สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนะชาวสวน ผลิตผักปลอดสาร เจาะตลาด อียู

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

เก็บมาเล่า

จีรวรรณ โรจนพรทิพย์

แนะชาวสวน ผลิตผักปลอดสาร เจาะตลาด อียู

เหมือน ฟ้าผ่ากลางแดดเปรี้ยง เมื่อจู่ๆ คุณจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่าจะระงับการส่งออกพืชผัก 5 กลุ่ม จำนวน 16 ชนิด ได้แก่ พืชสกุล Ocimum spp. เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า พืชสกุล Capsicum spp. ได้แก่ พริก? พืชสกุล Momordica charantia ได้แก่ มะระจีน มะระขี้นก พืชสกุล Solanum me longena ได้แก่ มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือขาว มะเขือขื่น และสกุล Eryngium foetidum คือ ผักชีฝรั่ง ไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เป็นการชั่วคราว โดยมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป

เพราะ ก่อนหน้านี้ ได้รับการแจ้งเตือนจาก อียู ว่า สินค้าพืชผัก 5 ชนิด ที่นำเข้าจากไทยมีปัญหาปนเปื้อนสารเคมี เชื้อจุลินทรีย์ โรคแมลง ในสัดส่วนที่สูงขึ้น อียู เคยแจ้งเตือนผู้ส่งออกบางรายเป็นระยะต่อเนื่องกว่า 60-70 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขในทางปฏิบัติ กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลมาตรฐานพืชผักส่งออก เล็งเห็นว่า หากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อต่อไป คาดว่า อียู จะใช้ดำเนินมาตรการรุนแรงถึงขั้นระงับการนำเข้าพืชผักจากไทยทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียรายได้และภาพลักษณ์อย่างรุนแรงมากกว่า

ดัง นั้น กรมวิชาการเกษตรจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายระงับการส่งออกสินค้าพืชผัก 5 กลุ่ม เป็นการชั่วคราว เพื่อแสดงให้ อียูเห็นถึงความตั้งใจจริงของไทยในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้านสุขอนามัยพืช คาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 1-3 เดือน สำหรับปรับปรุงด้านสุขอนามัยแปลงปลูกผักของไทย ก่อนเชิญ อียู มาตรวจสอบรับรองระบบ เพื่อเริ่มการส่งออกพืชผักในอนาคต

นโยบายดัง กล่าว ส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกพืชผัก 5 กลุ่ม ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 70 ล้านบาทแล้ว ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกผัก ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ คงเป็นประเด็นปัญหาที่หลายคนสงสัย

คุณศิริจันทร์ อินทร์น้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อาสานำทางเราไปบุกสวนผักเพื่อพูดคุยหาคำตอบจาก "คุณกิมยู้ อาภรณ์พิศาล (คุณลุงยู้) และ คุณนงค์นุช อาภรณ์พิศาล (คุณป้านุช)" สองสามีภรรยาเจ้าของ "ไร่แสงรวี" หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามส่งออกพืชผักไปขายตลาด อียู



ชาวสวนประกาศสู้เต็มกำลัง

เพื่อรักษารายได้ปีละล้าน


ไร่ แสงรวี ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองปากโลง อำเภอเมืองนครปฐม โทร. (086) 796-0270 คุณป้านุช เล่าว่า เมื่อช่วง 10 ปีก่อน ทำสวนชมพู่ทูลเกล้าส่งขายตลาดฮ่องกง เมื่อต้นชมพู่มีอายุเยอะให้ผลผลิตน้อยลง จึงโค่นต้นทิ้งและปรับพื้นที่สำหรับปลูกผักปลอดสาร เช่น ผักชี กะเพรา โหระพา แต่ช่วงแรกขายได้น้อยเพราะไม่มีลูกค้าประจำ เมื่อปี 2548 คุณป้านุชจึงได้ทำหนังสือถึงเกษตรตำบล เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบแปลงปลูกตามมาตรฐาน GAP เพื่อให้คุณป้านุชมีใบรับรองแหล่งผลิตพืช เพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทส่งออกได้ กว่ากรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาอนุมัติ คุณป้านุช เล่าว่า ใช้เวลาตรวจสอบนานมาก ตรวจแล้วตรวจอีก แต่คุ้มค่ากับการรอคอย

เพราะในช่วงที่ผ่านมา คุณป้านุชปลูกพืชผักเพียง 4 ชนิด คือ กะเพรา ผักชี โหระพา และตะไคร้ หมุนเวียนบนเนื้อที่ 12 ไร่ แต่มีรายได้จากการจำหน่ายผักให้แก่บริษัทผู้ส่งออกกว่าปีละ 1 ล้านบาท เนื่องจากไร่แสงรวีอาศัยแรงงานภายในครัวเรือน ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกอีก 3 คน จึงประหยัดต้นทุนค่าจ้างแรงงานไปได้มากโข นอกจากนี้ คุณป้านุช และคุณลุงยู้ เป็นเกษตรกรที่ขยันขันแข็งมากๆ เมื่อมีเวลาว่างก็จะเพาะขยายพันธุ์พืชผักเก็บไว้ใช้ภายในไร่ ดังนั้น แต่ละปีไร่แสงรวีจ่ายเงินซื้อปัจจัยการผลิตจากภายนอกในงบประมาณต่ำ เพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้น จึงมีเงินเก็บออมเหลือเฟือ

คุณป้านุชเล่า ถึงขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูก ก็เริ่มจากเตรียมดินก่อน หลังจากนั้นเติมปุ๋ยคอกลงในดิน และฆ่าเชื้อด้วยยิปซัมธรรมชาติ ตากดินประมาณ 30-45 วัน จึงค่อยเริ่มเพาะปลูกได้ตามปกติ สำหรับพื้นที่ปลูกกะเพรา จำนวน 1 ไร่ ระยะห่างประมาณ 10-12 นิ้ว 1 ไร่ จะปลูกได้ 12,300 ต้น หากปลูกถี่ ก็จะปริมาณมากถึง 14,000 ต้น คุณป้านุชจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลการปลูกอย่างละเอียดยิบ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน การปลูกผักในช่วงอากาศหนาว ต้องใช้ระยะเวลาปลูกนาน 1 เดือน แต่หากอากาศร้อน แค่ 25 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ สำหรับแปลงปลูกกะเพรา ในครั้งแรกจะตัดได้เฉพาะช่วงยอดเท่านั้นเพราะกิ่งแขนงยังไม่มี ก็จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 200 กิโลกรัม ต่อไร่

สำหรับการลงทุนปลูก กะเพราแต่ละครั้ง จะมีอายุเก็บเกี่ยวนาน 6 เดือน คุณป้านุชจะตัดกะเพราออกขายได้ทุกๆ 10 วัน เนื่องจากไร่แสงรวีมีที่ดินว่างเปล่าจำนวนมาก เมื่อแปลงเก่าใกล้หมดครบอายุการเก็บเกี่ยว คุณป้านุชกับคุณลุงยู้ก็จะเตรียมแปลงใหม่รอไว้ท่าล่วงหน้า วิธีนี้ทำให้ไร่แสงรวีมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี สำหรับแปลงต้นแก่ ก็เก็บไว้เพาะเมล็ดพันธุ์ การวางแผนการผลิตแบบนี้ ช่วยให้คุณป้านุชมีเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกได้ตลอดทั้งปี

เมื่อถาม ถึงเทคนิคการดูแลให้น้ำ คุณป้านุช บอกว่า ไม่มีเคล็ดลับยุ่งยากอะไร ทางไร่ให้น้ำในระบบสปริงเกลอร์ธรรมดา นาน 5 นาที หากใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ทุกๆ 15-20 วัน จะเปิดน้ำประมาณ 7 นาที วันรุ่งขึ้นก็จะเปิดน้ำอีก 7 นาที เพื่อให้ปุ๋ยเคมีละลายลงดิน หากเติมปุ๋ยน้ำหมัก ก็จะเติมลงดินโดยตรง เพราะกลัวมีปัญหาสารตกค้างในพืชผัก

โดยทั่วไป ไร่แสงรวีวางแผนปลูกพืชผักชนิดละ 3 ไร่ แต่ละเดือนจะมีผลผลิตเฉลี่ย 4-5 ตัน ตัดผักออกขายสัปดาห์ละ 1 ตันเศษ แต่ละครั้ง ผู้ส่งออกจะโทร.มาถามว่า ในสัปดาห์นี้ มีผักชนิดนี้บ้างไหม หากมีทางบริษัทก็จะสั่งออเดอร์ทันที พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาสุ่มเก็บตัวอย่างผักประมาณ 1 กิโลกรัม เพื่อนำไปตรวจหาสารปนเปื้อน โรคและแมลงศัตรูพืชล่วงหน้าก่อนตัดผัก 1 วัน หากไม่เจอสารตกค้าง บริษัทก็จะสั่งตัดผักทันที ทางสวนมักจะตัดผักเสร็จภายในช่วงเช้า ทางบริษัทก็จะส่งรถมารับสินค้าจากสวนทันที เพื่อนำไปคัดและแบ่งบรรจุที่โรงงานภายในวันเดียวกัน

คุณป้านุช เล่าว่า จะคัดกะเพราใบสวย กิ่งตรง ขายให้บริษัทผู้ส่งออก 3 ราย คือ บริษัท วีเอส เฟรช โก้, บริษัท เฟรชพาสเนอร์, บริษัท ชัชวาลฟาร์ม ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ส่วนสินค้าที่ตกเกรดก็จะนำไปขายที่ตลาดนครปฐมในราคากิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่ปัจจุบันสินค้าไม่พอขาย ต้นผักที่กิ่งงอ ทางบริษัทก็ยินดีรับซื้อทั้งหมด โดยปกติบริษัทส่งออกแต่ละรายมักนิยมสั่งซื้อผักประมาณ 200-250 กิโลกรัม ในช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ หากออเดอร์ยังไม่หมด ก็จะสั่งซื้อต่อในช่วงวันธรรมดาอีกครั้งละ 50-70 กิโลกรัม คุณป้านุชยอมรับว่า ปลูกผักส่งออก หากไม่มีหนี้สินมาก่อน ก็มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่งลูก 3 คน เรียนต่อในระดับปริญญาได้อย่างสบายๆ

บางครั้ง ไร่แสงรวีก็เจอปัญหาตัดผักออกขายไม่ได้ เพราะเจอแมลงติดอยู่ตามยอดผัก ก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยนำยาฆ่าแมลงมาฉีด และรอเก็บผักในระยะที่ปลอดภัย ทางไร่แสงรวีเป็นแปลงผักปลอดสารที่มีมาตรฐาน GAP และได้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Q) ที่มีอายุการใช้งาน 1 ปี หากทำผิด 3 ครั้ง ก็จะถูกยึดใบอนุญาต คุณป้านุชเล่าว่า ทางไร่แสงรวีให้ความสำคัญเรื่องการรักษามาตรฐานการผลิตอย่างมาก เพราะเราอยากขายตลาดส่งออกเป็นหลัก

เมื่อถามว่า ไร่แสงรวีได้รับผลกระทบจากกรณีกรมวิชาการเกษตรสั่งระงับการส่งออกพืชผัก 5 กลุ่ม ไปยังตลาด อียู หรือไม่ คุณป้านุชให้คำตอบว่า ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะบริษัทชัชวาลซึ่งเป็นลูกค้าประจำยังมีตลาดญี่ปุ่นรองรับ แต่คุณป้านุชก็ภาวนาให้นโยบายแบนการส่งออกผักไปตลาด อียู คลี่คลายลงในเร็ววัน เพราะไร่แสงรวีต้องการผลิตผักเพื่อขายตลาดส่งออกมากกว่าที่จะขายตลาดใน ประเทศ หากกรมวิชาการเกษตร ต้องการให้เกษตรกรปรับปรุงแปลงผักอย่างไร คุณป้านุชก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้จะต้องเสียเวลา และยุ่งยากในการดำเนินงาน คุณป้านุชพร้อมลุยงานหนักเพื่อรักษารายได้ปีละล้านบาทสำหรับเลี้ยงดูครอบ ครัวต่อไปอีกนานๆ



วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์นี้ ดีเดย์

ตรวจแปลงผัก GAP ที่ส่งขาย อียู


คุณ ศิริจันทร์ อินทร์น้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรจำนวน 203 ราย ในจังหวัดนครปฐมที่ปลูกผักปลอดสารส่งขายตลาด อียู ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯ เตรียมจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรับรองแปลงปลูกผักของเกษตรกรทั้ง 203 ราย ตั้งแต่วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์นี้

หัวใจสำคัญในการตรวจสอบทวนระบบครั้งนี้ จะมุ่งตรวจสอบ 8 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. สภาพการเพาะปลูก

2. แหล่งน้ำ หากเกษตรกรรายใดมีแปลงเพาะปลูกและแหล่งน้ำ อยู่ในใกล้โรงงานอุตสาหกรรม โรงฆ่าสัตว์ก็ถือว่าสอบไม่ผ่าน

3. การใช้สารเคมี ห้ามใช้สารเคมีในกลุ่มที่ อียู ประกาศงดใช้อย่างเด็ดขาด เช่น ยาฆ่าหญ้ากลุ่มไกลโฟเสต ส่วนสารเคมีประเภทอื่นๆ ใช้ได้แต่ต้องใช้ให้ถูกส่วน ถูกเวลา และถูกอัตรา

4. เกษตรกรต้องมีการจดบันทึกทุกขั้นตอนการปลูก ตั้งแต่วันที่ปลูก ใส่ปุ๋ยและสารเคมี วันที่เก็บเกี่ยว ผลผลิตที่จำหน่ายและรายชื่อลูกค้า

5. สารเคมี จะต้องจัดเก็บในโรงเรือนที่มีหลังคาคลุม แยกจากบ้านพักและสัตว์เลี้ยง

6. การเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี โรคและแมลง เน้นใช้ภาชนะอุปกรณ์ที่สะอาด

7. จุดรวบรวมผลผลิต จะต้องมีโต๊ะคัดแยกผักโดยเฉพาะ

8. ผ้าคลุมเข่ง สำหรับป้องกันผักเหี่ยวเฉา ก่อนนำไปใช้งานจะต้องตากผ้าให้แห้งสะอาด มีราวตากผ้าคลุมผักโดยเฉพาะ ส่วนถุงมือและมีดที่ใช้ตัดผัก จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ ภายหลังการใช้งานก็ต้องจัดเก็บให้เป็นสัดเป็นส่วน

หลังจากนั้น ทางกรมจะเก็บส่งตัวอย่างผักส่งเข้าห้องแล็บ เพื่อตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี โรคและแมลง หากยังตรวจพบสิ่งปนเปื้อน ก็จะแจ้งให้เกษตรกรทราบว่า ยังส่งออกผักไม่ได้ หลังจากนั้น อีก 10-15 วัน จึงค่อยมาสุ่มเก็บตัวอย่างผักไปตรวจสอบอีกครั้ง หากตรวจสอบรอบ 2 ไม่เจอจุดบกพร่อง คณะผู้ตรวจรับรองก็จะออกใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Q) ให้แก่เกษตรกร ซึ่งใบรับรองดังกล่าวจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี แต่ทางศูนย์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแปลงทุกๆ 2-3 เดือน เพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างผักส่งเข้าห้องแล็บ เพื่อตรวจสอบหาสารตกค้างอย่างต่อเนื่อง

คุณศิริจันทร์ เชื่อมั่นว่า แผนดีเดย์ครั้งนี้ หากได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร บริษัทผู้ส่งออกเป็นอย่างดี คาดว่าจะสามารถเชิญ อียู เข้ามาตรวจสอบรับรองระบบแปลงปลูกเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรส่งผัก 5 กลุ่ม เข้าไปขายในตลาด อียู ได้อีกครั้งหนึ่งก่อนกลางปีนี้

Tags : แนะชาวสวน ผลิตผักปลอดสาร เจาะตลาด อียู

view