จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
รายงานพิเศษมหัศจรรย์ สกลนคร
ธนสิทธิ์ เหล่าประสิทธิ์
เม่า ผลไม้เด่น แห่ง สกลนคร
สถาบัน วิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือในปัจจุบันคือ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร นับเป็นจุดเริ่มการก่อกำเนิดเกี่ยวกับเรื่องราวของเม่า ผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัดสกลนคร ที่วันนี้ต้องบอกว่าได้กลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีชื่อรู้จักกันทั่วทั้ง ประเทศ
เม่า มะเม่า หมากเม่า หรือ เม่าหลวง เป็นผลไม้ที่เกิดขึ้นตามหัวไร่ปลายนา แต่เดิมนั้นเรียกได้ว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในแถบจังหวัดสกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และนครพนม โดยเฉพาะในพื้นที่ติดเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีต้นเม่าโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี ยังยืนต้นอยู่
เมื่อติดผล ผลอ่อนจะมีสีเขียว รสฝาดเปรี้ยว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและสีดำ ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ผลสุกเต็มที่ ที่มีรสเปรี้ยว ฝาด และหวานปนกัน น้ำคั้นที่ได้จากผลสุกเป็นสีม่วงแดงเข้ม ซึ่งเป็นสีของรงควัตถุ anthocyanin และทนทานต่อการเปลี่ยนสีในกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
เม่าหลวง มีการขยายพันธุ์ในธรรมชาติด้วยเมล็ด ต้นที่ได้มีการกลายพันธุ์และได้ทั้งเพศเมียและเพศผู้ ซึ่งจะไม่ติดผล
ต้น ที่ปลูกจากเมล็ดจะออกดอกติดผลที่อายุประมาณ 4 ปี และสามารถขยายพันธุ์จากส่วนเจริญทางลำต้นได้หลายวิธี เช่น ติดตา ต่อกิ่ง ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และการปักชำ
และเมื่อ 16 ปีก่อน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ดำเนินการศึกษาและนำเม่ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำเม่าเข้มข้น ไวน์เม่า ซึ่งในส่วนไวน์เม่าของสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนครนั้น มีคุณภาพยอดเยี่ยมจนได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในระดับนานาชาติ ได้รับเหรียญบรอนซ์ ในงาน BRUSSEL EUREKA 2001 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
ด้วยสรรพคุณที่ผลเม่าสุกมีคุณค่าของสารอาหาร ที่จำเป็นต่อความต้องการของร่างกายมนุษย์หลายชนิด และมีปริมาณสูงไม่แพ้ผลไม้ที่นิยมบริโภคกันทั่วไป ทำให้ผลิตภัณฑ์จากเม่าได้รับความสนใจ และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการขยายพื้นที่ปลูกเม่าในเชิงพาณิชย์ เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างมากมาย เช่น การขายต้นพันธุ์ น้ำเม่าแปรรูป อื่นๆ จนสามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดสกลนคร ปีละไม่ต่ำ 100 ล้านบาท
ซึ่ง ในทุกปี จังหวัดสกลนครและทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งราชการ เอกชน และเกษตรกร จะจัดงาน วันหมากเม่าสกลนคร ขึ้นในช่วงประมาณเดือนกันยายน ซึ่งจะมีการแสดงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเม่าอย่างครบวงจร ทั้งกิจกรรมการเสวนาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเม่าและการตลาด การประกวดกิจกรรมท่องเที่ยว ถนนสายหมากเม่า เป็นต้น
ตลอด 16 ปี
ราชมงคลดำเนินการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์ สุภกาญจน์ พรหมขันธ์ จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตอาหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้วิจัยเกี่ยวกับมะเม่ามาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 16 ปีก่อน กล่าวว่า ในช่วง 16 ปี ของการพัฒนา ซึ่งถือได้ว่าวิทยาเขตสกลนครเป็นหน่วยงานแรกของจังหวัดสกลนครที่ดำเนินการ ศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ที่สามารถพัฒนาพืชท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าอย่างมหาศาลได้
"จากจุดเริ่ม ต้นที่เราไม่รู้จักเลยว่า เม่า คืออะไร เมื่อได้รับนโยบายจากผู้บริหารให้ดำเนินการศึกษาวิจัย เราจึงเริ่มต้นจากการทำน้ำผลไม้ และไวน์ตามมา และช่วงหลังเริ่มมาศึกษาเชิงลึกมากขึ้นในเรื่องตัวคุณค่าและสารประกอบอื่นๆ ภายในเม่า อีกทั้งยังสามารถสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ทำกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเม่าเป็นผลสำเร็จ"
"จากที่ เราทุ่มเททำกันมานั้น บางทีก็ไม่มีเงินมาทำวิจัยเราก็ทำ มีความคิดอย่างเดียวคือเพียงขอให้ได้ทำ ได้ศึกษา และพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเราก็ดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ที่ยังมีการศึกษาวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับ เม่าอย่างต่อเนื่อง"
"วันนี้ มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากเม่ามากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่เราไม่ต้องไปทำการตลาดอะไรเลย มีการติดต่อเข้ามาอย่างมากมาย แต่ปัญหามีว่า ไม่สามารถผลิตให้ได้ทันต่อความต้องการ อันมีข้อจำกัดมาจากหลายปัจจัย บอกได้เลยว่า ตลาดที่จะมารองรับนั้นยังเปิดกว้างอยู่มาก"
จากสิ่งที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ดำเนินการศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับเม่า ไม่ได้เพียงแต่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่ยังได้ส่งผลให้เกิดการปลูกเม่าเป็นอาชีพ ซึ่งในปัจจุบันปริมาณผลเม่าสุกนั้นมีความต้องการสูงมาก และพื้นที่ปลูกไม่ได้อยู่เพียงเฉพาะในเขตจังหวัดสกลนครเท่านั้น แต่ยังได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
"และการซื้อขายผลเม่า ทุกวันนี้จะมีพ่อค้าจากต่างถิ่นเข้ามาซื้อในจำนวนมากด้วย" อาจารย์สุภกาญจน์ กล่าว
"ใน ช่วงเก็บเกี่ยวเม่าของปี 2553 ปรากฏว่า ปริมาณผลเม่าไม่เพียงพอกับความต้องการ จากเดิมเมื่อครั้งเริ่มต้น ผลเม่าไม่มีราคาค่างวด เวลาไปสวนของเกษตรกรเพื่อขอเก็บผลเม่ามาศึกษาวิจัย เกษตรกรเจ้าของสวนจะบอกให้ตัดเอาได้ตามความต้องการ แต่ล่าสุดปรากฏว่า เม่ามีราคาจำหน่ายกันถึงกิโลกรัมละ 80 บาท ทีเดียว"
"ปีที่ผ่านมา เฉพาะหน่วยงานของเรา ต้องการเม่าประมาณ 10 ตัน ปรากฏว่าหาซื้อได้ไม่ถึงจำนวนที่ต้องการ รวมทั้งไม่สามารถคัดเลือกผลเม่าให้สุกเต็มที่ได้ตามที่ต้องการ เพราะของน้อยมาก ต้องสั่งเม่ามาจากพื้นที่อื่น เช่น จากจังหวัดหนองบัวลำภู รวมถึงเม่าจากฝั่งลาว ซึ่งในส่วนของเม่าจากฝั่งลาวนั้นในด้านคุณภาพของผลผลิตจะสู้เม่าที่มีอยู่ใน ประเทศไทยไม่ได้ จะมีข้อด้อยตรงที่เปลือกบางกว่ามาก ทำให้มีความเสียหายในระหว่างการขนส่ง"
จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ที่วันนี้เม่าได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง มีปริมาณความต้องการในทุกด้านสูงมาก จึงทำให้เกิดการแย่งกันซื้อผลผลิตเม่า ซึ่งได้นำมาถึงปัญหาที่อาจารย์สุภกาญจน์ บอกว่า น่าเป็นห่วงมากคือ คุณภาพของผลผลิต
"ยิ่งในช่วง 5-6 ปีมานี้ เกิดภาวะของการแย่งกันซื้อเม่า โดยที่ไม่ต้องสุกเต็มที่แล้ว แค่ออกสีแดงๆ ก็ซื้อเหมาไปแล้ว ให้ราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 35 บาท ขึ้น ตรงนี้จึงน่าเป็นห่วงว่าเมื่อวัตถุดิบไม่มีคุณภาพ ก็จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เม่าตามมา จึงอยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ใส่ใจในเรื่องนี้ด้วย เพราะวันนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพราะหากมองถึงตลาดของเม่าแล้ว ยังเปิดกว้างอีกมาก โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเม่าเป็นพืชหนึ่งที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดนี้ได้ดี"
"ถึง ทำมา 16 ปี แต่วันนี้เรายังไม่หยุดนิ่ง ยังทำอยู่ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ไปสู่ผู้สนใจ ซึ่งในปี 2554 นี้ เรามีโครงการที่จะเปิดอบรมหลักสูตรการทำน้ำส้มสายชูหมักจากเม่าแดงไปสู่ผู้ สนใจ" อาจารย์สุภกาญจน์ กล่าวในที่สุด
6 สายพันธุ์เม่า ที่โดดของสกลนคร
คณะ ทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสายพันธุ์เม่า พบว่า มีสายพันธุ์ดีที่มีความเหมาะสมในการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ รวมจำนวน 6 สายพันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ภูพานทอง พันธุ์ 120 พันธุ์สร้างค้อ 1 พันธุ์สร้างค้อ 2 พันธุ์ฟ้าประทาน และพันธุ์ชมพูพาน โดยแต่ละสายพันธุ์มีรายละเอียดดังนี้
พันธุ์ภูพานทอง
ใบ : มีสีเขียวเข้ม ใบกว้างและหนา ขอบใบหยัก ปลายใบมน ผิวใบมีความมันวาว เส้นกลางใบนูนอย่างเห็นได้ชัด เส้นใบลึก
ยอด : มีสีน้ำตาลปนเขียว มีขนใบปกคลุมที่ขอบใบ
หูใบ : เรียวแหลม ปลายงอนเล็กน้อย มีขนปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด
ช่อดอก : ช่อดอกไม่แน่น ก้านช่อดอกมีสีน้ำตาลปนเขียว
ดอก : ดอกมีสีเขียว ฐานรองดอกและปลายเกสรตัวเมียสีเขียว ก้านชูดอกยาวและมีสีเขียว
ช่อผล : มีลักษณะไม่แน่น บิดเป็นเกลียวเล็กน้อย มีความยาว 11-12 เซนติเมตร
ผล : มีลักษณะกลมรี ปลายผลบุ๋ม
เมล็ด : มีลักษณะกลม หนา ไม่สมดุล มีติ่งที่ปลายเมล็ด
สีของน้ำเม่า : สีม่วงเข้ม
รสชาติ : ขม เหมาะในการทำไวน์
พันธุ์ 120
ใบ : สีเขียวเข้ม ใบกว้าง หนา ปลายใบมน ผิวใบมันวาวเล็กน้อย เส้นกลางใบนูน เส้นใบลึก
ยอด : มีสีน้ำตาลแดงปนเขียว มีขนปกคลุมเล็กน้อย
หูใบ : มีลักษณะเรียว ปลายแหลม และงออย่างเห็นได้ชัด มีขนปกคลุม
ช่อดอก : ช่อดอกไม่แน่น ก้านช่อดอกสีเขียว
ดอก : ดอกสีเขียว ฐานรองดอกและปลายเกสรตัวเมียสีเขียวอ่อน ก้านชูดอกสั้นและมีสีเขียว
ช่อผล : มีลักษณะไม่แน่น ช่อตรง มีความยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร
ผล : มีลักษณะกลม-แป้น ปลายผลบุ๋ม
เมล็ด : มีลักษณะกลม ไม่หนา สมดุล ปลายแหลม มีติ่ง ขั้วเมล็ดบุ๋มลงเล็กน้อย
สีของน้ำเม่า : ม่วงเข้ม
รสชาติ : หวาน
พันธุ์สร้างค้อ 1
ใบ : ใบมีสีเขียว ปลายใบแหลม มีติ่ง ขอบใบหยัก เส้นกลางใบนูนอย่างเห็นได้ชัด เส้นใบลึก
ยอด : มีสีน้ำตาลปนเขียว มีขน
หูใบ : เรียว ปลายงอนเล็กน้อย รูปร่างเล็ก-สั้น ปลายมน มีขนเยอะ
ช่อดอก : ช่อดอกแน่น ก้านช่อดอกสีเขียว
ดอก : ดอกสีเขียว ฐานรองดอกและปลายเกสรตัวเมียสีเขียวปนแดง ก้านชูดอกยาว และมีสีเขียว
ช่อผล : มีลักษณะแน่น ช่อตรง มีความยาวประมาณ 19-20 เซนติเมตร
ผล : มีลักษณะกลม-แป้น ปลายผลบุ๋ม
เมล็ด : มีลักษณะกลม หนา เกือบสมดุล ปลายแหลม มีติ่งงอ ขอบเมล็ดเป็นร่อง
สีของน้ำเม่า : สีม่วงเข้ม
รสชาติ : หวาน เหมาะสำหรับรับประทานผลสด และทำน้ำผลไม้
พันธุ์สร้างค้อ 2
ใบ : มีสีเขียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นกลางใบนูนเล็กน้อย เส้นใบไม่ลึก
ยอด : มีสีน้ำตาลปนเขียว มีขนปกคลุมเล็กน้อย
หูใบ : มีลักษณะเรียว ปลายแหลมและงอเล็กน้อย มีขนปกคลุมเห็นชัด
ช่อดอก : ช่อดอกไม่แน่น ก้านช่อดอกสีเขียว
ดอก : ดอกสีเขียว ฐานรองดอกและปลายเกสรตัวเมียสีเขียวอ่อน ก้านชูสั้น และมีสีเขียว
ช่อผล : มีลักษณะไม่แน่น ปลายช่อบิดเป็นเกลียว มีความยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร
ผล : มีลักษณะกลม-รี ปลายผลบุ๋ม
เมล็ด : มีลักษณะกลม หนา เกือบสมดุล ขอบทั้งสองข้างเท่ากัน ขอบเมล็ดเป็นร่อง
สีของน้ำเม่า : สีม่วงเข้ม
รสชาติ : หวาน ฝาด เหมาะสำหรับทำไวน์
พันธุ์ฟ้าประทาน
ใบ : มีสีเขียว ลักษณะเรียวยาว ไม่หนา โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม เส้นกลางใบนูนเล็กน้อย เส้นใบไม่ลึก
ยอด : มีสีน้ำตาลแดงปนเขียว มีขนปกคลุมเล็กน้อย
หูใบ : เรียวแหลมปลายงุ้มเล็กน้อย มีขนปกคลุมเล็กน้อยที่ปลายหูใบ
ช่อดอก : ดอกแน่น ก้านช่อดอกสีเขียว
ดอก : ดอกสีเขียวเข้ม ฐานรองดอกและปลายเกสรตัวเมียสีเขียว ก้านชูดอกสั้น และมีสีเขียว
ช่อผล : มีลักษณะแน่น ช่อผลบิดเป็นเกลียว ปลายช่องอเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร
ผล : มีลักษณะกลม-รี ปลายผลบุ๋ม
เมล็ด : มีลักษณะกลม หนา ไม่สมดุล ขอบเมล็ดเป็นร่องอย่างเห็นได้ชัด
สีของน้ำเม่า : สีม่วงเข้ม
รส ชาติ : ในระยะที่ยังไม่สุกแก่เต็มที่จะมีรสเปรี้ยว เหมาะในการทำน้ำผลไม้ เมื่อสุกแก่เต็มที่จะมีรสหวาน ฝาด และมีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับนำมาทำไวน์
พันธ์ชมพูพาน
ใบ : มีสีเขียว ปลายใบแหลม ไม่มีติ่ง ขอบใบหยักเล็กน้อย เส้นกลางใบนูน เส้นใบลึก
ยอด : มีสีเขียว มีขน
หูใบ : มีลักษณะเรียวขนาดเล็ก ปลายแหลมและงอเล็กน้อย มีขนปกคลุม
ช่อดอก : ช่อดอกไม่แน่น ก้านช่อดอกสีเขียว
ดอก : ดอกสีเขียวอ่อน ฐานรองดอกและปลายเกสรตัวเมียแดง ก้านชูดอกยาว และมีสีเขียว
ช่อผล : มีลักษณไม่แน่น ช่อตรง มีความยาว 9-10 เซนติเมตร
ผล : มีลักษณะกลม-รี ปลายผลบุ๋ม
เมล็ด : มีลักษณะเล็ก บาง ไม่นูน ไม่สมดุล มีปลายแหลม มีติ่ง ขอบเมล็ดเรียบ
สีของน้ำเม่า : แดง
รสชาติ : เปรี้ยว