดีย และน่าจะเกิดการผสมพันธุ์กับพันธุ์ข้าวป่าพื้นเมือง ดังนั้น ที่เราเคยเข้าใจกันว่า ข้าวเริ่มปลูกครั้งแรกในอินเดียนั้น จริงๆ แล้วเริ่มที่จีนมาก่อน
เหล่านักวิจัยของจีนพากันขานรับผลการศึกษานี้ โดยเรียกว่า เป็น “การตัดสินขั้นสุดท้าย” เนื่องจากหลักฐานจากหน่วยพันธุกรรมย่อมมีความแม่นยำมากที่สุด หลังจากมีการถกเถียงกับผู้เชี่ยวชาญของอินเดียมาหลายสิบปีแล้ว
ผลการศึกษาของสหรัฐฯสอดคล้องกับผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ของจีน ที่ค้นพบมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ1950 แล้วว่า ข้าวปลูกขึ้นครั้งแรกในจีน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวงวิชาการโลกกลับเพิกเฉยการค้นพบนั้น และตั้งชื่อข้าวสายพันธุ์ย่อยสำคัญของข้าวเอเชีย 2 สายพันธุ์ว่า อินดิกา และจาโปนิกา
จากผลการศึกษาล่าสุดนี้ นักวิจัยของจีนจึงเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อทั้งสองเสียใหม่เป็นชื่อในภาษาจีน เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ข้าวมิได้ปลูกครั้งแรกที่อินเดียและญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ด็อกเตอร์ ที.เค. อัธยา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวกลางของอินเดียโต้แย้งว่า ผลการศึกษาที่ผ่านมามีหลักฐานยืนยันหนักแน่นว่า ข้าวปลูกครั้งแรกในอินเดีย เช่นการศึกษาของศาสตราจารย์ซูซาน แม็คเคาชแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลในปี 2550 ที่เสนอว่า มีการปลูกข้าวในพื้นที่ราบ ซึ่งสภาพอากาศอบอุ่นชุ่มชื้นตรงเชิงเขาหิมาลัยด้านใต้
ด็อกเตอร์อัธยาจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์ ข้าวดังกล่าว และ การตัดสินว่าข้าวมิได้ปลูกครั้งแรกที่อินเดียนั้นเป็นการรีบร้อนเกินไป
ด็อกเตอร์ เซี่ย ฟางหมิง นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ผู้วิจัยข้าวพันธุ์ผสมที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติในฟิลิปปินส์เห็นด้วยกับ ด็อกเตอร์อัธยา
“การศึกษาในอดีตมีหลักฐานสะสมหนักแน่นเรื่องต้นกำเนิดการปลูกข้าวในแถบหิมาลัย” ด็อกเตอร์เซี่ยระบุ
“ผลการศึกษาชิ้นใหม่อาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอ ที่จะขว้างทิ้งผลการศึกษา ที่ผ่านมาได้” เขากล่าว