จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก :คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังถึงห้องรมควันกำมะถันลำไย เพื่อรักษาคุณภาพ เพียงแต่วิธีการที่ใช้กันอยู่กลับก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างบนผิวลำไยจนเกินปริมาณที่ยอมรับได้
และอันตรายจากการรมควันที่ไม่ถูกวิธีรวมทั้งความสม่ำเสมอของการรมควันดังกล่าว แต่ว่าปัญหาเหล่านี้กำลังได้รับการแก้ไขแล้ว คือทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมี อาจารย์จักรพงษ์ พิมพ์พิมล เป็นหัวหน้าทีมครับ
การวิจัยในครั้งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้พัฒนาห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นมาใหม่ โดยมีเป้าหมายคือให้สามารถควบคุมปริมาณของแก๊สและความสม่ำเสมอ หรือการกระจายตัวของแก๊สในห้องรม รวมทั้งทำให้ผลลำไยที่ผ่านการรมควันดังกล่าวมีปริมาณซัลเฟอร์ไดอกไซด์ตกค้างไม่เกินปริมาณที่ยอมรับได้ ซึ่งถูกกำหนดเป็นมาตรฐานระดับสากล
ทีมงานดังกล่าวได้สร้างห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นมา โดยใช้แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากถังบรรจุแก๊ส ไม่ได้ใช้การเผากำมะถันอย่างที่เคยเป็นมา ดังนั้นจึงสามารถควบคุมปริมาณของแก๊สได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังใช้หลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ออกแบบพัดลมให้กระจายแก๊สอย่างสม่ำเสมอทั่วห้องรม ทำให้ลำไยทุกผลได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างสม่ำเสมอกัน ที่สำคัญคือภายหลังการรมด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในเนื้อลำไยมีไม่ถึง 10-11 ส่วนต่อล้าน ซึ่งจากเดิมนั้น พบสารตกค้างมากกว่านี้หลายเท่าตัว ในการรมแต่ละรอบ ห้องรมที่สร้างขึ้นมากสามารถรวมได้ประมาณ 360 ตะกร้า หรือประมาณ 4 ตัน เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายผันแปรในการรมแล้ว ตกประมาณสลึงเดียวต่อ 1 กิโลกรัมของลำไย หากคิดต้นทุนของการลงทุนสร้างห้องรมด้วยแล้ว ก็ยังเป็นต้นทุนเพิ่มที่ตกประมาณไม่ถึง 1 บาทต่อกิโลกรัม
ห้องรมควันกำมะถันสำหรับลำไยที่สร้างขึ้นมานี้ เป็นลักษณะที่เคลื่อนที่ได้ หมายความว่ามีลักษณะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ สามารถใช้บรรทุกรถแล้วลากไปยังบริเวณที่ต้องการได้ จึงนำไปทดลองใช้ในโรงรมลำไยเพื่อการส่งออกจริง เมื่อมีการเปรียบเทียบกับลำไยที่รมโดยวิธีการเดิมแล้ว
สิ่งแรกที่เห็นถึงความแตกต่างชัดเจนคือความสดของผิวที่ผ่านการรมด้วยแก๊สโดยตรงนั้น จะดีกว่า เนื่องจากไม่มีความร้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผากำมะถัน ซึ่งความร้อนจากการเผานี้ทำให้ผิวลำไยบางส่วนแห้งกร้าน และเสื่อมคุณภาพเร็วกว่า แต่ว่าโดยสรุปแล้วการรมควันกำมะถันโดยใช้ห้องรมที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ สามารถแก้ไขข้อเสียของการรมด้วยวิธีการดั้งเดิมได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปริมาณสารตกค้าง ความปลอดภัย ความสะดวก เป็นต้น
มีข้อสงสัยอยู่ว่าตอนนี้โรงรมกำมะถันสำหรับลำไยซึ่งมีอยู่ทั่วไปนั้น การจะเอาโรงรมแก๊สที่สร้างขึ้นใหม่นี้เข้าไปแทนที่เลย คงทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยก็บอกว่าสามารถดัดแปลงโรงรมของเดิมซึ่งใช้วิธีเผากำมะถัน มาเป็นระบบรมด้วยแก๊สโดยตรงได้ โดยการดัดแปลงโรงรมเดิมบางส่วนเท่านั้น ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาหรือปฏิรูประบบการรมกำมะถันลำไยให้ได้มาตรฐานในวงกว้างมากขึ้น ถ้าทำได้จริงตามนั้นก็เชื่อว่าตลาดต่างประเทศน่าจะเปิดกว้างมากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลำไยของไทยเข้าไปขายในบางประเทศไม่ได้ ก็น่าจะมาจากเรื่องสารตกค้างเกินมาตรฐานส่วนหนึ่ง หากเราแก้ไขจุดนี้ได้ก็จะทำให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจและทำให้ตลาดของเราขยายได้อีกมากครับ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ